ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 539 / 2562 ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลู น่า ยื่นฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เเละผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราวบนถนนแจ้งวัฒนะฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถึงบริเวณปั๊มน้ำมันเอสโซ่เพื่อดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.- 31 ก.ค. 2562ในช่วงเวลา 22.00น.- 04.00 น.
โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้ทราบแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้หนังสือสั่งการภายในดังกล่าวเป็นหนังสืออนุญาตให้บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง เเอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือบริษัทชิโน-ไทยฯโดยตรงจึงถือว่าไม่ได้เป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฏหมาย
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวที่สั่งการให้ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนตลอดความยาวของการก่อสร้าง โดยปิดเบี่ยงหน้าจอหนึ่งช่องทางด้านขวาชิดเกาะกลางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในพื้นราบและปิดเบี่ยงเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกในเวลากลางคืนบนสะพานข้ามแยกตั้งแต่เวลา 22.00 -04.00 น. มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.61- 30 มี.ค.64
ซึ่งการปิดเบี่ยงจราจรดังกล่าวเป็นการห้ามรถทุกชนิดวิ่งในช่องทางที่ปิดจราจรอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนนโดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่จะต้องปิดจราจรเฉพาะทางตอนใดในช่วงเวลาใดให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้น เพื่อให้มีผลกระทบต่อการใช้ถนนของประชาชนเท่าที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลาและระยะเวลาที่ขออนุญาตปิดเบี่ยงจราจรเป็นเวลาถึง 2 ปี 8 เดือน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาตปิดจราจรเป็นการชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้นเมื่อการอนุญาตปิดการจราจรในลักษณะเช่นนี้มีผลเท่ากับห้ามรถทุกชนิดวิ่งบนถนนถึงสองช่องทางตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 2ปี 8 เดือน ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 จะอนุญาตตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทได้และมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนผู้ใช้ถนนผู้ถูกฟ้องคดีที่2 ชอบที่จะต้องออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ถนนและทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา
โดยไม่อาจกำหนดเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มเติมเป็นคราวๆได้เพื่อมิให้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนเกินความจำเป็นและต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปมิฉะนั้นแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่2ไม่อาจนำข้อสั่งการตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทไปจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนอีกทั้งไม่อาจนำไปบังคับใช้ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประชาชนผู้ใช้ถนนได้
เมื่อหนังสืออนุญาตของผู้ฟ้องคดีที่สองเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนมิได้เป็นการอนุญาตหรือออกประกาศข้อบังคับให้ถูกต้องหนังสืออนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราวบนถนนแจ้งวัฒนะฝั่งมุ่งหน้าหลักสี่ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถึงบริเวณปั๊มน้ำมันเอสโซ่ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.62-31 ก.ค.62 ระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น. โดยอ้างถึงการได้รับอนุญาตตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่2 การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ศาลปกครอง จึงพิพากษาห้ามผู้ฟ้องคดีที่1 โดยบริษัทชิโน-ไทยฯ กระทำด้วยประการใดในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรในพื้นราบทุกช่องทางบนถนนแจ้งวัฒนะฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการถึงบริเวณปั๊มน้ำมันเอสโซ่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือหรือมีการออกประกาศข้อบังคับจากผู้ถูกฟ้องคดีที่2 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สำหรับคดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยเร่งด่วนตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคดีต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 25 มี.ค.62 และเมื่อวันที่ 28 มี.ค.62 ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่หนึ่งปิดการจราจรจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นหลังจากนั้นศาลปกครองได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 และมีคำพิพากษาในวันนี้รวมระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองทั้งสิ้น 18 วัน