ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าไทยจับมือ กทม.เตรียมความพร้อมหน่วยฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 14 จุด เริ่มบริการประชาชนเดือน มิ.ย.นี้ เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 พ.ค.นี้ พร้อมแจงเหตุผลหลีกทางรัฐนำเข้าวัคซีนเป็นหลัก เนื่องจากหวั่นสร้างความสับสน-แย่งกันซื้อ-ราคาพุ่ง หลังรัฐยืนยันจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีที่หอการค้าไทยระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกเพิ่มเติม หลังจากได้มีการหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า

เดิมรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนเพียง 2 ราย คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าน้อยและอาจจะล่าช้า ดังนั้นภาคเอกชนจึงได้มีการไปเจราจากับผู้ผลิตรายอื่นนอกเหนือจาก 2 รายข้างต้น เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ รวมไปถึงสปุตนิกไฟว์

แต่ต่อมาภายหลังรัฐบาลยืนยันว่าจะจัดหาวัคซีนทางเลือกมากกว่า 2 ราย เพื่อฉีดให้ประชาชน 70% หรือ 50 ล้านคนได้ภายในปีนี้ ดังนั้นภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องจัดหามาเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันการเจรจาของภาคเอกชนกับผู้ผลิตที่จะได้วัคซีน คือเร็วที่สุดในช่วงสิ้นปี หรือในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งถือว่าล่าช้าเกินไป ไม่ทันแผนการเปิดประเทศ

นอกจากนี้การเจราจาระหว่างภาคเอกชนกับผู้ผลิตอาจจะสร้างความสับสันในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้ เนื่องจากซัพพลายเออร์มีจำกัด และมุ่งการนำเข้าวัคซีนแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

ดังนั้นเอกชนจึงตัดสินใจที่จะเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน เช่น การเตรียมความพร้อมรองรับจุดกระจายวัคซีนทั่วประเทศ โดยเปิดทางให้รัฐบาลเป็นผู้เจรจาในการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดความรวมเร็วใการจัดหาวัคซีนทางเลือก แต่ยังเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจในการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมได้อยู่ เพราะจะทำให้รู้จำนวนความต้องการที่ชัดเจนมากขึ้น

ด้าน กฤษณะ วจีไกรลาส กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลเป็นผู้เจราจาจะรวดเร็วมากกว่าภาคเอกชน ซึ่งหากนำเข้าโดยภาครัฐจะมีความสะดวกและคล่องตัวมากกว่าภาคเอกชน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเปิดทางให้รัฐบาลนำเข้าเป็นหลัก

โดยการที่ภาคเอกชนติดต่อเจราจากับผู้ผลิตนั้นกระบวนการต้องขอเอกสารรับรองต่างๆ เช่น อย. หากภาคเอกชนนำเข้าจะต้องยื่นเอกสารเข้ามาค่อนข้างมากถือเป็นอุปสรรคสำคัญ

อย่างไรก็ตามยืนยันจะสนับสนุนรัฐบาลในการจัดหาวันซีนทางเลือก เนื่องจากภาคเอกชนได้เจราจากับผู้ผลิตบางส่วนไว้แล้ว โดยเบื้องต้นได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อ

“ถ้าเราไม่หยุด จะเป็นการแบ่งซื้อ ราคาจะขึ้น และการเจราจาจะนานขึ้น” กฤษณะ กล่าว


เตรียมหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. 14 แห่งบริการประชาชน มิ.ย.นี้

ขณะที่วันนี้ (30 เม.ย. 2564) หอการค้าไทยได้จัดประชุมร่วมกับทีมปฏิบัติงานด้านสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน 14 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสถานที่แต่ละแห่งในการเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ขั้นตอนในการฉีดวัคซีน บุคลากร และอุปกรณ์จำเป็น โดยจะเริ่มเตรียมสถานที่ตั้งแต่เดือน พ.ค. เพื่อพร้อมให้บริการประชาชนในเดือน มิ.ย.-ธ.ค.นี้

สำหรับพื้นที่ทั่ง 14 แห่งประกอบด้วย เอสซีจีบางซื่อ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ โรบินสันไลฟ์สไตล์ลาดกระบัง ห้างโลตัสสาขามีนบุรี สามย่านมิตรทาวน์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ธัญญาพาร์ค เอเชียทีค เซ็นทรัลพลาซาปิ่นเกล้า ไอคอนสยาม  สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาพระราม2 (ขาออก) เดอะมอลล์บางแค และ บิ๊กซีสาขาบางบอน

จุดกระจายวัคซีน

โดยสถานที่แต่ละแห่งจะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการได้ตามสถานการณ์

จุดกระจายวัคซีน

สำหรับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง จะให้บริการแก่ประชาชนที่ผ่านการจองคิวรับวัคซีนมาก่อน โดยกระบวนการให้บริการวัคซีนที่หน่วยมี 5 ขั้นตอน โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อรายประมาณ 45 นาที คือ

  • 1. การลงทะเบียน/ชั่งน้ำหนัก/วัดความดัน
  • 2. คัดกรอง/ซักประวัติ
  • 3. ฉีดวัคซีน
  • 4. สังเกตอาการ
  • 5. รับใบนัด/คำแนะนำ

 

ลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข

สำหรับหน่วยบริการนอกโรงพยาบาลข้างต้นจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่จะรับวัคซีนทาง LINE Official Account V.2 ‘หมอพร้อม’ หรือแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’

โดยสามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์แล้วประชาชนสามารถจองรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการวัคซีนที่มีในกรุงเทพมหานคร หรือหากไม่สะดวกลงทะเบียนทางไลน์สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน