ไม่พบผลการค้นหา
กกร.มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกไม่มีโอกาสโต หั่นจีดีพี เหลือแค่ร้อยละ 1.5 – 2 เหตุโควิด-19 กระทบหนัก เตรียมเสนอมาตรการดูแลผลกระทบร่วม ครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค.นี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร). ว่า สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ กกร. จึงต้องปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2 - 2.5 นับเป็นการปรับลดประมาณการเป็นรอบที่ 3 หรือ 3 เดือนติดต่อกัน

ขณะที่การส่งออกยังคงประมาณการติดลบร้อยละ 2 – 0 และกรอบเงินเฟ้อร้อยละ 0.8 - 1.5 โดยตัวเลขทั้งหมดอยู่ภายใต้สมมติฐานไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อถึงเดือน มิ.ย.2563 แต่หากสถานการณ์รุนแรงและกินเวลายาวนานกว่าที่คาด จะมีการประเมินตัวเลขอีกครั้ง

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมกว่า 45 อุตสาหกรรม โดยที่ได้รับผลกระทบมาก คือ อุตสากรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมี ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โรงกลั่นน้ำมันปิโตเลียม เครื่องสำอาง อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้นขณะเดียวกันได้ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังภาคธุรกิจต่างๆ ให้มีการลดการจ้างงาน ปิดกิจการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง” นายสุพันธุ์ กล่าว

info ผลกระทบไวรัส covid19 ที่มีต่อ 45 กลุ่มอุตสาหกร.jpg

อย่างไรก็ตาม กกร. ประเมินว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจไทย ยังคงมีปัจจัยลบหลายด้าน นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีเรื่องของภัยแล้ง ปัญหาสงครามการค้า รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเข้ามาดูแลผลกระทบโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยในวันที่ 6 มี.ค. 2563 จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) จะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเผชิญภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมและเสนอมาตรการต่างๆ โดย กกร. ได้เตรียมเสนอมาตรการดูแลผลกระทบจากการระบาดของไวรัสวิด-19 ทั้งมาตรการ ไฟแนนซ์ ลดค่าไฟ ประกันสังคม ซอฟต์โลน เงินช่วยเหลือ และมาตรการภาษี