วานนี้ (20 มี.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว ในส่วนงบประมาณรายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ โดยมีผู้แทน สส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึง กอ.รมน. ในหลายประเด็น ซึ่งพบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และอาจไม่ครบถ้วน
กอ.รมน. จึงขอเรียนรายละเอียด ดังนี้ จากประเด็นที่กล่าวว่า “กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด” ต้องขอเรียนว่าการใช้จ่ายงบประมาณของ กอ.รมน. นั้น เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง และสามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ โดยมีสำนักงานการตรวจสอบเงินแผ่นดินเข้าตรวจเป็นประจำทุกปี เนื่องจาก กอ.รมน. อยู่ในระบบงบประมาณปกติเหมือนกับทุกหน่วยราชการเช่นกัน
สำหรับประเด็นความสงสัยเกี่ยวกับโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ ว่ามีเนื้อหาของโครงการและแผนงานที่มีเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ค่อยมีความสอดคล้องกัน เช่น โครงการพัฒนาด้านการเมือง และการสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ และโครงการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ขอเรียนว่าแผนงานโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนย่อยการรักษาความสงบภายในประเทศ ซึ่งได้มีการประชุมและผ่านความเห็นชอบในระดับความมั่นคงแห่งชาติที่มีผู้แทนทุกกระทรวงเข้าร่วมประชุม และมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน สอดคล้องตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ในการอำนวยการ ประสานงาน และเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง
ส่วนเหตุผลความจำเป็นของการให้ประชาชนเพิ่มการมีส่วนร่วมเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ การเสวนาปัญหากลุ่มอาชีพ รวมความรู้ปราชญ์ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับการรักษาความสงบภายในประเทศนั้น ขอเรียนว่ากิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้แผนย่อยการรักษาความสงบภายในประเทศเช่นกัน โดยเป็นหนึ่งในแผนงานย่อยของแผนแม่บทประเด็นด้านความมั่นคงภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ที่อาจต้องอาศัยการเสริมสร้างความรู้ทั้งจากทฤษฎี และปฏิบัติจากผู้ชำนาญการผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ จนเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการลดภาระของการพึ่งพารัฐได้ในระดับหนึ่ง หากประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมีความมั่นคงระดับครอบครัว ชุมชน สังคมแล้ว ก็จะเสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงในระดับประเทศตามมา
ในส่วนของประเด็นค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ ทั้งที่ กอ.รมน. ไม่มียุทโธปกรณ์ เพราะเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่ เป็นหน่วยงานบูรณาการ แต่ปรากฏว่ามีการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ให้หน่วยอื่นๆ เช่น ซ่อมระบบสำรองไฟให้ค่ายทหาร 3 ค่าย ซ่อมกล้องตรวจการณ์กลางคืน ซ่อมรถเกราะ ซื้อแบตเตอร์รี่โดรน ซื้อน้ำมันทำความสะอาดปืน ต้องเรียนว่าการปฏิบัติงานในลักษณะประสานหน่วยงานของ กอ.รมน. นั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 7 แต่ในกรณีมีเหตุกระทบความมั่นคงที่มีแนวโน้มรุนแรง การปฏิบัติงานจะอาศัยมาตรา15 อย่างกรณี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งงบประมาณที่กล่าวถึงนี้เป็นการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เพื่อปกป้องและดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนรวมถึงตัวผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยจะมีทั้งยุทโธปกรณ์ประจำตัว และประจำหน่วย ซึ่งหลังจากการใช้งานต้องมีการบำรุงรักษา และซ่อมแซมยุทโธปกรณ์เพื่อให้พร้อมและสามารถใช้งานได้อยู่เสมอ โดย กอ.รมน.(ส่วนกลาง) จะทำหน้าที่อำนวยการ และรายงานตามขั้นตอน รับผิดชอบการปฏิบัติในภาพรวม
กรณีแผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งในงบก้อนนี้มีการจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือน สำหรับประเด็นนี้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ถือเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ และเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงมีการจัดกำลังพลจากกองทัพภาคที่1 (ภาคกลาง), กองทัพภาคที่2 (ภาคอีสาน), กองทัพภาคที่3 (ภาคเหนือ) และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) รวมกว่า 6 พันนาย โดยจะมีการผลัดเลี่ยนหมุนเวียนคราวละ 45 วัน และเมื่อถึงคราวต้องปฏิบัติหน้าที่หรือผลัดพักก็จะมีการเดินทางเป็นกลุ่มก้อนเพื่อกลับภูมิลำเนาซึ่งจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า ทรุดโทรม และเกิดการเจ็บป่วยตามมา ประกอบกับการอำนวยความสะดวกให้กำลังพลสามารถกลับไปหาครอบครัวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเป็นการช่วยสร้างขวัญและกำลังใจได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของกำลังพลให้กลับมาพร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที โดย กอ.รมน. ได้มีการพิจารณาความคุ้มค่าจากการใช้งบประมาณส่วนนี้อย่างรอบคอบทุกปี
กอ.รมน. ขอเรียนย้ำว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่ดำเนินการอยู่นี้ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน และครอบครัว มุ่งเน้นการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ โดยใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณในการช่วยกันเสนอแนะและตรวจสอบงบประมาณ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อประสานมาได้ที่ทีมโฆษก กอ.รมน. พร้อมยินดีให้ข้อมูล