ไม่พบผลการค้นหา
การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ 'จอร์จ ฟลอยด์' ชายผิวดำซึ่งถูกตำรวจใช้กำลังจับกุมจนตาย ทำให้เกิดจลาจลในหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิยกพลมาช่วยตรึงกำลัง 'รักษาความสงบ' ขณะที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตระบุ ตำรวจต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

'จอร์จ ฟลอยด์' ไม่ใช่ชาวแอฟริกันอเมริกันรายแรกที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมของตำรวจและคลิปวิดีโอที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่งชี้ว่าตำรวจใช้หัวเข่ากดต้นคอด้านหลังของเขาให้คว่ำลงไปกับพื้น จนหมดสติ เป็นเหตุให้คนอเมริกันจำนวนมากประณามว่า นี่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

ผู้ประท้วงจำนวนมากออกมารวมตัวบนท้องถนนในเมืองมินนิแอโพลิส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ฟลอยด์ นำไปสู่การจลาจลในบางพื้นที่ ทำให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประธานาธิบดีประกาศว่า 'กองทัพ' จะอยู่เคียงข้างเจ้าหน้าที่รัฐ


25 พ.ค.2563 

ตำรวจในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งบนถนนชิคาโก ระบุว่าชายคนหนึ่งซื้อบุหรี่ด้วยธนบัตรปลอม และมีท่าทางมึนเมา ทั้งยังเป็นชายร่างสูงใหญ่เกือบ 2 เมตร

บทบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้แจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรับเรื่อง ถูกนำมาเผยแผร่ผ่านสื่อภายหลัง บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ถามถึงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนเชื้อชาติไหน ผิวขาว ผิวดำ ฮิสปานิก ชนพื้นเมือง หรือเอเชีย และผู้แจ้งเหตุตอบว่า เป็นคนผิวดำ

หลังจากนั้นตำรวจ 4 นายมุ่งหน้าไปที่เกิดเหตุ และพบกับ 'จอร์จ ฟลอยด์' วัย 46 ปี นั่งอยู่ในรถส่วนตัวที่จอดอยู่บริเวณร้านดังกล่าว 

ตำรวจสั่งให้ฟลอยด์ลงจากรถ และหนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ได้จับฟลอยด์คว่ำหน้าลงกับพื้น พร้อมทั้งใช้เข่ากดที่ด้านหลังคอของฟลอยด์ แม้เขาจะร้องบอกว่า 'หายใจไม่ออก' แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปล่อยตัว หลังจากผ่านไปหลายนาที ฟลอยด์นิ่งไปเพราะหมดสติ และตำรวจเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินมายังที่เกิดเหตุ

ฟลอยด์ถูกส่งไปโรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเสียชีวิตในเวลาราวหนึ่งชั่วโมงต่อมา

AFP-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-2.jpg

26 พ.ค.2563
  • เว็บไซต์ Insider รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของสำนักงานตำรวจมินนิแอโพลิส ระบุว่า ฟลอยด์ขัดขืนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ 2 นายต้องใส่กุญแจมือเพื่อควบคุมตัว เนื่องจากได้รับแจ้งเหตุเกี่ยวกับคดีฉ้อโกง พร้อมทั้งย้ำว่าจะไต่สวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว
  • ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Lahavah Hila เผยแพร่วิดีโอพร้อมติดแฮชแท็กเรียกร้องความเป็นธรรมให้ฟลอยด์ #JusticeforFloyd พร้อมระบุว่า ข้อหาที่มีต่อฟลอยด์ไม่ได้มีบทลงโทษถึงตาย แต่เขาตายไปก่อนตั้งแต่ถูกจับกุม ส่วนวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ขณะฟลอยด์ถูกคุมตัว บ่งชี้ว่าฟลอยด์ไม่มีอาวุธ และไม่ได้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์พยายามบอกให้ตำรวจปล่อยตัวฟลอยด์ เพราะเห็นว่าเขาหายใจไม่ออก และฟลอยด์เองก็ร้องตะโกนขอให้ตำรวจปล่อยตัว แต่ตำรวจปฏิเสธ และใช้เข่ากดคอฟลอยด์นานราว 8 นาที จนกระทั่งฟลอยด์หมดสติ ซึ่งคลิปวิดีโอดังกล่าวมีผู้ชมกว่า 1.2 แสนครั้ง
  • ผู้ประท้วงนับร้อยคนที่ไม่พอใจต่อการตายของฟลอยด์รวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจในเขต 3 ของมินนิแอโพลิส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ฟลอยด์
  • สื่อรายงานว่าตำรวจผู้ใช้เข่ากดคอฟลอยด์ลงกับพื้นถนน คือ ดีเร็ก ชอฟวิน และสำนักงานตำรวจระบุภายหลังว่า ชอฟวินและเจ้าหน้าที่อีก 3 ราย ถูกไล่ออกแล้ว
  • การประท้วงหน้าสถานีตำรวจทวีความรุนแรง ผู้ประท้วงบางรายใช้สีสเปรย์พ่นกำแพงอาคารสถานีตำรวจ และบางรายใช้ก้อนหินปาใส่รถตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนแรงดันน้ำผสมสารเคมีสลายการชุมนุม
REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-3.JPG

27 พ.ค.2563

การประท้วงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประท้วงเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของฟลอยด์ โดยกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าการปฏิบัติต่อฟลอยด์เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากันในย่านออโตโซน ไม่ไกลจากสถานีตำรวจเขต 3 มินนิแอโพลิส

ช่วงค่ำมีผู้ประท้วงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชายผิวขาวพร้อมหน้ากากป้องกันแก๊สปิดบังใบหน้า ใช้ค้อนทุบกระจกอาคารสถานีตำรวจ หลังจากนั้นสถานีตำรวจและรถตำรวจในบริเวณก็ถูกเผา และมีชายคนหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิต แต่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุจลาจลหรือเป็นผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

ที่มา: USA Today

REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา กระสุนยางยิงบาดเจ็บ-5.JPG

28 พ.ค.2563
  • ทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดทางให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) นำกำลังเจ้าหน้าที่ราว 600 นาย พร้อมอาวุธระดับต่อสู้ในสงคราม เข้าร่วมตรึงกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกับตำรวจในมินนิแอโพลิสและเขตเซนต์พอล ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุจลาจลช่วงวันที่ 26 พ.ค. 
  • ผู้สื่อข่าว โปรดิวเซอร์ และช่างภาพข่าวของสำนักข่าว CNN ถูกเจ้าหน้าที่ทหารของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจับกุมขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าโอมาร์ ชิเมเนซ ผู้สื่อข่าว จะยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่และแจ้งว่าพวกเขาพร้อมจะออกไปจากที่เกิดเหตุก็ไม่เป็นผล ทั้งหมดถูกจับกุมและนำตัวไปที่สถานีตำรวจ และมีผู้วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน
  • ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตาแถลง 'ขออภัยอย่างสุดซึ้ง' ต่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจับกุมสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ 
  • โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความประณามการก่อจลาจล โดยเรียกผู้ก่อเหตุว่า 'พวกอันธพาล' พร้อมระบุว่า กองทัพพร้อมเคียงข้างเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามผู้ก่อจลาจล พร้อมทั้งระบุว่า "เมื่อคนเริ่มปล้น (ตำรวจ) ก็ต้องเริ่มยิงเช่นกัน" ทำให้ทวิตเตอร์ติดป้ายเตือนผู้ที่ติดตามทรัมป์ในสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้ โดยระบุว่า ข้อความดังกล่าวมีเนื้อหา 'ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง'
  • ตำรวจปราบปรามจลาจลใช้กระสุนยางยิงสลายการชุมนุมในหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ที่มา: The Guardian

REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-4.jpg

29 พ.ค.2563
  • นอกจากที่มินนิแอโพลิส การประท้วงต่อต้านการใช้กำลังและเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำได้แผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ เช่น เดนเวอร์, เมมฟิส, โคลัมบัส, ฟีนิกซ์, พอร์ตแลนด์, แอลบูเคอร์กี, ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ก ซึ่งการชุมนุมในหลายพื้นที่ดำเนินไปอย่างสงบ แต่บางพื้นที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการก่อจลาจล มีผู้ถูกจับกุมเพราะทำลายทรัพย์สินสาธารณะกว่าร้อยคนทั่วประเทศ
  • กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิคนผิวดำ Black Lives Matter เรียกร้องให้ดำเนินคดีทางกฎหมายแก่ตำรวจทั้ง 4 นายที่เกี่ยวข้องกับการตายของฟรอยด์
  • ตำรวจถอนกำลังออกจากสถานีตำรวจเขต 3 มินนิแอโพลิส หลังถูกผู้ประท้วงโจมตี สร้างความเสียหายให้กับตัวอาคารและทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีคำสั่งให้คณะอัยการของรัฐมินนิโซตารวบรวมข้อมูลเพื่อไต่สวนว่าจะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการตายของฟลอยด์หรือไม่
  • สำนักงานตำรวจในมินนิโซตาและรัฐอื่นๆ ระบุว่าจะพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยอาจจะยกเลิกการใช้วิธีกดเข่าหลังต้นคอผู้ต้องสงสัยที่ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม ขณะที่นักอาชญวิทยาระบุว่า ท่าดังกล่าวมีผลต่อหัวใจและระบบทางเดินหายใจของผู้ถูกจับกุม ส่วนฟลอยด์นั้นเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว
  • ครอบครัวของฟลอยด์เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตำรวจผู้จับกุมฟลอยด์ในข้อหา 'ฆาตกรรม' 

ที่มา: The New York Times

AFP-คุกเข่าประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-1.jpg

คนผิวดำที่เสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่ "ไม่ได้มีแค่ฟลอยด์"

ก่อนที่ฟลอยด์จะเสียชีวิต มีประเด็นทางสังคมที่ชาวแอฟริกันอเมริกันมองว่าเป็นการเลือกปฎิบัติและเกิดจากอคติด้านเชื้อชาติและสีผิวมาก่อนแล้ว โดยเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 'อาห์มัด อาร์เบอรี' ถูกพ่อลูกชายชาวอเมริกันผิวขาว 2 คนยิงเสียชีวิตขณะกำลังวิ่งออกกำลังกาย

ผู้ก่อเหตุทั้งสองคนระบุว่า อาร์เบอรีมีลักษณะคล้ายขโมยที่บุกรุกบ้านของพวกเขา และถูกบันทึกเหตุการณ์ไว้ในกล้องวงจรปิด แต่อาร์เบอรีไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุดังกล่าว ทำให้พ่อลูกทั้งคู่ถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตาย

ส่วนกลุ่ม Black Lives Matter ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าอคติเรื่องสีผิวในสหรัฐฯ ยังคงอยู่อย่างฝังลึก และย้ำว่า 'ชีวิตคนดำก็มีค่า'

จากนั้นในเดือน มี.ค. 'บรีอันนา เทเลอร์' เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยในเมืองหลุยส์วิลล์ เสียชีวิตที่บ้านพักของตนเอง เนื่องจากตำรวจปราบปรามยาเสพติดพยายามบุกเข้าไปในบ้านของเทเลอร์ช่วงตีหนึ่ง เพื่อจับกุมคนรักของเธอ และมีการยิงตอบโต้กันเกิดขึ้น แต่เทเลอร์ซึ่งไม่มีอาวุธ ถูกยิง 8 นัดเสียชีวิต เพราะอยู่ในที่เกิดเหตุพอดี

ครอบครัวของเทเลอร์ตัดสินใจยื่นฟ้องตำรวจที่ค้นบ้าน โดยระบุว่าพวกเขาไม่ได้แจ้งตัวตนให้ทราบ และไม่ได้ติดกล้องตามตัว ซึ่งเป็นกฎระเบียบในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องบันทึกขั้นตอนทั้งหมดว่าเป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ครอบครัวของเทเลอร์มองว่าการไม่ติดกล้องขณะบุกค้นบ้าน เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้

REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-2.JPG

ส่วนกรณีของฟลอยด์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ 'อีริก การ์เนอร์' ชาวแอฟริกันอเมริกันในนิวยอร์ก ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาแยกขายบุหรี่ซองที่ไม่มีอากรแสตมป์เมื่อเดือน ก.ค.2557

การ์เนอร์ถูกเจ้าหน้าที่ล็อกคอจากด้านหลังและกดตัวลงกับพื้น ทำให้เขาร้องขอให้ปล่อยตัว โดยระบุว่า 'หายใจไม่ออก' แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังคำร้องของการ์เนอร์ และเขาเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ 'ไมเคิล บราวน์' วัย 18 ปี ซึ่งถูกตำรวจลาดตระเวนในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี เรียกค้นตัวขณะที่เขาและเพื่อนกำลังเดินอยู่ริมถนนเมื่อเดือน ส.ค.2557 แต่บราวน์ขัดขืนต่อสู้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตำรวจผิวขาว และเจ้าหน้าที่ได้ยิงบราวน์เสียชีวิต

ศพของบราวน์ถูกทิ้งไว้บนถนนนาน 4 ชั่วโมง ท่ามกลางความร้อนของพื้นถนนในฤดูร้อน ทำให้ผู้เห็นเหตุการณ์มองว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคารพศพผู้ตาย และการตายของบราวน์ ซึ่งไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง ทำให้คนจำนวนมากมองว่านี่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อ 'คนผิวดำ' นำไปสู่การประท้วงและจลาจลต่อเนื่องหลายวัน

เหตุการณ์ที่เฟอร์กูสัน ทำให้ผู้ว่าการรัฐมิสซูรีสั่งให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าแทรกแซงสถานการณ์เช่นเดียวกัน แต่ 'บารัก โอบามา' ประธานาธิบดีในสมัยนั้น ออกคำสั่งให้ อีริก โฮลเดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อเจรจากับผู้ประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่บราวน์ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

รายงานสรุปข้อเท็จจริงกรณีของบราวน์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยิงบราวน์เสียชีวิต ไม่มีความผิดฐานฆาตกรรม แต่มีข้อมูลยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเฟอร์กูสันมีแนวคิด รวมถึงมีพฤติกรรม 'เลือกปฏิบัติ' ต่อชาวแอฟริกันอเมริกันจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: