เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และผู้บริหารจาก 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ กูเกิล ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอมะซอน ร่วมลงนาม 'ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ช' เพื่อนำไปสู่หลักปฏิบัติด้านการกำจัดแนวคิดก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงสุดโต่งในสื่อออนไลน์ (Christchurch Call to Action To Eliminate Terrorist and Violent Extremist Content Online)
การหารือ-ผลักดันจนเกิด 'ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ช' มีสาเหตุจากกรณีมือปืนชาวออสเตรเลียผิวขาว วัย 28 ปี ก่อเหตุกราดยิงผู้คนในมัสยิด 2 แห่งที่เมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 51 ราย
ผู้ก่อเหตุซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมผิวขาวได้ถ่ายทอดสดเหตุกราดยิงผ่าน 'เฟซบุ๊กไลฟ์' รวมถึงนำลิงก์ของคลิปก่อเหตุ ความยาว 17 นาที ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกลุ่มชาตินิยมผิวขาวอีกด้วย
แม้มือปืนคนดังกล่าวจะถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่คลิปวิดีโอการก่อเหตุซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นำไปเผยแพร่ต่ออย่างรวดเร็ว และบริษัทผู้ให้บริการด้านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อกำจัดคลิปการก่อเหตุ แต่ก็ไม่อาจป้องกันได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีผู้ดาวน์โหลดวิดีโอไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ทั้ง 5 แห่งจึงประกาศว่าจะร่วมมือกันด้านการป้องกันไม่ให้เนื้อหาดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำในสื่อสังคมออนไลน์ของตน โดยจะปรับแก้กฎการใช้งานสื่อออนไลน์ให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการผลักดันจากผู้นำนิวซีแลนด์และแคนาดา แต่ไม่มีท่าทีใดๆ จากผู้นำสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีทั้ง 5 แห่ง เช่นเดียวกับผู้นำรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของผู้ก่อเหตุกราดยิงมัสยิดไครสต์เชิร์ชก็ไม่ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงนี้แต่อย่างใด
เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า สถิติอาชญากรรมในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกี่ยวโยงกับความเกลียดชัง (hate crimes) และความเกลียดกลัวต่ออิสลาม หรือ Islamophobia เพิ่มสูงขึ้นอย่างนัยสำคัญนับจากเดือน มี.ค.ที่เกิดเหตุกราดยิงที่มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช
ทั้งนี้ มีผู้แจ้งความว่าถูกคุกคามหรือทำร้ายกว่า 1,630 คดีในกรุงลอนดอนหลังเดือน มี.ค. โดย 156 คดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับความเกลียดกลัวอิสลาม ถือเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และผู้ที่ถูกคุกคามมีทั้งชาวมุสลิมที่ถูกดักตีหัวบริเวณมัสยิด ผู้หญิงมุสลิมที่ถูกกระชากผ้าคลุมผมออกขณะอยู่ในขบวนรถไฟใต้ดิน แต่ตำรวจอังกฤษไม่ยืนยันว่า คดีที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมทั้งหมดเกี่ยวโยงกับเหตุกราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช
อย่างไรก็ตาม อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่พบสถิติอาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มสูงขึ้น โดยสื่อเยอรมันรายงานว่า สถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังยิวและชาวต่างชาติทั่วประเทศเยอรมนี มีจำนวนทั้งหมด 7,701 คดีในปี 2018 หรือเพิ่มขึ้น 19.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งแม้สถิติดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช แต่ก็เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมเยอรมันที่พยายามส่งเสริมแนวคิดพหุวัฒนธรรมอย่างหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ไฮโก มาส รัฐมนตรีฝ่ายต่างประเทศของเยอรมนี ระบุว่า การต่อสู้กับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง รวมถึงแนวคิดต่อต้านชาวยิวและชาวต่างชาติ ต้องปลูกฝังในระบบการศึกษาทั่วทั้งเยอรมนีและยุโรป เพราะความเกลียดชังชนชาติยิวและการใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยในยุโรป กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง การต่อต้านแนวคิดสุดโต่งเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งฝ่ายการเมืองและภาคประชาสังคม
ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชและการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมจากความเกลียดชังในยุโรป ก็ได้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ก่อเหตุโดยนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นที่สหรัฐฯ
เดอะการ์เดียนรายงานว่า นี่เป็นนิทรรศการที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดในแถบอเมริกาเหนือ และเป็นนิทรรศการที่ชาวอเมริกันควรไปชม ทั้งยังจะต้องนำนิทรรศการไปจัดแสดงยังเมืองอื่นๆ ทั่วโลกด้วย เพื่อให้คนในยุคปัจจุบันได้เรียนรู้อดีตอันโหดร้ายและป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
เนื้อหาในนิทรรศการตอนหนึ่ง ได้นำคำพูดของ 'พริโม เลวี' ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิตซ์มาจัดแสดง โดยเขาระบุว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันจึงอาจเกิดขึ้นได้อีก ใจความสำคัญที่ต้องพูดถึงก็คือ มันอาจเกิดขึ้นอีก และอาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่
หลุยส์ เฟอร์เรโร ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ Auschwitz: Not long ago. Not far away ที่พิพิธภัณฑ์ Jewish Heritage ในย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการนำของใช้ คำบอกเล่า และภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในค่ายกักกันเอาชวิตซ์ในโปแลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นค่ายที่นาซีเยอรมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นักโทษชนชาติต่างๆ รวมกว่า 1.3 ล้านคน ทั้งชาวยิว โปแลนด์ ทหารโซเวียต กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ผู้พิการด้านต่างๆ และชาวโรมา
เฟอร์เรโรย้ำว่า "ความเกลียดชังไม่ได้สร้างขึ้นชั่วข้ามคืน" และห้องรมแก๊สที่ทำให้คนตายไปนับล้านในค่ายกักกันเอาชวิตซ์ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่แนวคิดเกลียดชังชาวยิวหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ของชนชาติแถบยุโรปมานานแล้ว คนทั่วโลกจึงควรต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจว่า "หนทางที่นำไปสู่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์นั้นมีต้นทางจากอะไรกันแน่"
เฟอร์เรโรกล่าวว่า ชาวยุโรปเคยสังหารหมู่ชาวยิวมาก่อนในหลายช่วงของประวัติศาสตร์ โดยศตวรรษที่ 14 เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 25 ล้านคน และชาวคริสต์ในยุโรปกล่าวหาว่าชาวยิวเป็นผู้แพร่เชื้อโรค ทำให้ชาวยิวหลายหมื่นคนถูกนำไป 'ฆ่าทิ้ง' และในศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองเยอรมนีได้ออกคำสั่งให้ผู้มีเชื้อสายยิวติดสัญลักษณ์แสดงตนเพื่อบ่งชี้ความแตกต่างกับชาวเยอรมันที่ไม่ได้มีเชื้อสายยิว
การเลือกปฏิบัติและความเกลียดชังที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ยุโรป ส่งผลต่อแนวคิดและทัศนคติของคนรุ่นหลังที่มีต่อชาวยิว นำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการสังหารหมู่หรือการกำจัดผู้ที่ 'แตกต่าง' จากแนวทางของคนหมู่มาก
สิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็น 'หวีเหล็ก' ที่เชลยหญิงในค่ายกักกันแอบนำเศษโลหะจากโรงงานมาทำ แม้ว่าขณะนั้นเธอจะถูกกล้อนผมทิ้งทั้งศีรษะ แต่หวีดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจว่า "ชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป" สักวันหนึ่งเธอจะต้องรอดและมีผมยาวสลวยเหมือนเดิม
ขณะที่สิ่งของอื่นๆ ได้แก่ กระดาษจดบันทึก คำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน รวมถึงเครื่องแต่งกายของเชลย และเฟอร์เรโรคาดหวังว่า สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ชมนิทรรศการตั้งคำถามถึง 'ความเป็นมนุษย์' ของผู้ที่ถูกมองว่า 'แตกต่าง' จากตัวเอง
เขาหวังด้วยว่า การมองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นจะเป็นการเอาชนะ 'ความเกลียดชัง' ที่เกิดขึ้นในใจคนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: