วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ริชาร์ด หยู ซีอีโอของหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป แถลงเปิดตัวระบบปฏิบัติการฮาร์โมนี (HarmonyOS) หรือที่ในประเทศจีนจะใช้ชื่อว่าหงเมิ่ง (HongMeng) โดยกล่าวว่าระบบปฏิบัติการฮาร์โมนี จะนำความปรองดอง (harmony) และความสะดวกสบายมาสู่โลกใบนี้
ระบบปฏิบัติการนี้เป็นที่จับตามองเนื่องจากสัมพันธ์กับความอยู่รอดของหัวเว่ยเอง หลังสงครามการค้าทำให้ในอนาคตหัวเว่ยอาจเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีต่างๆ ของกูเกิลไม่ได้อีกต่อไป รวมถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ด้วย เป็นเหตุให้หัวเว่ยต้องหันมาพัฒนาระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง
หยูกล่าวว่าระบบปฏิบัติการใหม่นี้จะแตกต่างจากแอนดรอยด์ของกูเกิล และไอโอเอส (iOS) ของแอปเปิลโดยสมบูรณ์ อีกทั้งยังจะทำงานได้ลื่นและปลอดภัยกว่าด้วย และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถพัฒนาแอปฯ สำหรับฮาร์โมนีขึ้นมาครั้งเดียว ก็สามารถนำไปปรับใช้กับอุปกรณ์ประเภทอื่นได้เลย
ทั้งนี้ ทางหัวเว่ยจะปล่อยฮาร์โมนี เวอร์ชันแรกภายในปีนี้ในอุปกรณ์หน้าจออัจฉริยะ (smart screen products) ก่อนจากนั้นจึงเริ่มนำไปใช้ในอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ตวอตช์ และลำโพงอัจฉริยะ ภายในอีก 3 ปี
"ถ้าถามว่าเมื่อไรเราจะนำไปใช้กับสมาร์ตโฟน บอกเลยว่าเราสามารถทำแบบนั้นเมื่อไรก็ได้"
จากข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ทางรอยเตอร์สเผยถึงการทดสอบระบบปฏิบัติการหงเมิ่งใน คาดว่าผลิตภัณฑ์หน้าจออัจฉริยะชิ้นแรกที่จะได้ใช้ระบบปฏิบัติการใหม่คือ ออเนอร์สมาร์ตสกรีน (Honor Smart Screen) สมาร์ตทีวีของหัวเว่ย
หยูเสริมอีกว่าหัวเว่ยยังคงเลือกใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งทำงานร่วมกับฮาร์โมนีได้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งหัวเว่ยไม่สามารถใช้แอนดรอยด์ได้ขึ้นมา ก็สามารถสลับไปใช้ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีได้ทันที
ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีจะเปิดเป็นโอเพนซอร์ส ซึ่งเปิดให้ผู้อื่นดัดแปลง แก้ไข และเผยแพร่ได้ เช่นเดียวกับที่กูเกิลทำกับแอนดรอยด์
ที่มา: Japan Times / Verge / Independent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: