ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับ “วอยซ์” ถึงประเด็นที่มีคนในสังคมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถูกล่อลวง ทำร้ายทางเพศ หรือ หลอกโอนเงิน ว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะที่สำคัญของออนไลน์ก่อน การสื่อสารในออนไลน์ต่างจากออฟไลน์ในหลายประเด็น แต่ที่เห็นได้ชัดประเด็นหนึ่งคือ ความเป็นนิรนามที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาเจอและพูดคุยกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงในโลกออฟไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจจะสร้างเรื่องราวตัวตนของตนเองขึ้นมาใหม่และแยกขาดจากความเป็นจริงได้ เพื่อเป้าหมายหรือผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การล่อลวง หรือหลอกหลวงคนอื่น โดยที่คิดว่าไม่มีใครสืบสาวมาถึงตัวตนได้ และผู้ตกเป็นเหยื่อเองก็อาจจะรู้สึกอายไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเองถูกกระทำให้คนอื่นรับรู้
ถ้าเราดูผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เราจะตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงเชื่อคนได้ง่าย ทำไมถึงยอมโอนเงินให้กับคนแปลกหน้าโดยที่ไม่เคยเจอตัวตนจริงๆ ในออฟไลน์ หรือไว้ใจเขามากกว่าคนอื่นในครอบครัว แต่งานวิจัยบางชิ้นสะท้อนให้เราเห็นว่า ความนิรนามในออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนแปลกหน้าที่เราไม่เคยพบเจอในชีวิตประจำวันได้นั้น ในแง่หนึ่งทำให้เรากล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่เราไม่พูดหรือเล่าให้ครอบครัว เพื่อน หรือคนที่เรารู้จักคุ้นเคยในชีวิตประจำวันฟัง แต่เรากลับเล่าเรื่องเหล่านั้นได้กับคนที่เรารู้จักในโลกออนไลน์และไม่เคยเจอในชีวิตจริง และการติดต่อสื่อสารหรือพูดคุยอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ออนไลน์ก็สามารถสร้างความเป็นคนคุ้นเคยให้เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของ romance scam เขาไม่ได้พูดคุยเพียงแค่วันสองวันแล้วโอนเงิน แต่โดยส่วนใหญ่จะมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นความไว้วางใจ และทำให้เขาตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น
ถาม : ควรพิจารณาป้องกันตั้งรับอย่างไร หรือ หน่วยงานภาครัฐต้องมีบทบาทเข้ามารับผิดชอบแค่ไหน
ความนิรนามหรือการที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในการสื่อสารออนไลน์ถูกมองว่ามีปัญหาที่นำไปสู่การหลอกหลวง หรือ แม้กระทั่งการด่าทอผู้อื่น โดยผู้กระทำมักคิดว่าจะไม่มีผลกระทบมาถึงตัวเอง เราเลยเห็นปรากฏการณ์ที่หลายแพลตฟอร์มพยายามที่จะให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตน ชื่อ นามสกุลจริงก่อนเข้าใช้แพลตฟอร์มนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ข้อกังวลใหม่ คือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อมูลเราถูกเก็บรักษาอย่างไร ใครมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นบ้าง ในขณะที่หน่วยงานรัฐเองก็พยายามที่จะออกมาบอกว่า การสื่อสารในออนไลน์ต้องมีความรับผิดชอบด้วย โดยการพยายามบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่การบังคับใช้เหล่านี้ก็นำไปสู่ความกังวลในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารของผู้คน ดังนั้นในเชิงนโยบายก็มีออกมาพอสมควร แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้คนไม่มั่นใจในแนวทางปฏิบัติมากกว่า
วิธีการตั้งรับกับประเด็นเหล่านี้ ทั้งรัฐและสื่อเองก็อาจสร้างความเข้าใจ และสร้างทักษะ คิด วิเคราะห์ให้กับคนในสังคมรู้เท่าทันการหลอกหลวงเหล่านี้มากขึ้น อย่างเช่น ในกรณี romance scam คนจำนวนหนึ่งอาจไม่เคยได้ยินหรือรับรู้ปัญหานี้มาก่อน เวลาเกิดขึ้นกับเขา เขาก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร แต่ในยุคปัจจุบัน เราก็ได้ยินข่าว รับรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น มีกลุ่มหรือชุมชนออนไลน์ที่แชร์เรื่องราว รวมถึงแนะนำวิธีตรวจสอบลักษณะของ scammer เหล่านี้ ผู้หญิงหลายคนก็เข้ามาสอบถาม และหลายคนก็ไม่ตกเป็นเหยื่อ เพราะรู้เท่าทันมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ ทั้งสื่อและรัฐเองต้องพยายามทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและรู้เท่าทันการหลอกลวงเหล่านี้มากขึ้น เพราะเราไม่สามารถปิดกั้นหรือไม่ให้ผู้คนเข้าถึงแพลตฟอร์มที่มีปัญหาการหลอกลวงเหล่านี้ ต่อให้ปิดแพลตฟอร์มนั้นไป ก็จะมีการเคลื่อนไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ อยู่ดี หรือการไปพยายามบอกว่าการหาคู่หรือการสื่อสารในออนไลน์เป็นสิ่งน่ากลัว ควรหลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคปัจจุบันไปแล้ว
ถาม : ต่อไปในแง่ของสังคมอิทธิพลของโซเชียลต่อกลุ่มวัยรุ่น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สังคมจะแข็งกร้าว เกรี้ยวกราด หรือ จะเปาะบาง จนทำให้สังคมอ่อนแอ
อิทธิพลของสังคมโซเชียลมีเดียต่อกลุ่มวัยรุ่น ถ้าโดยความเห็นส่วนตัว ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงมากขนาดนั้น เราต้องยอมรับว่าสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้เห็นได้ชัดในยุคแรกที่เทคโนโลยีเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันสังคมหรือผู้คนเองก็มีผลต่อเทคโนโลยี เด็กวัยรุ่นเติบโตมากับยุคของการสื่อสารในออนไลน์ เขามีภูมิต้านทางในระดับหนึ่ง และมากกว่าผู้สูงอายุ ถ้าเราคุยกับเด็กวัยรุ่น เราจะเห็นว่าเขาจะไม่เชื่อข่าวสารในออนไลน์อย่างทันทีทันใด แต่เขาจะมีทักษะในการหาข้อมูลที่มากกว่า ส่วนในประเด็นที่ว่าสังคมจะไปในทิศทางใด โดยส่วนตัวคิดว่า สังคมก็ยังคงอยู่ได้ สังคมไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น
“ประเด็นที่น่าเป็นห่วง มองว่าการรู้เท่าทันเทคโนโลยีของผู้สูงอายุ ถ้าเราเทียบระหว่างวัยรุ่นและผู้สุงอายุ เรากลับพบว่า วัยรุ่นมีทักษะในการปกป้องตนเองในโลกออนไลน์มากกว่า ในขณะที่ผู้สูงอายุจะมีทักษะและความเท่าทันเทคโนโลยีได้น้อยกว่า ผู้สูงอายุจะเชื่อข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่ตนเองได้รับรู้จากออนไลน์มากกว่า และมีการส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กับกลุ่มเพื่อนของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหลายๆ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งที่อาจต้องให้ความสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันออนไลน์มากขึ้น” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ถาม : ดาราหรือผู้มีชื่อเสียง ต่างออกมาทยอยฟ้อง บุคคลที่มาแสดงความเห็นในเชิงเสียหายหรือเรียกว่าเกรียนคีย์บอร์ด มองว่าเป็นการโต้กลับอย่างเหมาะสมหรือไม่
อินเทอร์เน็ตหรือการสื่อสารในออนไลน์เป็นเรื่องยากที่จะแยกพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะดาราหรือผู้มีชื่อเสียงถูกมองว่าเป็นคนสาธารณะ ดังนั้นเรื่องราวหรือความคิดเห็นส่วนตัวที่ปรากฏในออนไลน์เลยเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นประเด็นสาธารณะที่ผู้คนสามารถเข้าไปคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นได้ และโดยเฉพาะคนคอมเม้นท์บางคนอาจมองว่า ยากที่จะสืบหาว่าตนเองคือใคร เพราะไม่ได้ใช้ชื่อ รูปภาพที่แท้จริง จึงใช้คำที่รุนแรง หยาบคายในการแสดงความเห็นมาก ในแง่หนึ่งการฟ้องร้องก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ การถูกด่าว่าอย่างรุนแรงในพื้นที่สาธารณะก็มีผลต่อชีวิตของพวกเขา และโดยทั่วไปก็จะเป็นการฟ้องร้องในทางแพ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องร้องติดคุก เป้าหมายหลักของการฟ้องร้องเหล่านี้ คงไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คิดว่าเป็นการเตือนและให้บทเรียนกับคนที่เข้ามาต่อว่าเขาอย่างเสียหายมากกว่า ความสามารถอันหนึ่งของออนไลน์คือ การบันทึกเป็นหลักฐานได้ การฟ้องร้องอาจทำให้ผู้คนตระหนักมากขึ้นก่อนที่จะเขียนหรือแสดงความเห็นดุด่าผู้อื่นในออนไลน์
ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.