ไม่พบผลการค้นหา
'การบุลลี่' (Bullying) หรือการกลั่นแกล้ง เป็นพฤติกรรมที่แม้ไม่พึงประสงค์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมนี้อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน และเมื่อมาถึงวันที่โลกไซเบอร์ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ก็ยิ่งทำให้พฤติกรรมการกลั่นแกล้งขยายตัวจากพื้นที่กายภาพมายังพื้นที่ออนไลน์ด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยดูจะตื่นตัวกับปัญหาการบุลลี่ทั้งในพื้นที่กายภาพอย่างโรงเรียนหรือที่ทำงาน ไปจนถึงการกลั่นแกล้งบนพื้นที่ออนไลน์ หรือ Cyberbullying แต่ท่ามกลางการรณรงค์อย่างแข็งขันให้ยุติพฤติกรรมเหล่านี้ สิ่งที่น่าสนใจคือดูเหมือนการบุลลี่โดยเฉพาะทางไซเบอร์กลับไม่ได้ลดน้อยลง และยิ่งเป็นประเด็นพูดถึงมากยิ่งขึ้นในช่วงที่สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางความคิดอย่างเช่นปัจจุบัน

ล่าสุด เช่นกรณีของ ‘น้ำ-พัชรพร จันทรประดิษฐ์’ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 ที่คำตอบของเธอบนเวทีประกวดในรอบ 5 คนสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เห็นต่าง จนนำไปสู่การแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียที่ไม่เพียงแค่วิจารณ์คำตอบ แต่ยังลามไปถึงการวิจารณ์รูปลักษณ์หน้าตาของเธออีกด้วย 

มิสแกรนด์ไทยแลนด์.jpg
  • 'น้ำ-พัชรพร จันทรประดิษฐ์’ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020

ท่ามกลางสังคมขัดแย้ง การโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การวิจารณ์ความคิดเห็นที่แตกต่างกลายเป็นการกลั่นแกล้งระราน การทบทวนนิยามหรือความหมายของไซเบอร์บุลลี่กันอีกครั้ง อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบ ไปจนถึงหาทางป้องกันไม่ให้ตัวเราเองต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรพฤติกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะในฐานะผู้กระทำ   

‘ไซเบอร์บุลลี่’ คืออะไร?

ปัจจุบันยังไม่มีนิยามตามกฎหมายของคำว่า ‘Cyberbullying’ แต่เว็บไซต์ stopbullying.gov ระบุว่า ‘Cyberbullying’ คือการกลั่นแกล้งรังแกที่เกิดขึ้นบนเครื่องมือดิจิทัล เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต โดยเกิดขึ้นผ่านข้อความทางเอสเอ็มเอส ข้อความ และแอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดีย ฟอรั่มสนทนา หรือการเล่นเกมที่คนสามารถมองเห็น มีส่วนร่วม หรือแชร์เนื้อหา

นอกจากนี้นี้ ไซเบอร์บุลลียังรวมถึงการส่ง โพสต์ หรือแชร์เนื้อหาที่เป็นด้านลบ อันตราย เป็นเท็จหรือโหดร้ายเกี่ยวกับผู้อื่น รวมถึงการแชร์ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับเหยื่อที่สร้างความอับอายหรือขายหน้า และการไซเบอร์บุลลี่บางอย่างอาจข้ามเส้นไปสู่พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายได้  

ขณะที่ ‘นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต’ อธิบดีกรมสุขภาพจิตของไทยนิยาม ‘Cyberbullying’ ว่า “คือการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การต่อว่า หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยสาเหตุของการระรานอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการแกล้งกันเล็กๆ น้อยๆ ล้อเล่นกันขำๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่โดนระราน อาจทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีความคิดอยากตาย เป็นต้น อีกทั้งในบางรายอาจเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแกล้งคนอื่นต่อไป คล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนแกล้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความสามารถในการรับมือของผู้ถูกกลั่นแกล้งด้วย”

ด้าน ‘กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์’ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งศึกษาเรื่องปรากฏการณ์ไซเบอร์บุลลี่ในสังคมไทยระบุว่า ไซเบอร์บุลลี่มีที่มาจากคำว่าบุลลี่ (Bully) หรือการรังแกกันในพื้นที่กายภาพ เป็นศัพท์ที่ใช้ในลักษณะของเด็กที่เวลาทะเลาะกันในโรงเรียน หรือมีการแกล้งกัน แต่เมื่อมีสังคมออนไลน์เกิดขึ้นการแกล้งกันก็ขยายตัวจากพื้นที่กายภาพสู่พื้นที่ไซเบอร์ เป็นการกระทำที่มีลักษณะกลั่นแกล้ง รังแก ล้อเลียน ทำให้คนรู้สึกทุกข์ใจหรืออับอายขายหน้าผ่านการใช้สื่อออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย โดยองค์ประกอบของไซเบอร์บุลลี่มีอยู่ 3 ประการ คือ

• ตัวผู้กระทำต้องมีเจตนาในการกระทำ ก็คือต้องมีเจตนาในการใช้ถ้อยคำหรือข้อความดิจิทัลในการกลั่นแกล้ง รังแกอีกฝ่ายหนึ่ง

• จะต้องมีลักษณะของการกระทำซ้ำ ก็คือเป็นการทำซ้ำกับเหยื่อรายเดียวกัน โดยปัจจุบันการกระทำซ้ำอาจไม่ได้หมายความว่าต้องกระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานประมาณหนึ่ง แต่อาจหมายถึงการที่คนหลายคนเข้าไปโพสต์แสดงความเห็นที่ทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกไม่ดี ต่ำต้อย ด้อยค่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็นับเป็นการกระทำซ้ำได้เช่นกัน  

• จะต้องมีลักษณะของการไม่เท่ากันทางอำนาจ โดยต้องมีเรื่องของความไม่เท่ากันทางอำนาจเกิดขึ้นของตัวผู้กระทำกับตัวผู้เป็นเหยื่อ ซึ่งความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในพื้นที่ไซเบอร์นั้นแตกต่างจากพื้นที่กายภาพ เช่นในโรงเรียนที่เด็กตัวใหญ่กว่าหรือแข็งแรงกว่าจะบุลลี่คนที่อ่อนแอกว่า แต่อำนาจในพื้นที่ไซเบอร์อาจวัดจากการที่มีคนติดตามหรือสนับสนุนอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในโลกออนไลน์ 

ความไม่เท่ากันในอำนาจคือเวลาเราโพสต์อะไรและเมนต์อะไรแล้วมีคนเข้ามากดไลค์เยอะๆ หรือถ้าเราเปิดเพจขึ้นมาแบบนี้ แล้วมีคนที่เข้ามาติดตามเราเยอะๆ แบบนี้ มันจะทำให้คนที่เขาเป็นเจ้าของเพจนั้น เจ้าของโพสต์นั้นมีความรู้สึกว่าเราก็โอเคเหมือนกันนะ คำพูดของเรานี่หลายๆ คนยอมรับ คล้ายๆ แบบนั้น คือการที่เราได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มใหญ่ มันอาจจะเป็นความรู้สึกของการมีอำนาจในตัวเองอย่างหนึ่ง ซึ่งพอเรารู้สึกมีอำนาจตรงนี้ เราอาจจะใช้อำนาจนั้นในการชี้นำคนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นแอดมินเพจๆ หนึ่ง แล้วผมเกิดไม่ชอบใจใครสักคนนึง แล้วผมก็ชี้นำให้ลูกเพจผมไปรังเกียจคนๆ นี้ด้วย ไปรุมระดมรังแกกลั่นแกล้งคนนี้ด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นไซเบอร์บูลลี่อย่างหนึ่ง”  

ขณะที่ประเด็นหลักที่มักถูกนำมาล้อเลียนคือสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและเปลี่ยนแปลงได้ยาก เช่น รูปลักษณ์ หน้าตา สีผิว แต่บางครั้งก็อาจมีการหยิบประเด็นพฤติกรรมบางอย่างมาเป็นเป้าบุลลี่ได้เช่นกัน  

จริงๆ ถ้าในเรื่องของการบุลลี่ที่เป็นการล้อเลียนกัน หลักๆ อาจเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ ในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ลักษณะท่าทาง แต่ว่ามันอาจหมายถึงพฤติกรรมบางอย่างก็ได้ อย่างเช่นของผมเป็นอาจารย์มหาลัย อย่างเวลานักศึกษาบางท่านอาจจะเรียนแล้วแอบหลับในห้องก็จะมีเพื่อนแอบถ่ายรูป แล้วก็ไปโพสต์ในสื่อโซเชียล คือเพื่อนบางคนที่สนิทกันก็โอเคใช่ไหม แต่อย่างบางคนเขาอาจไม่โอเคก็ได้ที่เห็นภาพของเขากำลังหลับอ้าปากหวออะไรแบบนี้ แล้วไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเขาอาจรู้สึกอับอาย ถามว่าแบบนี้เป็นการบุลลี่ไหม นี่ก็เป็นการบุลลี่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตาแบบนี้ครับ

สัม อ.กฤษฎา เรื่องการบูลลี่
  • 'กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์' อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

‘กฤษฎา’ ยังตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันสังคมไทยมีการใช้คำว่า ‘บุลลี่’ กันค่อนข้างมากจนบางครั้งน่าจะต้องมาทบททวนถึงนิยามและขอบเขตของการกระทำที่เข้าข่ายบุลลี่กันใหม่ แต่การจะตัดสินว่าอะไรเป็นไซเบอร์บุลลี่หรือไม่นั้น หากให้ความสำคัญที่เจตนาและการกระทำมากกว่าอาจเป็นเรื่องที่มองยาก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างจากโลกตะวันตก เช่น บางครั้งการกลั่นแกล้งทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์อาจไม่ได้เกิดเพราะความเกลียดชังเสมอไป แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ ที่ทำให้หลายครั้งคนที่ตกเป็นผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจเป็นเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด โดย ‘กฤษฎา’ เสนอว่าการมองจากผลกระทบที่ตัวผู้ถูกกระทำว่าได้รับความรู้สึกอับอาย ต่ำต้อยด้อยค่าหรือไม่ อาจทำให้ชัดเจนมากขึ้นในการการจำแนกว่าการกระทำใดเป็นการบุลลี่

ผมว่าการไซเบอร์บุลลี่ถ้าเราจะมองในเรื่องของตัวที่เป็นลักษณะของการกระทำจะมองยาก แต่ผมใช้ลักษณะของตัวผลที่เกิดขึ้นจากตัวคนที่เป็นเหยื่อ คือไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความหรือโพสต์ทางดิจิทัล เช่น รูปภาพ มีม หรืออะไรต่างๆ หรือคลิปวิดีโออะไรพวกนี้ ถ้าการโพสต์แบบนั้นแล้วส่งผลให้คนที่เป็นเหยื่อเขารู้สึกอับอายขายหน้า รู้สึกตัวเองด้อยคุณค่า รู้สึกว่าตัวเอง รู้สึกแย่จัง รู้สึกดาวน์คล้ายๆ แบบนั้น อันนี้จะเป็นการกระทำที่เรียกว่าบุลลี่ในความหมายของการที่ผมศึกษามา” 

โต้แย้ง ถกเถียง วิจารณ์คนเห็นต่างได้แค่ไหนที่จะไม่กลายเป็นไซเบอร์บุลลี่?

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยบนพื้นที่ออฟไลน์ที่ทวีความร้อนแรงขึ้น การเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนกันก็ดูจะร้อนแรงไม่ต่าง จนได้เห็นปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ โซเชียลมีเดียคนดังหรือบุคคลสาธารณะอยู่เป็นระยะ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องแบนสื่อแบนสปอนเซอร์บางแห่งที่สนับสนุนขั้วตรงข้าม หรือแม้แต่ล่าสุดกับเหตุการณ์ที่มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 ถูกวิจารณ์หนักในกลุ่มโซเชียลมีเดียของผู้สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่พอใจในคำตอบ 

แต่ภายใต้ปรากฏเหล่านี้ในสังคมขัดแย้ง คำถามที่น่าสนใจคือ เราสามารถโต้แย้ง ถกเถียง เรียกร้อง หรือวิจารณ์คนเห็นต่างได้บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้แค่ไหนถึงจะไม่ก้าวข้ามไปเป็นการระรานหรือคุกคามทางออนไลน์ อะไรควรเป็นเส้นแบ่ง?

ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ไซเบอร์บุลลี่ ‘กฤษฎา’ มองว่าการโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องปกติในทุกสังคม ขณะที่บุคคลสาธารณะเช่นนักการเมืองหรือดาราเองก็น่าจะเข้าใจในระดับหนึ่งว่าการแสดงออกของตัวเองย่อมตกเป็นเป้าวิจารณ์ได้ การวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของคนที่เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม 

อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งสำคัญที่จะต้องไม่ก้าวข้ามเพื่อไม่ให้การวิจารณ์ ถกเถียงแลกเปลี่ยนกลายเป็นการบุลลี่หรือไปจนถึงการคุกคาม คือต้องไม่หลุดไปจากประเด็นที่กำลังถกเถียงกัน การขุดเอาเรื่องส่วนตัว เรื่องเพศสภาพหรือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาระในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลนั้นๆ ขึ้นมาโจมตีจนอาจทำให้บุคคลนั้นรู้สึกอับอาย ต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่นับเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องความเห็นและจุดยืนที่แตกต่าง 

คืออย่างทัวร์ลงนี่ต้องบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากในระยะหลังของสังคมไทยนะครับ คือถ้าเราเห็นต่างกันปุ๊บเราจะเอาแล้ว เข้ามารุมระดมด่าว่าด่าทออะไรก็ว่าไป ซึ่งการรุมระดมด่าว่านี่อาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงอาจจะไปไกลถึงว่ามันเป็น Flaming Words คือเหมือนกับเราทะเลาะโต้เถียงกัน แต่ถามว่า 2 อย่างนี้ในทางความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติมากในสังคม ไม่ว่าในสังคมไหนก็มีความเห็นต่างกันได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าถ้าสมมุติเราข้ามเส้นไป เช่น เราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องนั้นแล้ว เราไม่ได้คุยกับในจุดที่เราเห็นต่างกันในเรื่องไหนล่ะ

สมมุติเราเห็นต่างกันในเรื่องๆ หนึ่ง อย่างเช่นผมชอบกินน้ำอัดลมยี่ห้อนึง คุณบอกคุณชอบอีกยี่ห้อนึง เราเห็นต่างกันได้ เถียงกันได้ แย้งกันได้ แต่มันยังอยู่ในประเด็นว่าน้ำอัดลมยี่ห้อนี้นะ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่พอผมเถียงสู้ไม่ได้ แล้วผมไปขุดประวัติ เช่น แต่ก่อนคุณเคยทำอะไรมา หรือคนที่ผมโต้แย้งด้วยเขาเคยทำอะไรผิดพลาดในอดีตมาแล้วเราขุดเอาอดีตตรงนั้น หรือเรื่องที่น่าอับอายของคนๆ นั้นมาใช้หรือมาตีแผ่ ตรงนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของไซเบอร์บุลลี่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องของการเห็นต่างแล้ว ไม่ใช่เรื่องของการโต้แย้งแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว แต่มันเป็นการที่เราทำให้คนๆ หนึ่งเขาอับอายจากข้อมูลที่เขาอยากจะลืมมันไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ว่าเราไปขุดมันขึ้นมา ลักษณะนี้ครับมันจะกลายเป็นเรื่องของการบุลลี่ มันจะไม่ใช่เรื่องของการเห็นต่าง” กฤษฎากล่าว 

‘กฤษฎา’ ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์บุลลี่โดยตรง แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจถูกนำมาปรับใช้ เช่น กฎหมายอาญามาตรา 397 ที่กำหนดให้การรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือการกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ถือเป็นความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แม้มีความพยายามอยู่เช่นกันในสังคมไทยที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์บุลลี่โดยตรง แต่ ‘กฤษฎา’ ตั้งข้อสังเกตว่าหากมีกฎหมายนี้ขึ้นมา สิ่งที่น่าจะยากอาจเป็นเรื่องของการบังคับใช้เนื่องจากลักษณะบางอย่างของพื้นที่ไซเบอร์ที่แตกต่างจากพื้นที่ทางกายภาพ

อย่างเมื่อกี้ผมบอกว่าถ้ามีคนมาไซเบอร์บุลลี่ผมสัก 120 คน เป็นข้อความที่ผมไม่ชอบเลย คำถามคือนั่นเท่ากับว่าคนทั้ง 120 คน ถ้าเป็นกฎหมายนะฮะ คนทั้ง 120 คน นี้กระทำความผิดกับผมอยู่ แล้วผมจะไปแจ้งความทั้ง 120 คนไหมครับ แล้วถ้าสมมุติแจ้งความปุ๊บ ขึ้นศาลต้องแห่กันไปทั้ง 120 คนเลยผมว่า มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก น่าจะเป็นไปไม่ได้”  

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์รายนี้เสนอว่าแทนที่จะกำหนดเป็นกฎหมายที่มีลักษณะชี้ว่าอะไรผิดหรือถูก การเปลี่ยนรูปแบบของกฎหมายมาเป็นการกำหนดกรอบโดยพุ่งเป้าไปที่มาตรการป้องกันการไซเบอร์บุลลี่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า  

“กฎหมายอาจต้องเปลี่ยนตัวเองนิดนึงครับ อาจต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นจากผู้กำหนดว่าอะไรผิดถูก มาเป็นผู้กำหนดกรอบ เช่น อาจจะบอกว่าแพลตฟอร์มนี้อาจจะต้องมีมาตรการในการป้องกันการบุลลี่นะ อาจจะใช้ AI ในการสแกนคำหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ากฎหมายอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองครับ จากเป็นคนชี้ว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูกนะ มาเป็นผู้กำหนดกรอบ ว่าถ้าแพลตฟอร์มนี้อยากจะมาใช้ คุณควรต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างในการป้องกันการไซเบอร์บุลลี่ที่เกิดขึ้น”   

แม้จะเชื่อว่าไซเบอร์บุลลี่ไม่น่าจะหมดไปจากสังคม แต่ ‘กฤษฎา’ ก็มองว่าอย่างน้อยที่สุด ทุกคนสามารถช่วยกันลดและป้องกันพฤติกรรมเหล่านี้ได้  

คือเคยมีคำถามว่าแล้วถ้างั้นเราควรระวังเรื่องการไซเบอร์บุลลี่อย่างไร เราเคยได้ยินคำว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ผมว่าถ้าเราจะมองเรื่องของการบุลลี่ เราควรเอาใจเราไปใส่ในใจเขามากกว่า คืออย่ามองว่าถ้าเขาเป็นเรา เรายังทนได้เลย ทำไมเขาทนไม่ได้ ผมอยากให้มองในมุมใหม่ครับ คือเราอย่ามองจากสายตาเรา แต่มองจากสายตาของเขา ถ้าเราเป็นเขาล่ะ เราจะทนแบบนี้ได้ไหม เราจะสามารถมีความอดทนต่อถ้อยคำที่ดูถูก ถ้อยคำที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ถ้อยคำเหยียดหยามแบบนี้ เราทนได้มากน้อยแค่ไหน คือเหมือนกับอย่ามองจากสายตาของเรา แต่มองจากสายตาของคนที่เป็นเหยื่อ อันนี้คือเป็นวิธีป้องกันเรื่องการไซเบอร์บุลลี่” กฤษฎากล่าว