ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันไม่เกิดการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ตามที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับแจ้งจากกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย โดยการประสานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เวลา 09.00 น. พบว่ามี วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 (Cesium - 137, Cs -137) มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกมีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 4 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม และมีป้ายติดรายละเอียด แสดงข้อมูลของวัสดุกัมมันตรังสี และมีสัญลักษณ์ทางรังสีขนาดเล็กติดอยู่ ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด สูญหายไปจากที่ติดตั้ง โดยวัสดุกัมมันตรังสีผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 28 ปี (ติดตั้งใช้งานในปี 2534) นั้น

วันที่ 20 มี.ค. 66 รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กิตติกวิน อรามบุญ หัวหน้าปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ร่วมแถลงสื่อมวลชนสรุปรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Cesium – 137, Cs -137) สูญหาย ในจังหวัดปราจีนบุรี  ระบุว่า

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสี ในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง วันที่ 17 มีนาคม เวลา 14.30-16.00 น.ได้แก่ บริษัท หยงซิง สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด 139 หมู่ที่ 13 ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ วันที่ 19 มีนาคม เวลา 09.30-18.30 น. ได้แก่ 2.1 บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่518/1 หมู่ที่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี 2.2 บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี 2.3 บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ที่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ 2.4 บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ที่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ

ปส.ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสี ในการตรวจสอบ เพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสี และวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีจากวัตถุต้องสงสัย ว่าเป็นสารกัมมันตรังสีหรือวัตถุที่อาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หรือไม่ ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่ง มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ โดยผู้เชี่ยวชาญของ ปส.ได้ทำการควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่า โลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ

นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสอง ที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอม และระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน

ปส.ได้ดำเนินการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด

สรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และบริเวณใกล้เคียง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว