วันที่ 5 ก.ย. 2565 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดแกนนำม็อบกลุ่มหลอมรวมประชาชน นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ และ นิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ซึ่งจัดชุมนุมกลางเมือง “หยุดอำนาจ 3ป.เพื่อนับหนึ่งประเทศไทย” โดยการจัดกิจกรรมปราศรัยโดยใช้รถยนต์เป็นเวที มีผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้พื้นที่ทางเท้าและบันไดทางเข้าลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ที่ กทม.อนุญาตให้มีการชุมนุมได้
การจัดชุมนุมของคณะหลอมรวมประชาชนดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ทางเท้า ขัดขวางการใช้ทางเดินเท้าของประชาชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าราชการ กทม. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ 7 จุดที่ กทม.กำหนดให้ชุมนุมได้ตามประกาศของ กทม.เมื่อ 23 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา จึงเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนด ที่ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 47) ของ หน.ศบค.ลงวันที่ 27 ก.ค.65 และประกาศของ ผบ.ทสส. ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีอัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการปราศรัยดังกล่าวอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องเสียงอีกด้วย
กรณีที่เกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้รับผิดชอบ ดูแล พื้นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้ประกาศและกฎหมายของ กทม.มีความศักดิ์สิทธิ์ มิให้ผู้ใดมาละเมิดได้ หากไม่ดำเนินการใด ๆ อาจทำให้ผู้ชุมนุมหรือกลุ่มต่าง ๆ ย่ามใจและใช้เป็นแบบอย่าง ในการละเมิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวอีกไม่จบไม่สิ้น
ศรีสุวรรณ ระบุว่า หากผู้ว่าฯ กทม.เพิกเฉยต่อคำร้องของสมาคมฯที่แจ้งไปตามขั้นตอน วิธีการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วไซร้ ก็อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสมาคมฯจะดำเนินการทางกฎหมายที่เหมาะสมตามครรลองของกฎหมายต่อไป