ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' เผยหากโหวตนายกฯ ครั้งแรกเสียงไม่ถึง นัดโหวตต่อ 19 ก.ค. ถ้ายังไม่ผ่านค่อยนัดหาวันที่เหมาะสม ชี้ถ้า 'พิธา' โหวตไม่ผ่านรอบแรก ยังเสนอซ้ำได้อีก ไม่ถูกตัดสิทธิ

6 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานรัฐสภา และว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังเดินทางเข้าประชุมร่วมกับสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และข้อปฏิบัติในพระราชพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ เวลา 10:00 น. วันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.)

กรณีหากโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ผ่าน สามารถรอเสนอครั้งที่ 2 หรือ 3 นั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ได้มีระบุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมสภาฯ แต่เราคาดอะไรไม่ได้ อาจจะโหวตกันจบตั้งแต่วันแรกคือวันที่ 13 ก.ค. เลยก็ได้ แต่หากไม่ครบ 376 เสียง ต้องมีการประชุมกันอีกรอบแน่นอน รวมถึงต้องดูหน้างานว่าขาดเสียงอีกเท่าใด และเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาปรึกษากัน ต้องร่วมมือใช้เวลาของสภาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ขณะนี้ประชาชนเขารอให้มีรัฐบาลใหม่

สำหรับวันที่ 13 ก.ค. หากโหวตนายกฯ ไม่สำเร็จ ก็จะเรียกประชุมต่อไปในวันที่ 19 ก.ค. เพราะเวลาเหมาะสม เพื่อให้สำนักเลขาธิการสภาฯ ทำหนังสือแจ้งไปได้ภายหลัง รวมทั้งเป็นวันพุธซึ่งเป็นวันสำหรับประชุมสภาอยู่แล้ว และทางประธานวุฒิสภาก็สะดวกในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากยังโหวตไม่ได้ ก็จะกำหนดวันประชุมที่เหมาะสมต่อไป ขึ้นอยู่กับหน้างาน

สาเหตุที่เว้นระยะไว้ 7 วัน ไม่ได้มีกำหนดในข้อบังคับ แต่เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมโดยพร้อมกัน เพราะการกำหนดสมัยประชุม สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมในวันพุธและวันพฤหัส ขณะที่วุฒิสภาจะประชุมกันในวันจันทร์และอังคาร จึงเห็นร่วมกันว่าวันพุธน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เพราะไม่ชนกับทั้งวันประชุมวุฒิสภาและประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ส่วนจะให้โอกาสเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กี่ครั้งนั้น ตนไม่สามารถจะตอบได้ อาจจะผ่านในวันที่ 13 ก.ค. หรือ 19 ก.ค. ก็ได้ แต่การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อเดียว อย่างเช่นปี 2562 ก็มีการโหวต 2 ชื่อ แข่งขันกัน และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเกิน ก็จบในวันนั้น

แต่ในกรณีหากเสนอชื่อผู้ใดไปแล้ว และคะแนนไม่ถึง ก็ไม่สามารถเสนอชื่อเดิมซ้ำในวันเดียวกันได้อีก แต่ในการประชุมนัดต่อไปนั้น ก็สามารถเสนอชื่อคนเดิมหรือมากกว่า 1 ชื่อ ก็ได้เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เคยเสนอชื่อไปแล้วคะแนนไม่ถึง แล้วจะเสนอชื่อเดิมไม่ได้อีก

"เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเสนอรอบเดียว แล้ว ถ้าคะแนนไม่ถึงถือว่าตก นั่นคือกติกาของการเลือก ป.ป.ช. ของวุฒิสภา คือหากคะแนนไม่ครบก็หมดสิทธิ แล้วต้องเอาผู้ที่ได้รับการสรรหามาโหวตอีกครั้ง แต่การโหวตนายกฯ ตามมาตรา 272 เป็นหลัก ค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว" วันมูหะมัดนอร์ กล่าว