ศาลสูงสุดของสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินให้การลงประชามติเรื่องการเก็บภาษีคู่สมรสเมื่อปี 2016 เป็นโมฆะ และให้มีการจัดการลงประชามติถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง โดยศาลให้เหตุผลว่า ผลการลงประชามติออกมาอย่างสูสี และมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงในการลงประชามติดังกล่าว จึงมีความเป็นได้ที่ผลการลงประชามติจะเปลี่ยนแปลง
ศาลระบุว่า ผู้มีสิทธิลงประชามติได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงคนที่จะได้รับผลกระทบจากระบบการเก็บภาษีนี้ ซึ่งมีมากกว่าจำนวนที่ประกาศออกมาถึง 5 เท่า
คำตัดสินนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์ที่ศาลตัดสินคว่ำการลงประชามติ โดยสวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง ทำให้ชาวสวิสต้องออกมาลงประชามติเรื่องต่างๆ มากกว่า 300 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1848
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า รัฐบาลจะวางแผนตอบสนองที่จำเป็นหลังคำพิพากษาของศาลสูงสุดออกมาแล้ว และได้ตั้งกลุ่มศึกษาตัวอย่างเพื่อหามาตรการเพิ่มเติม เพื่อรับรองคุณภาพของการเตรียมข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของประชาชน
ทำไมต้องให้ศาลตัดสินผลการลงประชามติ ?
พรรคประชาธิปไตยคริสเตียนเป็นผู้เสนอให้มีการลงประชามติถามความเห็นของประชาชนว่า ระบบการเก็บภาษีของสวิตเซอร์แลนด์เป็นการลงโทษคู่สมรสอย่างยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากคู่สมรสในสวิตเซอร์แลนด์จะถูกคำนวณภาษีด้วยการจำนวนรายได้รวมกัน ซึ่งมักทำให้พวกเขาต้องเสียภาษีมากกว่าคู่ชีวิตที่ถูกคำนวณภาษีแยกกัน
ผลการลงประชามติออกมาสูสีกันมาก ฝ่ายที่เห็นด้วยว่าการเก็บภาษีนี้ไม่ยุติธรรมมีร้อยละ 49.2 ขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยคิดเป็น 50.8 พรรคประชาธิปไตยคริสเตียนจึงได้ยื่นฟ้องให้ศาลตัดสินว่าผลการลงประชามติชอบธรรมหรือไม่ โดยอ้างว่าประชาชนถูกชักจูงให้เข้าใจผิดเพราะข้อมูลที่ผู้มีสิทธิลงประชามติได้รับระบุว่า คู่สมรสที่ได้รับผลกระทบจากระบบการเก็บภาษีเช่นนี้มี 80,000 คู่ แต่เมื่อมีการตรวจสอบจริงกลับมีคู่สมรสที่ได้รับผลกระทบ 454,000 คู่
เสียงตอบรับเกี่ยวกับคำพิพากษา
พรรคประชาธิปไตยคริสเตียนรู้สึกยินดีกับคำพิพากษาของศาลสูงสุด โดยระบุว่า คำตัดสินนี้จะส่งเสริมสิทธิทางการเมืองของชาวสวิส แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า คำตัดสินนี้อาจเปิดประตูให้มีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการลงประชามติทั้งในอดีตและการลงประชามติที่จะมีขึ้นในอนาคต
การตัดสินของศาลสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมีความหวังว่าจะมีทางคว่ำผลการลงประชามติเบร็กซิตเมื่อปี 2016 ได้เช่นกัน แล้วค่อยจัดการลงประชามติใหม่อีกครั้ง โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อให้อังกฤษยังอยู่ในอียูต่อไปรณรงค์ว่า ชาวอังกฤษไปลงประชามติเบร็กซิตโดยที่ไม่ได้รับข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ และยังไม่มีความโปร่งใสในการจัดการลงประชามติ ซึ่งถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการลงคะแนน
ที่มา : The Guardian, BBC