พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นอัตราดอกเบี้ยหนนี้สาธารณะ ว่าเปรียบเหมือนมะเร็งร้ายทางการเงิน ที่แพร่เชื้อลุกลามเข้าสู่ปวงชนที่ยากต่อการรักษา
เขาชี้ว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของรัฐบาล ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.42 และดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของรัฐวิสาหกิจ ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 2.48 จากรายงานหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 9,828,268.17 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 60.17 แยกเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้ จำนวน 8,720,929.74 ล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.42 ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 211,046.48 ล้านบาทเศษต่อปี และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 843,328.46 ล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.48 ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 20,914.53 ล้านบาทเศษต่อปี ดังนั้นรวมหนี้สาธารณะปัจจุบันจำนวน 9,828,268.17 ล้านบาท จะต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 231,961.01 ล้านบาทเศษต่อปี ซึ่งเมื่อรวมเงินต้นที่ครบกำหนดชำระพร้อมดอกเบี้ย รัฐบาลไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้ได้ เพราะงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินที่มี ‘รายจ่ายประจำ’ มากกว่า 2.1 ล้านล้านบาทต่อปี (งบประมาณปี 2566 เป็นรายจ่ายประจำมากถึง 2,396,942.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.26 ของวงเงินงบประมาณ) แนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจึงไม่มีนอกเสียจากการ “กู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่า” หรือเรียกว่า “เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งวิธีการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าที่ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แล้วยังมีภาระดอกเบี้ยที่วิ่งไม่หยุดทำให้หนี้เพิ่มขึ้นที่เป็นมะเร็งร้ายที่แพร่เชื้อลุกลามไม่หยุด
นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังส่งผลให้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายของรัฐบาลต่างประเทศให้สูงขึ้น นักลงทุนจึงอาจย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศไทยเพื่อไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า รัฐบาลไทยจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยแข่งขัน
ดังนั้น ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะของไทยก็จะถูกปรับสูงขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลยังคงอัตราดอกเบี้ยราคาถูกเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ทั้งตนเองและเอกชนรายใหญ่ แต่ประชาชนทั่วไปยังลำบากเพราะส่วนต่างดอกเบี้ยรายย่อยยังคงสูงอยู่มาก
การกู้หนี้ของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจสภาวะการปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องกู้เพราะรัฐบาลไม่สามารถหารายได้ให้พอกับความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณได้ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเติมโตช้ามาก รวมทั้งมีความจำเป็นนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ การนำงบประมาณช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความยากไร้ คุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตราฐาน ช่วยเหลือด้านสวัสดิการพื้นฐาน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจำเป็นต้องมีการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ทุกปี ๆ ละหลายแสนล้านบาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 สูงถึง 675,000-700,000 ล้านบาท และยิ่งต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของรัฐบาลเข้าสู่ภาวะเปราะบางทางการเงิน คือมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงขึ้นจากร้อยละ 43 ในปี 2557 จนเกินร้อยละ 60 ในปี 2565 ทำให้ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลต้องขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70แต่จากการศึกษาของต่างประเทศโดย IMF ให้คำแนะนำว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 เพราะถ้าเกินระดับนี้ไปแล้วอาจมีภาระหนี้มากเกินไปที่บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกระทบกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลว่าก่อหนี้เกินตัวหรือไม่ นักลงทุนต่างประเทศอาจมองว่า มีความเสี่ยงมากเกินไป ฐานะทางการคลังไม่ดี เศรษฐกิจอาจไม่มีเสถียรภาพ
การกู้หนี้ของรัฐบาลจะกู้เงินในประเทศแทบทั้งหมด โดยผ่านเครื่องมือต่าง ๆ สามารถจำแนกฐานนักลงทุน ได้แก่ 1. เครื่องมือพันธบัตรรัฐบาล และ ตั๋วเงินคงคลัง ประมาณร้อยละ 79 ที่เป็นการกู้จากนักลงทุนสถาบันผ่านตลาดตราสารหนี้ประกอบด้วย กองทุนรวม สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักประกันสังคม และนักลงทุนต่างประเทศ 2.เครื่องมือตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญากู้ยืมเงิน ประมาณร้อยละ 15 ที่เป็นการกู้เงินโดยตรงจากสถาบันการเงิน ได้แก่ธนาคารของรัฐกับธนาคารพาณิชย์ และ 3. เครื่องมือพันธบัตรออมทรัพย์ ประมาณร้อยละ 6 ที่เป็นการกู้เงินที่ระดมทุนจากภาคประชาชนเพื่อกระจายฐานนักลงทุนและกระทรวงการคลังควรส่งเสริมการออมของภาคประชาชน เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
จะเห็นว่านักลงทุนตามกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 แทบทั้งหมดเป็นสถาบันการเงินหรือกลุ่มธนาคารที่เป็นตัวกลางใช้เงินฝากประชาชนที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25-50 สตางค์ หรือร้อยละ 0.25-0.50 ถ้าเป็นธนาคารออมสิน 25 สตางค์หรือร้อยละ 0.25โดยสถาบันการเงิน สามารถบริหารเงินฝากโดยเอาไปให้รัฐกู้ดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.42-2.48 และบางส่วนนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยราคาถูกให้เอกชนรายใหญ่ ดีกว่าให้ประชาชนรายย่อยกู้ เพราะปลอดภัย มีต้นทุนดูแลต่ำ และมีส่วนต่างของดอกเบี้ยสูง สถาบันการเงินจึงเป็น “เสือนอนกิน” สบายกว่ากันเยอะเลย รวมถึงดีกว่าให้ SME กู้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในปัจจุบัน การที่รัฐบาลกู้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นการช่วยคนรวยที่เป็นนายทุนสถาบันการเงินที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้มั่งคั่งมากขึ้น เป็นการแย่งเงินทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะประชาชนและ SME ที่กำลังประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะสถาบันการเงินไม่ให้กู้เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง รวมทั้งการกู้เงินภาครัฐดังกล่าว ตามสัดส่วนการกู้เงินของรัฐบาลผ่านการออกพันธบัตรในประเทศ อาจสร้างปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินในอนาคต
ข้อมูลจากการรายงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ของรัฐบาล ตามแผนภาพ ต้องยอมรับว่า ธนาคารเป็นตัวกลางที่ให้รัฐกู้เงิน อาจในรูปสถาบันการเงิน บริษัทประกัน กองทุนต่าง ๆ จึงมีรายได้และกำไรค่อนข้างดี
ที่น่าห่วงใยคือในแต่ละปีงบประมาณรัฐบาลใช้จ่ายเงินลงทุนล่าช้า ไม่โปร่งใส ขาดประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตของ GDP ทำให้ประชาชนเสียโอกาส และต้องมีภาระดอกเบี้ยที่เดินหน้าไม่หยุด จากข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) พบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 พบว่าผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จากระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) กรมบัญชีกลาง งบประมาณจำนวน 3,285,962 ล้านบาทเศษ มีการเบิกจำนวน 3,012,156 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นร้อยละ 91.67 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายรายจ่ายภาพรวม ร้อยละ 8.33 หรือมีงบประมาณคงเหลือจำนวน 273,806 แสนล้านบาทเศษ
ถือว่ารัฐบาลไม่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เงินงบประมาณที่ใช้จ่ายล่าช้า นอกจากไม่สร้างมูลค่าการลงทุนทางเศรษฐกิจแล้วยังต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นภาระของประชาชน ซึ่ง “ดอกเบี้ย” เสมือนมะเร็งร้ายทางการเงินที่แพร่เชื้อลุกลามเข้าสู่ปวงชนที่ยากต่อการรักษา ตัวอย่าง งบประมาณรายจ่ายปี 2565 พบว่ารัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ภาครัฐรวมจำนวน 363,269 ล้านบาท ใช้หนี้เงินต้นเพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นดอกเบี้ยมากถึง 263,269 ล้านบาท ยังอยู่ในวังวน “กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า” (ใช้ดอกเบี้ย) ที่แทบมองไม่เห็นอนาคตว่าเมื่อไรจะใช้หนี้หมด และจากรายงานการเงินแผ่นดินที่รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 การที่รัฐบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ที่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไทยเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะการล้มละลาย จึงเป็นห่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่แทบมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประชาชนชาวไทยเลย