ตามที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบริษัทเที่ยวเที่ยว มีเดียกรุ๊ป จำกัด แถลงข่าวเตรียมจัดงานเตรียมจัดงานเทศกาลลอยกระทงนานาชาติแห่งประเทศไทย ปี 2562 ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. 2562 ที่ห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ มีการระบุวัตถุประสงค์การจัดงานว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา โดยจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 20,000 คน ที่จะร่วมปล่อยโคมลอยพร้อมกันเพื่อทำสถิติการปล่อยโคมลอยมากที่สุดในโลกบันทึกในกินเนสบุ๊ก พร้อมอ้างว่าได้มีการขออนุญาตฝ่ายที่เกี่ยวข้องหมดแล้ว
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะตำหนิที่จะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ความรับผิดชอบของทหาร ทั้งที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดี เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจากภาคประชาชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ชี้ชัดว่าการปล่อยโคมลอยที่ระยะหลังนิยมปล่อยกันในช่วงงานยี่เป็งหรือลอยกระทงนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของล้านนา แต่เป็นเรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นมาในภายหลังเพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยว อีกทั้งการปล่อยโคมลอยก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน จึงมีการรณรงค์ให้งดปล่อย จนกระทั่งจังหวัดเชียงใหม่มีการออกประกาศควบคุม
นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเตรียมจะนำไปยื่นให้กับทางจังหวัดเชียงใหม่และเจ้าของพื้นที่จัดงานดังกล่าว เพื่อสอบถามเกี่ยวกับแนวคิดและการบริหารจัดการงานดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร และหากมีการจัดปล่อยโคมลอยทำสถิติโลกด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ซึ่งตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกันรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องว่าการปล่อยโคมลอยนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีล้านนาและยังก่อให้เกิดอันตรายจากการที่โคมลอยตกลงมาทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเรือนหรือทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาใช้พื้นที่จัดงานเพื่อขายแพ็กเกจท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยกันเองหรือไม่ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับคนเชียงใหม่จริงหรือไม่
ขณะที่ผลกระทบจากการจัดงาน เช่น ขยะจากซากโคมลอยที่ตกลงมา ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่นเดียวกับความเสี่ยงหรืออันตรายและความเสียหายจากการที่โคมลอยตกลงมาทำให้เกิดไฟไหม้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะคนที่ปล่อยโคมลอยหรือคนจัดงานอาจจะสนุกสนาน แต่ชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานครั้งนี้ที่บันทึกสถิติโลก ซึ่งอยากเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนอย่างละเอียดรอบคอบ
ในตอนท้าย ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ย้ำด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การปล่อยโคมลอยนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของล้านนา จึงไม่อยากให้มีการบิดเบือนวัฒนธรรมประเพณีแล้วนำไปขายเพื่อหวังผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม แต่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆและคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ขณะที่ในส่วนของข้ออ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ตั้งข้อสังเกตว่าที่จริงแล้วรายได้เข้ากระเป๋าใครแน่ เพราะแม้แต่โคมลอยที่มีการปล่อยกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังพบว่าผลิตในต่างประเทศ ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ยังปล่อยให้มีการจัดปล่อยโคมลอยแล้ว ก็เป็นที่น่าเสียใจและเหมือนทำให้การรณรงค์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสูญเปล่าไปทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง