วันที่ 17 กันยายน 2566 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่าเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ทำหนังสือด่วนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบง เนื่องจากความกังวลใจหลายประการที่ชาวบ้านตั้งคำถามไปกับหน่วยงานราชการยังไม่ได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงใดๆ แต่ในวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบงแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม
สำหรับหนังสือที่ประชาชนชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและนายพีระพันธุ์ ระบุว่าโครงการเขื่อนปากแบง ได้มีการจัดกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 -19 มิถุนายน 2560 ตามกรอบระยะเวลา 6 เดือน ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในขณะนั้น โดยได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงแก่ประชาชนจำนวน 4 ครั้ง คือ จังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง หนองคาย 1 ครั้ง และอุบลราชธานี 1 ครั้ง โดยประชาชนในพื้นที่ที่ได้เข้าร่วมเวทีมีคำถามและข้อกังวลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงอย่างยิ่งใน 7 ประเด็น อาทิ
1. ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยในเขต อ.เวียงแก่น, อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งมีชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาน้ำโขง เช่น น้ำอิง น้ำงาว เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก
2. ผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ทางตอนบนแม่น้ำโขงห่างจากชายแดนไทย-ลาว-พม่า ราว 200 กิโลเมตร เป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนไทยที่อยู่ท้ายน้ำในเขตจ.เชียงราย มากว่า 20 ปี โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ
3.ผลกระทบต่อการอพยพของปลา และการประมงของชุมชนริมแม่น้ำโขง
4. ผลกระทบต่อการเก็บ ไก-สาหร่ายแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูแล้งที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญของคนทั้ง 3 อำเภอ ที่สร้างรายได้คนละร่วมแสนบาท
5. ผลกระทบต่อเส้นเขตแดนชายแดนไทย-ลาว ที่มีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก อาจจะเสียดินแดนทางอธิปไตยจากกรณีภาวะน้ำเท้อตลอดทั้งปี
หนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ระบุว่า ในระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่และประชุมร่วมกับภาคส่วนราชการ รวมถึงผู้แทนกฟผ. เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับบริษัทปากแบงพาวเวอร์จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เลย และหน่วยงานรัฐไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของประชาชนที่มีมาตลอดระยะเวลาหลายปีไปประกอบการตัดสินใจก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ในหนังสือระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งความคิดเห็นต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวทีพูดคุยระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กับบริษัทผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ในปี 2561 และปี 2562 ถึงความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.ความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครงการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน 2.ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด
“หากเกิดผลกระทบจากน้ำเท้อ จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก” หนังสือระบุ
หนังสือถึงนายกฯระบุว่า ความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากพลังงานสำรองของไทยนั้นมีมากถึง 45% และปัจจุบันคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง พลังงานจากเขื่อนนี้จึงไม่จำเป็นต่อประชาชนไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นพลังงานสะอาด เพราะต้องแลกด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทยลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่ต้องเสียสมดุลอย่างรุนแรง จนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่สำคัญในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา
“ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ขอให้คำนึงถึงเสียงและสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มแรก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวในอนาคตต่อไป รวมทั้งประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนที่ต้องแบกภาระต้นทุนจากเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ” หนังสือระบุ
