ไม่พบผลการค้นหา
‘ยุทธพงศ์’ ซักฟอกจับพิรุธที่ดินของพ่อ ‘ประยุทธ์’ เป็นบ่อตกปลาขายให้ บ.69 ได้ราคา 600 ล้านบาทเข้าข่ายฟอกเงิน - ต่อสัญญาศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 50 ปี เอื้อเจ้าสัว - ใช้ ม.44 รวมสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้าน นายกฯ ลุกโต้ที่ดินพ่อไม่ใช่บ่อตกปลา ปัดเอื้อเจ้าสัว ด้าน 'วิษณุ' ชี้ 'รัฐบาลก่อน' ยึดอำนาจแก้ไขสัญญาให้มีการต่ออายุเช่าศูนย์สิริกิติ์ 50 ปี

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ร่ำรวยผิดปกติ บังคับใช้กฎหมายโดยเอื้อตนเอง บริวาร พวกพ้อง ขาดคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ไม่อาจไว้วางใจให้บริหารประเทศได้อีกต่อไป เนื่องจากตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 – 9 มิ.ย. 2562 มีอภินิหารทางกฎหมาย ไม่ต้องให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ตามกฎหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์แจ้งบัญชีทรัพย์และหนี้สิน ไม่สัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เป็นรายรับ ทั้งชีวิต ผบ.ทบ.มีทรัพย์สินประมาณ 128 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 466 ล้านบาท เป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย เป็นเงินที่ฟอกมาหรือได้มาด้วยความผิดปกติหรือไม่ เพราะไม่สัมพันธ์กัน บิดา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขายที่ดิน 50 ไร่ 3 งาน 8 ตร.ว.ย่านบางบอน ให้ บริษัท 69 พรอพเพอร์ตี้ 600 ล้านบาท โดยมอบเงินให้บุตรชายคนโต 540 ล้านบาท 

"การซื้อขายที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นที่ดิน แต่เป็นบ่อตกปลาราคา 600 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องตรวจสอบ ขณะที่ผู้ซื้อบอกว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่สภาพที่ดินเหมือนหลับตาซื้อ ดูมีพิรุธ ลักษณะเป็นการฟอกเงิน เป็นธุรกรรมที่น่าสงสัยว่าเป็นบ่อตกปลาที่แพงเกินไป สถานะผู้ซื้อจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ เพิ่งตั้งบริษัท 2 พ.ค. 2556 เพียง 7 วันก่อนการซื้อขาย เป็นทาวน์เฮาส์เก่าๆ โทรมๆ อยู่ที่เขตตลิ่งชัน ราคาไม่น่าเกิน 2 ล้านบาท แล้วเอาเงิน 600 ล้านมาจากไหน"

ไม่เชื่อ บ.69 มีเงิน 600 ล้านบาท ซัดเชื่อมโยงเจ้าสัวเอี่ยวต่อสัญญาศูนย์ประชุมสิริกิติ์

“คุณประยุทธ์เดินทางไปติดต่อซื้อขายกับบริษัทนี้เมื่อไหร่ ผมไม่เชื่อว่าบิดา พล.อ.ประยุทธ์ที่อายุกว่า 90 ปี จะสามารถนำพา บริษัท 69 พรอพเพอร์ตี้ไปดูที่ดินดังกล่าวได้ แล้วใครจ่ายค่าโอนภาษีที่ดิน ถ้าตอบเรื่องนี้ไม่ได้ ขอให้คุณประยุทธ์สารภาพมาอย่างชายชาติทหาร ขอให้รับสารภาพว่าไปพบกับเจ้าสัวเจริญ” 

