ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) วันที่ 13 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง ทำหน้าที่ให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย
ทิพานันกล่าวว่า เดิมสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค. 62 - มิ.ย. 65 ปัจจุบันได้สิ้นสุดไปแล้ว
และการดำเนินการของ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐดังกล่าว มีผลการดำเนินการที่สำคัญพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีข้อมูลของประเทศกว่า 2,300 คนและให้บริการด้านข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ อาทิเช่น
1.โครงการ Health Link เป็นโครงการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาทั่วประเทศ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการรักษา ทำให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้กับการดูแลสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางสำหรับการขอประวัติการรักษา ลดค่าบริหารจัดการเอกสารของโรงพยาบาล
2.โครงการ Co-Link ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อบริหารจัดการเตียง ทะเบียนผู้ติดเชื้อ การครองเตียง ผลตรวจและการฉีดวัคซีน
3.โครงการ Travel Link ระบบบริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลให้บริการข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะช่วยวางแผนธุรกิจท่องเที่ยว
4.โครงการ National Health Data Platform ที่เป็นความร่วมมือของ 5 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ทิพานัน กล่าวว่า เมื่อสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หมดระยะเวลาดำเนินการ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเสนอ ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ โดยมีหลักการยกฐานะสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อขยายภารกิจจากเดิม โดยให้เน้นการพัฒนาให้เกิดสังคมการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของประเทศไทย (Data-Driven Nation) โดยเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานส่งเสริมให้คำปรึกษาและบริการการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะจัดตั้งตามกฎหมายนี้จะเป็นองค์การมหาชน ในกลุ่มที่ 2บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ เป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรงมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ด้าน คือ
1.จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
2.ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลที่บูรณาการข้อมูลรายสาขา สำหรับการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ เช่น การกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ การวางแผนธุรกิจ
3.ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน และ
4.ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ให้มาตรฐาน” น.ส.ทิพานัน กล่าว
ทิพานัน กล่าวว่า สถาบันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่จะใช้ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศ นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศและการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ โดยในแผนงานระยะ 5 ปีจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว แรงงาน และยุติธรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ข้อมูลข้ามสาขา (Agenda-based) และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่เน้นสนับสนุนเชิงนโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ ด้านการแพทย์ การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐให้สามารถทำงานผ่านระบบดิจิทัล และสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ ทั้งนี้ในเรื่องของชื่อสถาบันที่จะจัดตั้ง ทาง ครม. ได้มอบให้สำนักงานกฤษฎีกาไปพิจารณาและแก้ไขเพื่อความเหมาะสมและถูกต้องต่อไป
ทิพานัน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 โดยให้เพิ่มเติมว่า “การย้ายสถานศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” เพื่อเป็นการคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องจริงๆ
ทิพานัน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งสร้างโอกาสในการศึกษาที่เสมอภาคและต้องการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ จึงมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำกรณีที่มีนักเรียนนักศึกษาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้วต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในปี 2561 ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ข้อ 7 ว่า “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษา”
แต่ร่างกฎกระทรวงใหม่นี้จะเพิ่มเติมเป็น “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์”
“เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ไม่ถูกผลักดันให้นักเรียนหญิงซึ่งตั้งครรภ์ออกจากสถานสถานศึกษาเดิม จึงได้เสนอให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในข้อ 7 ให้การย้ายสถานศึกษา “ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์”
ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการอุดช่องว่างสภาพปัญหาในทางปฏิบัติในกรณีที่สถานศึกษาบังคับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ย้ายสถานศึกษาโดยที่นักเรียนไม่เต็มใจ แล้วต้องพบปัญหาในการหาสถานศึกษาเข้าใหม่” ทิพานัน กล่าว