ทั้งนี้โครงการเขื่อนปากแบง เป็นเขื่อนที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่อ.เวียงแก่น 92 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง 920 เมกะวัตต์ มีเป้าหมายขายไฟฟ้า 95 % ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ลงทุนคือบริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ร่วมกับบริษัท กัลฟ์เอเนอยี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ของไทย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 51 %และ 49% ตามลำดับ
นายมานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของ กล่าวว่าหน่วยงานของรัฐไม่ฟังพเสียงประชาชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้เป็นคนสร้าง แต่ต้องทนรับอยู่กับสิ่งที่คนอื่นสร้าง และการเยียวยาใดๆก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ความสุขที่ชาวบ้านเคยได้รับต้องหายไป การอยู่พร้อมหน้าตาของชาวบ้านหายไปเพราะต้องดิ้นรนออกจากหมู่บ้านไปหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว
“ เคยคิดถึงความอุดมสมบูรณ์ เรื่องรายได้และสภาพจิตใจของชาวบ้านกันบ้างมั้ย เคยฟังเสียงชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ที่เขาพูดกันมาฟังดูเหมือนสวยหรู ผลประโยชน์ที่ได้ ชาวบ้านจะได้อะไร จะดูแลชาวบ้านอย่างไร แม้เราจะเป็นชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งแต่ก็รักและหวงแหน เขาเคยลงพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชนบ้างมั้ย หรือฟังแต่รายงานบนโต๊ะ ผมอยากรู้ว่าเขารับฟังเสียงชาวบ้านจริงมั้ย ผลกระทบตกหนักที่ประชาชน เราก็มีสิทธิ์มีเสียงมั้ย ขอให้ดูแลความรู้สึกของพี่น้องประชาชนด้วย”ผู้ใหญ่บ้านดอนมหาวัน กล่าว
ขณะที่น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการสร้างเขื่อนปากแบงใน อ.เชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย ได้เดินทางไปที่เกาะช้างตาย ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงโดยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าในอดีตชาวไทยได้ทำประโยชน์บนเกาะแห่งนี้ แต่ต่อมาคนลาวได้เข้ามาล้อมรั้ว ทำให้ทั้งอบต.และชุมชนรู้สึกกังวลใจ และหนายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เรื่องนี้เป็นผลกระทบจากกรณีที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาไว้กับฝรั่งเศส ทำให้เกาะส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นของลาว แต่กรณีเกาะช้างตายในอดีตเคยมีคนไทยขึ้นไปทำมาหากิน อย่างไรก็ตามหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงและมีน้ำเท้อสูงขึ้น หน่วยงานรัฐจะแก้ปัญหาลักษณะนี้อย่างไร
“ตอนนี้หน่วยงานรัฐยังตอบเรื่องนี้ได้ไม่ชัดเจน โดยบอกว่ากำลังสำรวจอยู่ กรณีของเกาะช้างตาย ถ้ามีคนไทยใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ก็ควรให้คนไทยควรได้ใช้เหมือนเดิม ใครทำประโยชน์อยู่ก่อน ก็ควรได้ทำต่อไป ”น.ส.ศยามล กล่าว
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้น ได้เกิดกับชาวบ้านมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งเขื่อนจากประเทศจีนและเขื่อนไซยะบุรีในลาว แต่หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงเพิ่มอีก ก็จะทำให้เปิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ขณะนี้เกิดปัญหากัดเซาะตลิ่งซึ่งกรมโยธาธิการ ได้สร้างเขื่อนกันตลิ่งพังเป็นระยะทางยาวถึง 97 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้คงได้มีการตรวจสอบไปด้วย
“ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่า หากสร้างเขื่อนแล้ว น้ำจะเท้อสูงแค่ไหน เรายังไม่ได้รับรายงานอีไอเอจากลาวที่ศึกษาอยู่ หากได้เราจะนำมาประกอบ แต่ที่น่าห่วงใยคือได้มีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปต้องแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะข้อกังวลต่างๆ แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการแค่บอกว่ายังศึกษาอยู่ เขาจะเอาไปคุยกับลาว แต่ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องรีบลงนามในสัญญาแทนที่จะมีแผนรองรับผลกระทบให้เสร็จก่อน” น.ส.ศยามล กล่าว
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า จะเสนอเรื่องใน กสม.เพื่อเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีการทบทวนหาทางออกเนื่องจากหลังจากที่ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ต้องทำสายส่งภายใน 1 ปี ขณะทีหน่วยงานบางแห่งยืนยันว่าจะยังไม่มีการสร้างเขื่อนจนกว่าจะมีการทำแผนรองรับแล้วเสร็จ ดังนั้นเกรงว่า กฟผ.อาจต้องเสียค่าปรับ