ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องเล่าจากปากคำ ‘ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน’ เจตนารมณ์โยธาพญาไทบนดินแดนสนธยา ในภารกิจปกป้องถิ่นสีน้ำเงิน นามว่า ‘อุเทนถวาย’

ริมรั้วที่มีพระวิษณุกรรมประทับเรียงรายให้เห็นในย่านถนนพญาไท เบื้องหน้าอาคารเก่าแก่สีขาวตระหง่านปะทะสายตาผู้สัญจร สลักชื่อ ‘สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย’ ปรากฎป้ายสีน้ำเงิน-ขาว เด่นชัดด้วยข้อความ 

‘คัดค้านการย้ายอุเทนถวาย’ - ‘อุเทนถวาย จะยืนยง ดำรงอยู่ ปกป้องสู้ รักษ์แผ่นดิน ถิ่นอาศัย จะยืนหยัด เป็นโยธาพญาไท มิยอมถอย ให้ผู้ใด ครองแผ่นดิน’ 

ป้ายข้อความเหล่านี้คือเจตนารมณ์ร่วมของ ‘ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน’ ที่เรียกตัวเองว่า ‘ก่อสร้างอุเทนถวาย’ บนพื้นที่ราว 21 ไร่ ใจกลางกรุงที่กำลังเผชิญข้อพิพาทกับ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน และต่อสู้กันมาหลายสิบปี

อุเทนถวาย
  • ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย รวมตัวคัดค้านขอคืนพื้นที่

หลังย่างก้าวเข้าสู่พื้นที่จิตวิญญานของชาวอุเทนถวาย ภายในอาคารประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2560 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 

‘วอยซ์’ ได้พบกับ ‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย อดีตนักเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย รุ่น 42 พร้อมด้วยกลุ่มอดีตศิษย์เก่า และตัวแทนสโมสรนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 

ก่อนเริ่มบทสนทนาจากปากคำศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ‘วอยซ์’ ขอสรุปโดยย่อเพื่อทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จนถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งฝั่งอุเทนถวายและจุฬาฯ 

  • เดิมทีพื้นที่ราว 1,200 ไร่ บริเวณเชิงสะพานอุเทนถวาย ทุ่งพญาไท อยู่ในการครอบครองของรัชกาลที่ 5 โดยทรงให้ใช้พื้นที่ดินนี้เก็บผลประโยชน์เพื่อบาทจาริกา ซึ่งคำว่าบาทจาริกานั้น ตามราชบัณทิตยสถานหมายถึง ‘ภรรยาที่เป็นสามัญชนของพระมหากษัตริย์’
  • สำหรับข้อมูลจากสมุดจดหมายเหตุโรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย ระบุว่าในวันที่ 7 ม.ค. 2456 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการก่อตั้ง ‘โรงเรียนหัตถกรรม’ หรือ ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ 
  • ต่อมาในปี 2465 รัชกาลที่ 6 พระราชทานเงิน 10,000 บาท สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่อุเทนถวายในปัจจุบัน
  • หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีคำสั่งตั้งโรงเรียนวิสามัญที่เป็นโรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง โดยให้ชื่อว่า ‘โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’
  • ต่อมาในปี 2548 ได้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สอนในระดับชั้นปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอก โดยศิษย์ปัจจุบันคือรุ่น 92 
  • มีพระวิษณุกรรมยืน องค์แรกของประเทศไทย เป็นที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจ
  • ฟากจุฬาฯ ในเว็บไซต์ระบุว่าก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2442 เดิมทีมีชื่อว่าโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน ก่อนเปลี่ยนเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก
  • ปี 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • กระทั่งปี 2459 รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริจะขยายการศึกษา เพื่อรองรับผู้ประสงค์เข้าเรียนให้ทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะเพื่อรับราชการ จึงทรงโปรดเกล้าฯ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ขึ้นเป็น ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’
‘จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง’
  • ต่อมาเมื่อปี 2478 หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสมัยนั้นดำรงนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ ได้ตราพระราชบัญญัตติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้จุฬาฯ
  • เป็นจำนวนที่ดินรวม 3 แปลง เนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดยังไม่มีการแบ่งเป็นถนน
  • หลังจากหักแบ่งเป็นถนน ปัจจุบันจุฬาฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ แบ่งใช้ประโยชน์ 3 ส่วน ประกอบไปด้วย 1.พื้นที่การศึกษา 637 ไร่ 2.ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนราชการและบริการสาธารณะ 131 ไร่ 3.พื้นที่เขตพาณิชย์ 385 ไร่
  • ในปี 2516 จุฬาฯ ตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน ที่เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการเขตพื้นที่พาณิชย์ ซึ่งอยู่ในการดูแลของจุฬาฯ จำนวน 385 ไร่ 
  • ผลจากการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2478 จุฬาฯ ได้ใช้สัญญาเช่าที่อุเทนถวาย เป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ 2478-2546 เป็นหลักฐานในการถือครองกรรมสิทธิ์
  • จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวายครั้งแรกในปี 2518
  • ปี 2545 กรมธนารักษ์เคยจัดหาพื้นที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวน 36 ไร่ คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างและขนย้าย
  • แม้ว่าจะมีการทำบันทึกข้อตกลงในการขนย้ายในปี 2547 และส่งมอบที่ดินคืน แต่ก็ยังติดขัดปัญหาและไม่มีความคืบหน้า
  • หลังจากการขอคืนพื้นที่ไม่สำเร็จ ปี 2550 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีทางแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา โดย กยพ.ชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายและคืนพื้นที่
  • ปี 2556 รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ชี้แจงการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย หลังมีการรวมตัวเดินขบวนคัดค้านของอุเทนถวาย โดยระบุว่า จุฬาฯมีโครงการที่จำเป็นต้องใช้สถานที่ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และยืนยันว่าไม่มีแนวคิดนำพื้นดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ 
  • ปี 2565 สื่อหลายสำนักรายงานว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วัน ทำให้มีการรวมตัวคัดค้านจากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวายอีกครั้ง
  • ปัจจุบันอุเทนถวายยังคงเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ในระหว่างการหาข้อยุติ

“อุเทนถวายต้องคงอยู่’ 

“เมื่อรัชกาลที่ 6 ให้เอาแผ่นดินนี้ไปทำเรื่องการศึกษา แล้วถามว่าศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันกำลังรักษาทำผิดหรือไม่” ถ้อยคำของ ‘เดชา’ อุปนายกศิษย์เก่าอุเทนถวาย เริ่มบทสนทนาด้วยการชวนสังคมตั้งคำถามถึงการเคลื่อนไหวของพี่น้องร่วมรั้วถิ่นสีน้ำเงิน

20231109_141359.jpg
  • พระราชประสงค์ รัชกาลที่ 6

“วันนี้ยืนยันว่าเราจะอยู่ตรงนี้ อยู่ด้วยความถูกต้อง อยู่ตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 6 เราไม่ไปไหนแน่นอน” อดีตนักเรียนรุ่นที่ 42 ย้ำด้วยความหนักแน่น

พร้อมกล่าวถึงข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นหากไม่ลุกขึ้นสู้ “รัชกาลที่ 6 ต้องการให้ทำการศึกษา ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ถ้าไม่มาหาทางออกร่วมกัน เชื่อว่าในอนาคตพื้นที่บริเวณแถวนี้จะเป็นพื้นที่ให้เช่าโดยอยู่ภายใต้จุฬาฯทั้งหมด ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบริเวณรอบข้างอุเทนถวายตอนนี้ที่เป็นศูนย์การค้าต้องเสียค่าเช่าให้จุฬาฯ ในระยะเวลา 30 ปี”

เดชายืนยันว่าการต่อสู้ครั้งนี้ของชาวอุเทนถวาย ไม่ใช่การดื้อรั้นแม้ว่าจะมีข่าวศาลปกครองสูงสุดออกคำสั่งให้ย้าย แต่ที่ผ่านมาคำสั่งศาลที่สื่อมวลชนกล่าวอ้างนั้น ทางสมาคมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ไม่เคยเห็นเอกสารหรือหลักฐานที่ออกมาจากศาลปกครองสูงสุดเลย

อย่างไรก็ดีจากการพูดคุยระหว่างสมาคมศิษย์เก่าและผู้บริหารสถาบัน หลังมีกระแสข่าวย้ายอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 ทางผู้บริหารยืนยันกับเดชาว่าไม่ได้ลงนามในการย้ายออกจากพื้นที่แต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดคุยกัน 

โดยมี ‘ศุภมาศ อิศรภักดี’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมด้วย ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งจะมีสมาคมศิษย์เก่าและสโมสรนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วม

ในฐานะตัวแทนศิษย์เก่า เดชาตั้งเป้าหมายในการเข้าไปพูดคุยครั้งนี้ คือจุฬาฯและอุเทนถวายจะหาทางออกร่วมกัน เพราะที่ดินตรงนี้คือที่ดินของพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ทั้งสองสถาบัน ควรมาช่วยกันสนับสนุนให้เป็นแผ่นดินแห่งการศึกษาที่แท้จริง โดยให้ภาครัฐเป็นตัวกลางในการจับมือระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาฯ ในการพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน

“ผมยืนยันว่าในเมื่อที่แห่งนี้ได้มาจากราชวงศ์จักรี ได้มาจากรัชกาลที่ 6 ถ้าจะคืนผมไม่ได้จะคืนให้จุฬาฯ นะครับ และทุกคนที่เป็นศิษย์เก่าก็มีความคิดแบบนี้ ถ้าจะคืนกลับไปผมก็จะคืนให้กับพระมหากษัตริย์ที่ท่านมอบให้เรา เราจะรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้เท่าชีวิตพวกเรา ให้ลูกหลานของเราได้เติบใหญ่เป็นครูช่าง สร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ” เดชา น้อมนำตามพระราชประสงค์ รัชกาลที่ 6


ศรัทธาถิ่นสีน้ำเงิน

“ผมในนามตัวแทนนักศึกษาปัจจุบัน พวกผมเลือกมาเรียนที่อุเทนถวาย เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน พวกผมศัทธาและอยากเรียนจบที่นี่ การที่จะให้ย้ายไปที่อื่นมันกระทบในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องค่าใช้จ่าย ถ้าย้ายพวกออกไปนักศึกษาจะอยู่อย่างไร และอยากถามผู้บริหารสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ว่าจะเอาที่แห่งนี้ไปทำไม” ทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา กล่าวถึงความกังวลจากการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย

แน่นอนว่าภาพจำของสังคมบางส่วนอาจมองว่าเด็กอุเทนถวายมักจะใช้ความรุนแรง และควรออกย้ายไปเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างสถาบัน ตัวแทนนักศึกษาปัจจุบันรายหนึ่ง ระบุว่าในเรื่องดังกล่าวมันเป็นเพียงช่วงหนึ่งของวัยรุ่น ทุกสถาบันก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่อยากให้สังคมมองในด้านดีของเด็กอุเทนถวายบ้าง ที่ผ่านมานักศึกษาทุกรุ่นก็ได้เดินทางไปสร้างโรงเรียน สร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดารหลายแห่ง 

อุเทนถวาย
  • สัญลักษณ์นักศึกษาอุเทนถวาย

ขณะที่นักศึกษารายหนึ่ง ได้เสนอไปยังรมว.อุดมศีกษาฯ ขอให้เล็งเห็นความสำคัญของนักศึกษาในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะที่ผ่านมาในการพูดคุยมีเพียงการเชิญผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ในอนาคตหากมีการพูดคุย ควรให้พื้นที่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเข้าไปมีส่วนร่วมหาทางออก


‘ศักดิ์ศรีคนอุเทนถวาย’

“เราตั้งกันมานานมากจะร่วมร้อยปีแล้วครับ สมัยที่ผมเป็นครูที่นี่ มีผู้ใหญ่ที่ทำงานในศาลที่เคารพท่านหนึ่งเรียกไปพบกรณีที่จะย้ายอุเทนถวาย ท่านบอกว่าในเรื่องกฎหมายค่อนข้างจะเสียเปรียบ เพราะมีล็อกด้วยกระบวนการบางอย่าง วิธีที่จะชนะได้คือเอาศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของมวลชน เอามาพูดเรื่องข้อเท็จจริงตรงนี้ ให้ประชาคมทั้งโลกรับรู้ว่าพื้นที่อุเทนถวายจะต้องไปเพราะอะไร ที่ดินได้มายังไง แล้วทำไมต้องย้ายออกจากที่นี่”

สมศักดิ์ รัตนเชาร์ ศิษย์เก่ารุ่น 34 อดีตประธานคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินอุเทนถวาย ซึ่งเป็นทั้งลูกหม้อในยุคสวมใส่ขาสั้น และยังเกษียณอายุในฐานะครูจากสถาบันแห่งนี้ บอกกล่าวถึงคุณค่าที่ควรรักษาผืนดินนี้ไว้

“โครงสร้างของเด็กอุเทนถวาย เขารักสถาบันอยู่แล้ว คนที่เป็นอุเทนแท้ๆเขาไม่ยอมหรอกครับ ผมเรียนที่นี่ เป็นครูที่นี่ ผมขายบ้านตัวเองไม่ได้แน่นอน”

ศิษย์เก่ารุ่น 34 ย้ำว่าหากอุเทนถวายจะต้องย้ายไปเพราะความไม่ชอบธรรม ชายรุ่นใหญ่ผู้นี้ขอยอมถวายชีวิตเพื่อบ้านแห่งนี้

“ผมไปกราบองค์พ่อ (พระวิษณุกรรม) ถ้าอุเทนถวายต้องย้ายโดยไม่ชอบธรรม ผมสู้ตาย ผมยอมตายที่นี่”


เงินบังตาการศึกษา

“แต่ก่อนจุฬาฯกับอุเทนถวาย เราเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องกัน ไม่เคยแยกกันเลย จนมาตั้งสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เริ่มมาบริหารจัดการผลกำไร สิ่งพวกนี้มันทำให้เงินมาบังตาการศึกษา ทำให้ลืมไปว่าอุเทนถวายคือน้องจุฬาฯ เรามาจากพ่อคนเดียวกัน พ่อที่ให้ที่ตรงนี้เพื่อการศึกษา แต่สุดท้ายทำไมพี่ถึงจะทิ้งน้องไป” ‘วริษฐ์ พัฒนะ’ ศิษย์เก่าอุเทนถวายรุ่น 70 ผู้ร่วมภารกิจปกป้องสถาบัน ตั้งคำถามไปยังจุฬาฯ 

เขามองว่าทั้งสองสถาบันมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน จากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ต้องการให้ผืนดินนี้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษา ไม่ใช่การมุ่งหวังในเรื่องผลประโยชน์

“ถ้าเรารักสมัครจิต ก็ต้องคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ําเงินคือ ที่รวมรักสมัครคง” 

เขาชี้ไปที่ตึกขาวสูงใจกลางอุเทนถวาย ซึ่งประทับคติพจน์ที่หลอมลวมชาวอุเทนถวายให้เป็นปึกแผ่น โดยถือกำเนิดจาก ‘สว่าง สุขัคคานนท์’ หรือชาวอุเทนถวายมักคุ้นด้วยชื่อ ‘ป๋าหว่าง’ อดีตอาจารย์ใหญ่ของชาวก่อสร้างอุเทนถวาย

“เราเข้ามาที่นี่เราถูกหล่อหลอมรวมกัน ทำให้เรามีจิตอันเดียวกัน ทุกคนที่เคยอยู่ที่นี่อยู่ถิ่นสีน้ำเงิน ผมเชื่อว่าทุกคนจะรักกันแบบนี้ตลอดไป ทุกคนจะไม่ลืมที่นี่”

PAT_4011.jpg
  • ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย ร่วมถ่ายรูปหน้าพระวิษณุกรรม
พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog