ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพฯรถไฟ ค้านเปิด PPP ให้เอกชนเข้าร่วมบริหารจัดการรถไฟชานเมืองสายสีแดง หวั่นประชาชนเสียประโยชน์ และการเปิดบริการล่าช้า ขอโอกาสเดินรถ 5 ปี หากไม่ดีก็พร้อมถอนตัว ด้านประชาชนเสียงแตก รัฐ-เอกชน ได้หมด หวังคุณภาพบริการดีขึ้น

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และนายชิตพล พรหมดนตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า พร้อมด้วยสมาชิก ร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ทบทวนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าในแง่ของการให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการนั้น จะเกิดปัญหากับประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิ เหตุค่าโดยสารแพงกว่าการที่ให้รัฐเป็นผู้บริการจัดการเดินรถเอง

“รัฐบาลควรจะมีการทบทวน และผมก็คิดว่าที่ผ่านมากิจการรถไฟฟ้าเราก็ให้เอกชนทำไปเยอะมากแล้ว และก็เกิดปัญหาคือประชาชนเข้าถึงยากและลำบาก มันไม่ใช่บริการขนส่งสาธารณะ เพราะประชาชนเดินถนน กินข้าวแกงขึ้นไมได้เพราะราคามันแพง” นายสาวิทย์ กล่าว

สหภาพ รฟท.ประชุม

นายสาวิทย์ ระบุว่า การนำเอกชนเข้ามาบริหารการเดินรถเสมือนเปิดให้เอกชนกินรวม ชุบมือเปิด ทั้งที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งที่ผ่านมามีผลศึกษาชัดเจนว่า ค่าบริการรถไฟฟ้าของไทย ที่มีเอกชนบริหารการเดินรถ เป็นค่ารถไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก และมีตัวอย่างให้เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเจรจาขอให้ผู้ประกอบการ ลดค่าโดยสารเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชน ก็ทำได้ยากมาก

ทั้งนี้ ยืนยันว่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) มีบุคลากรที่มีความพร้อม ไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนการเปิดบริการออกไปในปี 2566 ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการฝึกอบรมและสามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในปี 2564 รัฐควรให้เพิ่มพันธกิจให้ รฟฟท. เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 62 โดยรัฐควรเปิดโอกาสให้ รฟฟท. บริหารการเดินรถก่อน 5 ปี หากการดำเนินการไม่ดีขึ้น หรือให้บริการไม่ได้ตามศักยภาพก็พร้อมถอนตัวออกไป ซึ่งยืนว่าหากให้ รฟท. ดำเนินการ มั่นใจจะเปิดเดินรถได้ช่วงปลาย 2564

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ด้านประชาชนที่รอใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้แตกต่างกัน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการเปิด PPP ให้เอกชนเข้าร่วมบริหารจัดการเดินรถ โดยในส่วนที่เห็นด้วย มองว่า รถไฟฯ มีประสบการณ์ในการทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคิดว่าเหมาะสม ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า คุณภาพการบริการและการจัดการของภาคเอกชนดีกว่าการดำเนินการของรัฐ แต่หากเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการรัฐจะต้องควบคุมในประเด็นเรื่องค่าโดยสารไม่ให้สูงเกินไปเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้บริการในอนาคต