ไม่พบผลการค้นหา
สมชัย ศรีสุทธิยากร แนะ สภาฯ ทำงาน เน้นสาระ ลดการตอบโต้ มองเสียงปริ่มน้ำ อนาคตอาจเห็นงูเห่า เตือน กกต.ทำงานอย่าให้ ปชช.มองได้ว่าสองมาตรฐาน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง บทบาทการทำงาน ของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่า ยังสามารถคุมเสียงของตัวเองได้นิ่ง แต่สภาฯ ต้องไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าการทำงานมุ่งใช้สำนวนโวหารโดยการโต้ตอบกันไปมา หรือใช้เทคนิคการประชุมเพื่อเอาชนะคะคาน โดยไม่สนใจเนื้อหา เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความรู้สึกของประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎรเสื่อมลง และไม่ได้รับความศรัทธา

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาภาพของสภาฯ รวมถึงสื่อมวลชน ต้องสนใจในสาระสำคัญมากกว่าประเด็นปลีกย่อย ไม่เช่นนั้นสภาอาจถูกมองว่าเป็นสภาโจ๊กหรือสภาแห่งความขำขัน ไม่ได้มีความสำคัญ ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างภาพที่ดีให้กับสภาผู้แทนราษฎร

ขณะเดียวกัน มองว่าการบริหารจัดการเสียงในสภา เป็นเรื่องสำคัญและต้องดูแลให้ดี ประสานให้ดีโดยเฉพาะการควบคุมการประชุม การลงคะแนน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดต่างๆ โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาล ทำอย่างไรจะให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน เพราะประกอบด้วยพรรคจำนวนมากถึง 20 พรรค ซึ่งแต่ละพรรคล้วนมีวิธีการและแนวคิดต่างกันออกไป หรือกระทั่งมีผลประโยชน์ ดังนั้นการประสาน ให้เกิดความร่วมมือกัน หรือการทำงานเป็นทีม และการไม่หักหาญน้ำใจกัน จนนำไปสู่การมีรอยร้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน ของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล

นายสมชัย ระบุด้วยว่า จะต้องจับตาบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา เพราะมีอำนาจ ทั้งการแต่งตั้งถอดถอน องค์กรอิสระการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ขอประชาชนอย่าเพิ่งตัดสินใจการทำงาน ของส.ว. ควรให้โอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่าเพิ่งต่อว่าเป็นหุ่นยนต์ สามารถสั่งซ้ายหัน ขวาหัน ขอดูผลงานและการทำหน้าที่ต่อจากนี้ แต่หากสมาชิกวุฒิสภายังทำหน้าที่ในทิศทางเดียวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในอดีต ที่สามารถสั่งและยกมือ ไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนค่อยแสดงความผิดหวัง และต่อว่าส.ว.ในเวลานั้น

นายสมชัยเป็นห่วงว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต จะมีงูเห่าเกิดขึ้นเพราะจากการรวมเสียงตั้งรัฐบาล พบว่ามีการต่อรอง ไม่ได้รวมเสียงเพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง อย่างแท้จริงแต่จะต้องมีประโยชน์แก่กลุ่มแก่พรรคด้วย แม้แต่พรรคเล็กก็แสดงท่าทีเพื่อเรียกร้องตำแหน่ง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พรรคจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีเอกภาพ และอาจทำให้เกิด การเรียกร้องได้ทุกครั้งที่มีการลงมติ ถึงเวลานั้น อาจเป็นอำนาจของผู้นำฝ่ายบริหารที่จะตัดสินใจยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ดังนั้นประชาชนและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้ประเทศเดินกลับไปสู่ วงเวียนเช่นในอดีตที่มีการยึดอำนาจ รัฐบาลตนเอง เพื่อรักษาอำนาจให้คงอยู่ 

สำหรับการทำงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. จะต้องชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงการทำงาน ที่ถูกตั้งคำถามถึงความช้าเร็ว และกระบวนการภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่นคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีการถือหุ้นสื่อ อย่าให้ประชาชน เข้าใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมี 2 มาตรฐานหรือมีมาตรฐานแตกต่างกัน หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งได้ ต้องอย่าทำให้ประชาชนคิดเห็นเช่นนั้น ถ้าหากประชาชนคิดเช่นนั้น ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระจะลดน้อยลง

อ่านเพิ่มเติม