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า น่าสงสัยว่า บริษัท 69 พรอพเพอร์ตี้ฯ ไม่น่ามีเงิน 600 ล้านบาทไปซื้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ ตนจะขออธิบายเส้นทางทางการเงินว่า บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บ.ทรงวุฒิ บิสซิเนส ที่ต่อมาได้โอนหุ้นจำนวน 49,000 หุ้น ไปให้ บริษัท วินเทค โปรฟิท คอมปะนี ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ ทรัส (บี.วี.ไอ.) ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ แซมเบอร์ ซึ่งมีที่อยู่เป็นตู้ ปณ. เลขที่ 146, โรดทาวน์,ทอร์โทล่า, บริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ และเป็นที่อยู่เดียวกันกับบริษัท TCC Group International Limited ที่เป็นบริษัทที่เพิ่มทุนให้กับ บ. 69 พร็อบเพอร์ตี้ เพื่อไปซื้อที่ดินของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีส่วนเชื่อมโยงกับบริษัทของเจ้าสัว จนนำไปสู่เรื่องการต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อภิมหาค่าโง่ต่อสัญญาถึง 50 ปี จำนวน 6,000 ล้านบาท 

"คุณประยุทธ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ควบคุมกระทรวงการคลังให้ทำตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ถือเป็นมติ ครม. ที่ฉ้อฉล หลอกลวง โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่ากรมธนารักษ์ได้ยืนยันว่าการดำเนินโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นการดำเนินโครงการเดิมตามนัย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เดิมที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้"

จวก 'ประยุทธ์' เมินคำทักท้วงของ อสส.

นายยุทธพงศ์ ระบุว่า ต่อมา ครม.พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาแล้วลงมติว่า 1.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ตามความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อชี้แจงเพิ่มเติมของ รมช.คลัง 2.ให้กระทรวงการคลังนำข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งให้นำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์ฯ ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามต่อไปด้วย 

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า อัยการสูงสุดแจ้งข้อสังเกตทักท้วงถึง 2 ครั้งเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ว่าจะถือว่าเป็นโครงการใหม่ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือไม่ แต่กรมธนารักษ์มิได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เอื้อกลุ่มทุนเดิมๆ หรือไม่ ทำไมเจ้าสัวถึงอยากได้ที่ตรงนี้ เพราะจะมีการสร้าง New CBD Bangkok ซึ่งต้องได้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ถือว่ามีการล็อกสเปกให้บริษัทเจ้าสัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ไม่รอบคอบปล่อยให้ประเทศเสียประโยชน์ ไม่ฟังคำทักท้วงของอัยการสูงสุด และขอชื่นชมอัยการสูงสุดที่รักษาประโยชน์ประเทศถึงมีข้อทักท้วง ถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม มีเจตนาพิเศษในการะเมิดกฎหมาย โดยไม่สนใจข้อทักท้วงของหน่วยงานรัฐ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีความพัวพันกับเจ้าสัว ถือเป็นตราบาปในแผ่นดิน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ไม่คำนึงถึงระเบียบของราชการ และตนจะนำเรื่องนี้ไปกล่าวโทษ พล.อ.ประยุทธ์ทางกฎหมายต่อไป 

ยุทธพงศ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ 4_0014.jpg

ชำแหละสัมปทานรถไฟสายสีเขียว 40 ปี ขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พัวพันเจ้าสัว

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า เรื่องของการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 40 ปี พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจอย่างเหิมเกริมไม่ถูกต้อง ขัด พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวด้านเหนือและด้านใต้ รฟม. มีเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท จากนั้นรัฐบาลให้โอนมาให้ กทม. เรื่องนี้มีการฮั้วประมูล เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พัวพันเจ้าสัว เรื่องนี้ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ของเดิมเป็นสัญญาเดียว ขณะที่ส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ กทม.ไปจ้าง บริษัท บีทีเอส เดินรถ จากนั้นมีการออก มาตรา 44 รวมสัญญาสายเขียวเหนือและเขียวใต้กับบีทีเอสเป็นสัญญาเดียว เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ออกกฎหมายฉ้อฉล หรือมีใครไปบอกให้ท่านออกเป็น มาตรา 44 ถือว่าท่านเป็นโมฆะบุรุษ ไม่อาจปล่อยให้บริหารประเทศอีกต่อไป 

