ไม่พบผลการค้นหา
เปิดร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว เตรียมขอสภาฯเห็นชอบ กำหนดให้มีวิปสภาผู้แทนราษฎร - ให้ตั้งกระทู้แยกถามเฉพาะแต่ต้องเผยผ่านสื่อ - ฝ่ายค้านไม่ต้องชงข้อมูลขอประธานสภาฯ ไฟเขียวก่อนซักฟอกรัฐบาลได้ แต่ต้องรับผิดชอบทางอาญา - แพ่ง

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 ส.ค.นี้ มีวาระการพิจารณาที่สำคัญคือ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ..... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งมีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่สอง มีทั้งหมด 192 ข้อ แบ่งเป็น 11 หมวด และบทเฉพาะกาล ส่วนใหญ่ไม่มีการแก้ไข โดยมีประเด็นที่น่าสนใจถือเป็นเรื่องใหม่ของแวดวงนิติบัญญัติดังนี้ 

หมวด 3 คณะกรรมการประสานงาน ส่วนที่ 1 คณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกิน 11 คน มี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และกรรมการไม่เกิน 10 คน แบ่งเป็นตัวแทนวิปรัฐบาล 5 คน และวิปฝ่ายค้าน 5 คน ทำหน้าที่และอำนาจหารือร่วมกันในกรณีต่างๆ เช่น การหารือถึงกรอบเวลาการอภิปราย 

ที่ผ่านมาวิปร่วม ส.ส.มีลักษณะการพูดคุยกันนอกรอบ ซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งอาจทำให้มีผลกระทบภายในแต่ละพรรคตามมา แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีวิปร่วมอย่างเป็นทางการ การตัดสินใจของตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านสามารถทำได้ในที่ประชุม 

หมวด 5 กรรมาธิการ (กมธ.) กำหนดให้มีกมธ.สามัญทั้งหมด 35 คณะตามเดิม มีการแก้ไขเพิ่มเติมชื่อกมธ. กับหน้าที่และอำนาจเล็กน้อย เช่น กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน มีการตัดคำว่ารัฐธรรมนูญทิ้ง เหลือแต่ศาล ทำให้หน้าที่และอำนาจสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ ก็ได้มีการเพิ่มเติมคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เข้าไปด้วย 

ทั้งนี้ ยังมีสมาชิกขอแปรญญัติเพิ่มเติม กมธ.วิสามัญอีก 1 คณะให้ครอบคลุมประเด็นการพิจารณาศึกษาให้มากขึ้น ในกลุ่มของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่กมธ.ยกร่างข้อบังคับฯ เห็นว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ไปรวมอยู่ใน กมธ.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายอ่อนก็น่าจะครอบคลุมแล้ว 

เพิ่มกระทู้ถามแยกให้แยกห้องประชุมถาม - ตอบ

หมวด 8 กระทู้ถาม มีการเพิ่ม "กระทู้ถามแยกเฉพาะ" ขึ้นใหม่ นอกจากเดิมที่มีกระทู้ถามสดและกระทู้ถามทั่วไป โดยตีกรอบไว้สำหรับกระทู้ถามที่ลักษณะเฉพาะเรื่อง พื้นที่ บุคคล ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติไม่ต่างกัน กำหนดให้มีการแยกห้องประชุมสำหรับถาม-ตอบ ต้องเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางๆต่าง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหากระทู้คงค้างจำนวนมากของส.ส.ที่อัดอั้นไม่มีสภามา 5 ปี ซึ่งหากถามปัญหาชาวบ้านน้ำท่วมน้ำแล้ง ถามประเด็นเฉพาะถนนในเขตหรืออำเภอด้วยกระทู้แบบเดิม อาจใช้เวลาลากยาวข้ามปี จนไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหา 

การแยกประเภทกระทู้ออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งตัวแทนกมธ.ยกร่างข้อบังคับฯ คาดว่าจะทำให้ใช้เวลาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า

ระบอบรัฐสภา-ประยุทธ์คำนับชวน

ฝ่ายค้านไม่ต้องส่งข้อมูลให้ประธานสภาฯ กรณีซักฟอกรัฐบาล

หมวด 9 การเปิดอภิปรายทั่วไป ส่วนที่ 1 การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นของใหม่ที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้ผู้จะทำการอภิปรายไม่ต้องนำเสนอเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้ ไปขออนุญาตจากประธานสภาเหมือนการอภิปรายทั่วไป เพราะจะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นความลับ ข้อมูลของฝ่ายค้านจะรั่วไหลไปยังผู้ถูกอภิปรายได้ แต่ส.ส.ผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นตามมาทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และมาตรฐานทางจริยธรรม  

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณายกร่างข้อบังคับฯ ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ไม่ตอ้งนำเอกสารหรือวัตถุไปขออนุญาตประธานสภาฯ ทำให้ภาพรวมเป็นเชิงบวกแก่ฝ่ายค้านทำให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพมากขึ้น หวังให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนของอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเปิดให้ฝ่ายค้านสามารถนำเสนอข้อมูลประกอบการซักฟอก โดยไม่ต้องแจ้งให้ประธานสภารับทราบก่อน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานสภาก็คือบุคคลของฝ่ายรัฐบาล หากให้เปิดเผยก่อนอาจเหมือนเฉลยการบ้านล่วงหน้าให้ผู้ถูกอภิปรายรู้ ซึ่งตนเสนอเช่นนี้เพื่อต้องการให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจและส่งผลในทางปฏิบัติมากขึ้น 

"ขณะเดียวกันก็มีมาตรการคุ้มครองให้ผู้ถูกอภิปราย โดยส.ส.ที่จะนำเสนอข้อมูลก็ต้องรับผิดชอบทางอาญาและทางแพ่งหากมีการฟ้องร้องภายหลัง และต้องรับผิดชอบตาม มาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ควบคู่กันไปด้วย เปรียบเสมือนมีดที่ฝ่ายค้านได้รับมีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องมีฝักหุ้มระมัดระวังคมมีดนั้นด้วย" นายนิกร กล่าว  

สำหรับกรอบเวลาการอภิปราย วิปรัฐบาลคาดว่า จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 วันคือ ระหว่างวันที่ 7 - 8 ส.ค. เนื่องจากผู้อภิปรายจะมีจำนวนมาก มีส.ส.เสนอคำแปรญัตติ 23 คน ดังนั้น ข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2562 จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนส.ค.นี้ การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ตามกลไกรัฐสภาก็จะได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์2 ภายในเดือนก.ย.นี้