สืบเนื่องจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี 5 สมัยถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมผ่านมา ในรายงานใบตองแห้ง On Air ออกอากาศทาง Voice TV เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 'อธึกกิต แสวงสุข' หรือ 'ใบตองแห้ง' ได้เล่าถึงยุคสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในราวทศวรรษ 2520 ซึ่งหลายคนมองและส่งเสียงชื่นชมว่าเป็นยุคแห่งความสงบและการพัฒนาประเทศ
“ต้องยอมรับว่าท่านก็มีผลงาน มีคุณูปการพอสมควรในหลายด้าน เพียงแต่นั่นมัน 40 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีการพูดกันถึงความใฝ่ฝันอยากเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ 'ยุคป๋า' กลายเป็นความฝันของคนจำนวนหนึ่ง เราต้องแยกให้ชัดว่ายุคนั้นเราเพิ่งพ้นจากเผด็จการเต็มใบมา การเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มันเป็นจังหวะของประเทศ และประกอบด้วยบริบทหลายอย่าง” ใบตองแห้งกล่าว
อธึกกิต กล่าวถึงจุดตั้งต้นของการก้าวเข้าสู่อำนาจของพลเอกเปรม โดยเท้าความถึงรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งร่างในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการยกร่างในขณะนั้น และอีกหลายสิบปีต่อมา นายมีชัยก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีหน้าตาแทบจะเหมือนกันกับรัฐธรรมนูญ 2521
“สิ่งที่เหมือนกันคือ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้มีวุฒิสมาชิกมีจำนวน 3 ใน 4 ของส.ส. ตอนนั้นมี ส.ว.225 ส่วนส.ส. 301 คน แล้วส.ว.ก็มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญคือ ลงมติไม่ไว้วางใจได้ ลงมติเลือกนายกฯ ได้ด้วยแม้ไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ แล้วก็ยังมีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ รับรองงบประมาณได้ แถมยังเป็นข้าราชการประจำได้ด้วย”
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2521 ประกาศใช้ก็มีการจัดเลือกต้ั้งปี 2522 จากนั้นประเทศไทยได้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ อธึกกิตขยายความว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์คว้าตำแหน่งนายกฯ ทั้งที่พรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งในตอนนั้น
“ตอนนั้น ส.ส.บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมสภาเพราะไม่เห็นด้วยที่นัดประชุมล่วงหน้าสามวัน เร่งรีบเลือกนายกฯ เป็นการฉวยโอกาส กลุ่มกิจสังคมมี 81 เสียง กลุ่มชาติไทยมี 38 เสียง กลุ่มประชากรไทย 32 เสียง ทำไมต้องเรียกว่ากลุ่ม เพราะบทเฉพาะการสมัยนั้นไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมือง แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็ได้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ โดยมีส.ว.200 เสียงกับ ส.ส. 11 เสียงเท่านั้นที่สนับสนุน เรียกว่า ส.ส.มีทั้งหมด 301 เลือกท่านแค่ 11 เสียง”
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับสัดส่วนที่มาของ ส.ว.ในยุคนั้นแบ่งเป็นทหารเกือบทั้งหมด คือ 180 คนจาก 225 คน ท้ายที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นรัฐบาลอยู่ได้ไม่ถึงปี กระแสความนิยมไม่ดี ส.ว.ไม่สนับสนุน และทหารหลักกลุ่มยังเติร์กซึ่งมีอำนาจมากก็ไม่สนับสนุน หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.เกรียงศักดิ์จึงลาออก
“ป๋าเปรมขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อ ตอนนั้นป๋าเปรมเขียนบันทึกไว้ เขาเล่ากันว่า ท่านถามพลเอกเกรียงศักดิ์ว่าจะยังไงดี ท่านก็ว่า ‘ให้ตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมือง จากพรรคที่ไม่เอาผมนั่นแหละ’ ฉะนั้น พลเอกเปรมที่เป็นนายกฯ ครั้งแรกในปี 2523 ไม่ได้มาจาก ส.ว.นะ ท่านชนะเสียงของ ส.ส.โดยไม่ต้องมีสูตรคณิตศาสตร์แบบสมัยนี้ ไม่ต้องมีงูเห่า ส.ส.ยกมือให้ท่าน ตอนนั้นได้พรรคการเมืองหลัก 3 พรรค กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ชาติไทย เพียงแต่ในการตั้ง ครม.แบ่งให้พรรคการเมือง 21 คน ที่เหลือเป็นโควตาของป๋าเปรม 16 คนซึ่งเป็นเทคโนแครต” อธึกกิตกล่าว
อธึกกิต กล่าวด้วยว่า ตลอด 8 ปี 5 เดือนภายใต้รัฐบาลเปรมนั้น ไม่ใช่ภาวะการเมืองนิ่งสงบอย่างที่เข้าใจ มีการต่อต้าน มีการยุบสภา แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้อยู่ได้ยาวคือ หนึ่ง ทหารสนับสนุน สอง พรรคการเมืองสนับสนุน เพราะพลเอกเปรมมีความเข้าใจนักการเมือง มีการประสานกับพรรคการเมืองด้วย และเมื่อถึงเวลาหน้าสิ่งหน้าขวาน ถ้าทหารไม่หนุนท่าน ท่านก็ปลดได้ เช่น ตอนเกิดกบฏ 1 เมษา กลุ่มยังเติร์กแพ้ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ขึ้นมามีอำนาจ แต่พอพลเอกอาทิตย์แสดงความไม่พอใจรัฐบาลลดค่าเงินบาท พลเอกเปรมก็ปลดกลางอากาศ
“พอถึงหัวเลี้ยวหัวต่อจริงๆ ท่านเข้าใจกระแสสังคม ไม่ใช่ไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุด ตอนปี 2526 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2521 มีบทเฉพาะกาลที่ระบุว่าเมื่อครบ 4 ปี ให้ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจวุฒิสภาที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ลงมติงบประมาณ ฯลฯ นั้นเสีย ฉะนั้น ปี 2526 มีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญเพราะถ้าบทเฉพาะกาลหมดอายุ การเลือก ส.ส.ต้องกลับไปเลือกรวมเขตจังหวัด รัฐธรรมนูญเขียนไว้ประหลาดมาก ไม่เคยมีมาก่อนและ ส.ส.ต่างก็อยากให้แก้ แต่ถ้าแก้ตอนนั้นทหารก็พ่วงมาด้วยว่าให้ทหารอยู่ต่อและวุฒิสภามีอำนาจเหมือนเดิม ซึ่งพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย เถียงกันเยอะมาก สุดท้ายฝ่ายสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญแพ้ แต่ปรากฏว่าก็ไม่ต้องเลือกพวงใหญ่ เพราะเหลืออีก 2 วันบทเฉพาะกาลจะหมดอายุ ป๋ายุบสภาเลย ประกาศเลือกตั้งใหม่ก็แบ่งเขตเรียงเบอร์เหมือนเดิม แล้วก็ลดอำนาจฝ่ายทหารลงโดยปริยาย ดังนั้น เวลาท่านเป็นนายกฯ ท่านก็รับฟังเสียงค้าน ปล่อยให้เกิดการคัดค้าน ปล่อยให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ” อธึกกิตบรรยายสภาพการณ์ในเวลานั้น
“เราจะเห็นว่า 8 ปี ของพลเอกเปรมอยู่บนการเมืองที่ไม่ได้แบ็กด้วยทหารอย่างเดียว การเอาคนอื่น การผสมผสานฝ่ายต่างๆ นั้นนับเป็นสุดยอดศิลปะของท่าน” ใบตองแห้งสรุป
ส่วนคำว่า 'ประชาธิปไตยครึ่งใบ' และความใฝ่ฝันของคนจำนวนหนึ่งที่อยากให้ประเทศย้อนกลับไปสู่ภาวะดังกล่าวนั้น ใบตองแห้งกล่าววว่าบริบทยุคนั้นมีความเฉพาะตัวมากและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า ประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นเผด็จการยาวนาน มีการร่างรัฐธรรมนูญยาวนาน มีการเลือกตั้งสั้นๆ ปี 2512 แล้วรัฐประหารตัวเองปี 2514 แล้วก็เกิด 14 ตุลา 2516 เป็นประชาธิปไตยอยู่ 3 ปีก็เกิดขวาพิฆาตซ้าย เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้วทหารก็เข้ามายึดอำนาจนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐประหารแล้วได้รัฐบาลธานินทร์ ไกรวิเชียร โดยมีสมัคร สุนทรเวช เป็น รมว.มหาดไทย ในยุคนั้นคนเรียกกันว่า ยุครัฐบาลหอย เพราะมีทหารเป็นดังเปลือกหอยคุ้มกันรัฐบาลธานินทร์
“มันเป็นยุคหลังเหตุการณ์โหดร้ายและมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง มีการปิดหนังสือพิมพ์ นศ.ก็หนีเข้าป่ากันเต็มไปหมด เป็นอยู่เช่นนั้น 1 ปี ฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลายเริ่มรู้สึกและเป็นกระแสโลกด้วย เห็นว่าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะไปไม่รอดจึงเกิดการรัฐประหารตัวเองปี 2520 เพราะเดิมทีรัฐบาลธานินทร์ประกาศแผนไปสู่ประชาธิปไตย 12 ปี สุดท้ายฝ่ายทหารเองก็พลิกนโยบายแล้วเปลี่ยนใหม่ โดยล้มรัฐบาลธานินทร์ ตั้งรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ จากนั้นมีการนิรโทษกรรมเอาพวกที่ติดคุกอยู่ออก ร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ที่กล่าวไปและให้มีเลือกตั้ง”
“ดังนั้น ยุคเปรมมันเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดรัฐบาลหอย แล้วเขาต้องถอย ปรับตัว แก้ไขความผิดพลาดระดับหนึ่ง พอถอยมาปุ๊บ หลังจากนั้นพวกทหารสายพิราบที่เชี่ยวชาญการใช้การเมืองนำการทหารก็เริ่มมีบทบาทสูงขึ้นตั้งแต่ยุคเกรียงศักดิ์ พอพลเอกเปรมขึ้นมา สายพิราบก็มีบทบาทจนมีนโยบาย 66/23”
“หลายคนเปรียบเทียบ ความขัดแย้ง 6 ตุลาในอดีตมีอะไรคล้ายกับปี 53 มาก คำถามคือ ความขัดแย้งปี 53 แก้ไขไปหรือยัง ขณะที่ 6 ตุลานั้นชัดเจนแล้วว่าพรรคคอมมิวนิสต์แพ้ เกิดการนิรโทษกรรม เกิด 66/23 เกิดการรับคนกลับ มันจบแล้ว สิ่งที่เหลือพลเอกเปรมมาจัดการต่อ ประสานระหว่างทหาร พรรคการเมือง กลุ่มธุรกิจ แล้วก้าวเข้าสู่ยุคทุน��ิยม”
“ประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคป๋าเปรม ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจจากรัฐประหารโดยตรง บริบทยุคนั้นเป็นเผด็จการสิบกว่าปี ประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ แล้วมาเป็นเผด็จการสุดโต่ง แล้วกลับมาเป็นประชาธิไตยครึ่งใบ ทำให้คนพอใจ อีกทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็จบแล้ว ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แพ้ มันก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ ผมถามว่าตอนนี้มันจบแบบนั้นหรือเปล่า ที่สำคัญอีกประการ พลเอกเปรมไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีชื่ออะไรใน 6 ตุลา ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลหอย อย่างน้อยท่านก็ไม่ได้ตั้งวุฒิสมาชิกเองแล้วเอาน้องชายตัวเองเป็น ภาพการเมืองในยุคท่านก็ไม่ได้แตกขั้วอย่างชัดเจน พรรคการเมืองก็ไม่ได้เข้มแข็ง สถานการณ์จึงไม่เหมือนยุคปัจจุบัน"
"ดังนั้น คนที่คิดว่า มีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลผสมแล้วจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแบบยุคป๋า โดยเห็นว่ามันจะประคองไปได้ ผมคิดว่า ไปได้หรือไม่ไม่รู้ แต่มันไม่เหมือนกันแน่ๆ” ใบตองแห้งสรุป