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า สำหรับยุทธการอรุณรุ่งของพรรคเพื่อไทยนั้น ในปี 2554 มีลูกเรือของจีนถูกยิงเสียชีวิตที่เชียงแสน 13 ศพ ถือเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ใหญ่มาก ขณะนั้นกองกำลังผาเมืองถูกหลอกว่าลูกเรือจีนขนยาเสพติด และตำรวจขณะนั้นได้ดำเนินคดีกับทหารที่เกี่ยวข้อง

ประยุทธ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา

'ประยุทธ์' แจงที่ดินพ่อไม่ใช่บ่อตกปลา ปัดเอื้อเจ้าสัว

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงกรณีถูกพาดพิง ในประเด็นผลประโยชน์ทับเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินมูลค่า 600 ล้านบาทของบิดานายกรัฐมนตรี ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอด 2535 -2556 ในสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินผืนใหญ่ และลำรางสาธารณะ ไม่ใช่บ่อตกปลา เป็นการเช่าที่ดินปลูกพืช ส่วนการซื้อขาย ไม่ทราบรายละเอียดเป็นเรื่องของผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งไม่รู้ว่าบริษัทใครมาซื้อและมีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง ซึ่งยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ หรือไปต่อรองอะไร เพราะซื้อขาย ขณะที่ยังเป็น ผบ.ทบ. ไม่ใช่นายกฯ ที่สำคัญมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอย่างชัดเจน

ประวิตร-ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ

'วิษณุ' ยก รบ.ก่อนยึดอำนาจแก้ไขสัญญาให้บริษัท NCC เช่าศูนย์สิริกิติ์นาน 50 ปี

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า พื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์เป็นของกระทรวงการคลังที่ทำสัญญาให้บริษัท NCC management and development จํากัด มาบริหารพื้นที่โดยเป็นคู่สัญญากับกรมธนารักษ์มาตลอด มีรายละเอียดสัญญาคือ ต้องสร้างโรงแรม 4-5 ดาว มีห้องพัก 400 ห้อง ที่จอดรถ 3,000 คัน มีศูนย์การค้าร้านค้า หากไม่ก่อสร้างภายใน 25 ปี ถือว่าผิดสัญญา ซึ่งต่อมาเกิดปัญหาขึ้น เมื่อบริษัท NCC บอกว่าทำตามสัญญาไม่ได้ เพราะกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎหมายผังเมืองให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ำเงินคือ ห้ามมีสิ่งก่อสร้างสูงเกิน 23 เมตร

ดังนั้นในปี 2544 กระทรวงการคลังจึงหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะสามารถยกเลิกสัญญากับเอกชนได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ถ้าการที่เอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ไม่ได้มาจากความผิดของเอกชนก็ไม่สามารถจะยกเลิกสัญญาได้ ทำได้แค่แก้ไขสัญญา จึงเป็นที่มาของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว มีการเอาเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการราชพัสดุ วันที่ 28 มี.ค.2557 เป็นช่วง 2 เดือนก่อนรัฐประหาร ให้ไปดูว่าเป็นรัฐบาลใด โดย รมว.คลังขณะนั้น ในฐานะประธานกรรมการที่ราชพัสุดมีมติให้แก้ไขสัญญาให้บริษัท NCC เช่าสัญญาพื้นที่ศูนย์สิริกิติ์นาน 50 ปี ถือว่าเรื่องจบลง เพราะถ้าเป็นการแก้ไขสัญญาให้คู่สัญญารายเดิมไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน จนกระทั่งนำไปสู่การลงนามสัญญาครั้งล่าสุด ยืนยันว่า รัฐบาล ฟังคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ทำตามขั้นตอนต่างๆ จนมาสู่บทสรุป ทั้งหมดนี้จะเอื้อใครหรือไม่ ต้องไปดูว่า เอื้อมาตั้งแต่รัฐบาลใด 

'อุตตม' แจงสัญญาเช่าศูนย์สิริกิติ์ สมัย รบ.ยิ่งลักษณ์ แก้ กม.ร่วมทุนเปิดช่องให้เช่า50 ปี

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงกรณีที่นายยุทธพงษ์ อภิปรายถึงการแก้ไขสัญญาการให้เช่าและบริหารพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 โดยการเจรจาและเปิดให้เอกชนเข้าลงทุน เพื่อหวังให้เป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติในภูมิภาคนี้ ส่งเสริมทั้งธุรกิจการจัดการประชุม กรรแสดงนิทรรศการ และการท่องเที่ยวของประเทศ จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาโครงการนี้ เมื่อปี 2539 โดยมีอายุสัญญา 25 ปี นับอายุตั้งแต่การก่อสร้างโครงการเสร็จโดยใช้เวลาก่อสร้างเป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นสัญญา 25ปี+4 หรือ 29 ปี

นายอุตตมกล่าวว่า ปัญหาของสัญญาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2542 เมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตผังเมืองให้ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ําเงิน ที่ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร ทําให้กระทบต่อสัญญาที่เอกชนทํากับกรมธนารักษ์มีปัญหา เพราะในสัญญาปี 2539 ระบุว่าเอกชนต้องสร้างโรงแรม 4-5 ดาว ขนาดมีห้องพัก 400 ห้อง ที่จอดรถ 3,000 คัน พื้นที่พาณิชย์ 28,000 ตรม. เมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเกิดขึ้น หลังสัญญาก็กระทบการก่อสร้างแนวสูงที่ไม่สมารถทําได้ เอกชนคือบริษัท บริษัท NCC management and development จํากัด จึงได้ส่งหนังสือมายังกรมธนารักษ์ เมื่อเดือน ก.ค. 2543 เพื่อหาทาง แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ 

นายอุตตมกล่าวว่า ต่อมาเมื่อปี 2544 กรมธนารักษ์ทําหนังสือขอคําปรึกษากับสํานักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อหาแนวทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกสัญญาหรือการแก้ไขสัญญา ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อปี 2544 ว่า หากเอกชนไม่ได้เป็นผู้กระทําผิดก็มิอาจเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญา ส่วนการแก้ไขสัญญา นั้นกระทําได้ แต่ต้องยึดประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง ได้มีการแก้ไข เรื่องการไม่ต้องก่อสร้างโรงแรมในแนวสูง แต่ขยายพื้นที่ในแนวราบออกไป แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่จบสิ้นกัน

จนกระทั่งปี 2556 ในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้มีการทบทวนโครงการที่เข้าข่ายในกฏหมายดังกล่าว โดยเปิดช่องไว้ใน มาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้ไขปัญหาในกรณีโครงการตามกฏหมายนี้ที่มีปัญหา

นายอุตตมกล่าวว่าตนได้เสนอให้ทบทวนหลายโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาหลังกฏหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิต รวมทั้งโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ ด้วย โดยในเดือนกันยายนในปีเดียวกัน บริษัท NCC management and development จํากัด ได้ส่งหนังสือถึง กรมธนารักษ์ เพื่อปรับแผนการลงทุนโดยข้อเสนอในปี 2556 มีการเสนอที่จะปรับปรุงสัญญาเช่าโดยขอก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร เพราะมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่แล้ว และมีการขอขยายระยะ เวลาเช่าออกไปเป็น 50 ปี ดังนั้นการเสนอสัญญาเช่าออกไปจึงเริ่มต้นในตอนนั้น ต่อมากระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ตั้งกรรมการตามมาตรา 43 แห่งการให้เอกชนร่วมลงทุนใน กิจการของรัฐขึ้นมาพิจารณา 

ในการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท NCC management and development จํากัด โดยกรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 ผลการศึกษายืนยันว่า มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาทในขณะที่ผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ จํานวน 18,998.60 ล้านบาท จะมีเวลาคุ้มค่าการลงทุนที่ 47 ปี จึงเห็นว่า ระยะเวลาการใช้เช่า 50 ปี เป็นระยะ เวลาที่เหมาะสม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนและผลตอบแทนให้รัฐ โดยทรัพย์สินทั้งหมดที่เอกชนลงทุนพัฒนา เมื่อครบสัญญาหรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา หากมีการกระทําผิดสัญญา ยังตกเป็นของรัฐหรือกรมธนารักษ์ ทั้งหมด ไม่ได้เป็นของเอกชนแต่อย่างใด

อุตตม อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา

“สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมด เพื่อทําความเข้าใจปัญหานี้ หากมีการสืบค้นประวัติที่มาตั้งแต่เริ่มสัญญาในปี2539 จนกระทั่งมีการแก้ไขสัญญาครั้งล่าสุดในปี 2560 จึงจะรู้ที่มาที่ไปของปัญหา ขออย่าหยิบแค่ท่อนเดียวหรือห้วงเวลาเดียวคือการแก้ไขสัญญาเมื่อครั้งล่าสุด แล้วทําให้เราไม่เข้าใจปัญหาทั้งหมดในเรื่องนี้”นายอุตตมกล่าว

ส่วนที่นายยุทธพงษ์กล่าวถึงกรณีหนังสือทักท้วงจากอัยการสูงสุดเมื่อปี 2556 นั้น นายอุตตม ชี้แจงว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้นำร่างสัญญาฉบับสมบูรณ์เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง โดยอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบเห็นชอบร่างสัญญา เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2561 จึงเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

'อนุพงษ์' แจงต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช้ ม.44 ปัดเอื้อประโยชน์

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงการอภิปรายของนายยุทธพงศ์ ในประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า สัมปทานดังกล่าวเดิมจะสิ้นสุดปี 2572 แต่ กทม.ได้มีการต่อสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 เพื่อจ้างบีทีเอสเดินรถ และ รฟม.ได้ทำส่วนต่อขยายในช่วงสีเขียวและสีเขียวใต้ ที่ผ่านมารฟม.ก่อสร้างโดยใช้เงินกู้เพื่อสร้างทั้งสองส่วน แต่ในการจะดำเนินการในอนาคตจำเป็นต้องจ้างเดินรถและมีแนวโน้มว่าจะขาดทุน เพราะเป็นส่วนต่อขยายในช่วงชานเมือง จนไม่สามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ทั้งโครงการนี้มีหนี้แสนกว่าล้านบาท การบริการสาธารณะของกทม.ไม่มีสภาพคล่องจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ในการแก้ไขปัญหาก่อนจะมีคำสั่งของคสช.นั้นมีผลกระทบที่ตามมา คือ ประชาชนต้องแบกภาระค่าโดยสารเต็มระยะสูงสุด 158 บาท หากรอให้สัมปทานหลักหมดอายุลง เอกชนรายใหม่จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากสัมปทานเดิมและสัญญาจ้างเดินรถ หรือหากจะเปิดประมูลเอกชนรายใหม่จะต้องใช้เวลา 2-3 ปีเพื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และประชาชนต้องแบกรับภาระ จึงเป็นที่มาของการมีคำสั่ง คสช. 

“ยืนยันว่าคำสั่ง คสช.ไม่ได้เป็นการต่อสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการไปหาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดภาระของประชาชน โดยจะมีขั้นตอนคล้ายกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่มีคณะกรรมการโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเข้ามามาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วเพราะเวลาที่เดินไปนั้นหมายถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปด้วย”

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การเจรจานั้นได้ยึดหลักประชาชนได้ค่าโดยสารเป็นธรรม กทม.และรัฐบาลต้องไม่มีภาระหนี้และผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้สัญญาสัมปทาน 30 ปี จากสัญญาเดิมที่เหลืออีก 10 ปีนั้นในปี 2562-2572 ในช่วง 10 ปีแรกยังคงเป็นสัญญาเดิม กทม.ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเอกชนจะเป็นผู้รับภารแทนตลอด 10 ปี ปี 2573-2602 เริ่มสัญญาสัมปทานใหม่ หลังจากสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง สัมปทานใหม่อายุ 30 ปี โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้ กทม. ทั้งหมดนี้เป็นการแก้ไขปัญหาโดยคำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ใครทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง