นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาเป็นจำนวนมาก แม้ว่า อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ทำการโฆษณา และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคช่วยตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ยังคงพบปัญหาการโฆษณาอ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์และมีผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค ที่อ้างสรรพคุณรักษาดวงตานั้นไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองจึงได้ออกคำสั่ง อย. ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหาร ที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562 ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงและจะร่วมกันทำงานขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาอื่นๆ ต่อไป โดยการโฆษณาที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรักษาโรคได้ เข้าข่ายโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าที่ผ่านมายังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอยู่ในขณะนี้สามารถรักษาโรคทางตาได้จริง ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยฯ พบผู้ป่วยจำนวนมากที่หลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง โดยทางทีมได้ส่งข้อมูลทางวิชาการให้กับ อย. เพื่อดำเนินการกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาดวงตารายอื่นๆ แล้ว