ไม่พบผลการค้นหา
'ปดิพัทธ์' เผยตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นหน้าที่คณะเจรจาเคลียร์จบ เชื่อหาข้อยุติก่อนวันโหวต 4 ก.ค. ย้ำหลักการพรรคอันดับ 1 ต้องได้ตำแหน่ง มั่นใจ 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' มีเป้าหมายร่วม ไม่แตกกันเพราะเรื่องนี้

วันที่ 28 มิ.ย. ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แคนดิเดตประธานสภาของพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ถูกเลื่อนการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลออกไป ว่าเป็นการเลื่อนเพื่อรอจนกว่าคณะเจรจาจะได้ข้อยุติ ซึ่งในขณะนี้ทางคณะเจรจาได้เสียงตอบรับจาก ส.ส. แต่ละพรรค รวมถึงสังคม ตอนนี้รอให้มีการเดินหน้าเจรจา พร้อมยอมรับว่าเรื่องการการเจรจาของคณะดังกล่าวถูกเลื่อนทำให้การหารือของ 8 หัวหน้าพรรคถูกเลื่อนออกไปด้วย

ปดิพัทธ์ กล่าวถึงข้อสังเกตว่าพรรคก้าวไกลถอยออกมา หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศต้องการตำแหน่งประธานสภาฯ ว่าในขณะนี้การเจรจายังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการโหวตการเจรจาก็ยังสามารถเดินหน้าได้ แต่ด้วยเงื่อนเวลาบีบให้ต้องมีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ต้องให้เวลากับคณะเจรจา ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่ประธานสภาฯ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยต้องการเก้าอี้ประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลจะยอมถอยหรือไม่ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคเดินหน้าไปได้ ปดิพัทธ์ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของคณะเจรจาและเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปทันก่อนที่จะมีการโหวต และยกตัวอย่างว่าก่อนที่จะสร้างบ้าน ลงทุน อาจจะมีการทะเลาะเรื่องพิมพ์เขียวให้เรียบร้อย หากปรับแบบแล้วยังไม่พอใจก็ไม่ต้องสร้าง แต่สุดท้ายก็ต้องมีวันสร้าง นั่นก็คือวันที่มีรัฐพิธีเปิดประชุมสภา 

“แนวโน้มและเสียงโหวตที่ประชาชนมอบให้ อย่างไร 2 พรรคนี้ก็ต้องหาทางตกลงกันให้ได้อยู่แล้ว” ปดิพัทธ์ กล่าว

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงหลักการที่ยึดว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องได้ตำแหน่งประธานสภา เช่นเดียวกับพรรคอันดับหนึ่งที่ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยยังคงเดินหน้าตามหลักการนี้ และต้องชี้แจงสังคมให้ได้ว่าทำไมพรรคก้าวไกลถึงพร้อม จึงเตรียมแผนในทิศทางที่ควรจะเป็นไว้ หากแผนเปลี่ยนแปลงก็ค่อยว่ากัน 

เมื่อถามว่าประเด็นนี้จะทำให้เพื่อไทย-ก้าวไกลแตกกันหรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุว่า ในฝั่งของก้าวไกล คิดว่าในเรื่องนี้เป้าหมายใหญ่คือการฟอร์มรัฐบาล และคิดว่าจะไม่ยอมให้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้เป้าหมายนี้เสียไป 

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ตำแหน่งประธานสภาฯ โดยมีข้อเสนอเรื่องประสบการณ์ ที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากครั้งก่อน จึงต้องมีการทำงานหนักมากขึ้น ค้นคว้าข้อมูลและถามผู้รู้ 

ทั้งนี้ ปดิพัทธ์ ระบุว่า ไม่สามารถรับปากได้ว่าเป็นประธานสภาฯ ที่ดีที่สุดหรือไว้ใจได้อย่างไร แต่ตนได้แสดงความพร้อมในการทำหน้าที่และทำงานหนักร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งตามข้อบังคับก่อนที่จะมีการโหวตจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ชิงตำแหน่ง เชื่อว่าเวทีดังกล่าวจะสามารถแสดงถึงความตั้งใจที่จะสื่อสารกับ ส.ส. แต่ทั้งหมดนั้นจะต้องได้ข้อยุติที่ทีมเจรจาก่อน 

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงการทำงานในพรรคก้าวไกลว่า ทำหน้าที่ 3 ทีมประกอบด้วยทีมเจรจา ทีมฟอร์มรัฐบาล และทีมฟอร์มสภา ซึ่งจะมีการพูดคุยเรื่องตัวบุคคลที่วางไว้อาจจะสลับสับเปลี่ยนกันบ้าง และในทีมสภาก็มีการทำงานร่วมกัน ต้องวางระบบการทำงานของรัฐสภา แต่ท้ายที่สุดชื่อของตนถูกนำเสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรค และประกาศให้ที่ประชุม ส.ส.ได้รับทราบ พร้อมย้ำความไว้วางใจที่มีต่อทีมเจรจาในการหาข้อยุติ 

ปดิพัทธ์ ยังแสดงความมั่นใจว่าหากได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ จะสามารถทำหน้าที่ได้ เพราะเชื่อว่า ส.ส. ทุกคนมีวุฒิภาวะ และอาจไม่ต้องให้ความเคารพที่ตัวของตนเองแต่ต้องเชื่อและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ถือเป็นกฎหมาย และเคารพรัฐธรรมนูญ หากทุกคนอยู่ในกติกาได้ เชื่อว่าการทำตามกติกาสามารถทำให้เอาอยู่ได้ และยืนยันว่าจะเปิดกว้างในการผลักดันกฎหมายของทุกพรรค โดยจะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคและไม่ร่วมประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อรักษาความเป็นกลางพร้อมเปิดรับการเสนอกฎหมายจากทุกพรรคและประชาชน