ไม่พบผลการค้นหา
เปิดวิสัยทัศน์ผู้แทนการค้าไทยในงานเสวนาไทย–อียู: ขับเคลื่อน "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์" เดินหน้า FTA ปลดล็อคโอกาสการค้าในโลกที่ผันผวน

นายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนา "ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป" (Thailand–EU Strategic Economic Partnership) ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับสถาบันยุโรปเพื่อเอเชียศึกษา (European Institute for Asian Studies: EIAS) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA งานดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมกว่า 130 คน สะท้อนถึงความสนใจอย่างกว้างขวางต่อทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย

การจัดกิจกรรมเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเยือนกรุงบรัสเซลส์ของนายวีระพงษ์ฯ ระหว่างวันที่ 16–21 มีนาคม 2568 เพื่อพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของรัฐสภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ภาคเอกชนและสมาคมการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับสูง ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และผลักดันการเจรจา FTA ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

นายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ระหว่างไทยกับอียู โดยกล่าวว่า ท่ามกลางบริบทในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การฟื้นตัวหลังโควิด และแรงกดดันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีค่านิยมและเป้าหมายร่วมกัน เป็นปัจจัยที่จำเป็นและขาดไม่ได้ โดยไทยและอียูถือเป็น “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” ระหว่างกันโดยธรรมชาติ จากมูลค่าการค้าการลงทุนรวมกันกว่า 43,000 ล้านยูโรในปี 2024 การยึดมั่นในค่านิยมร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ ผู้แทนการค้าไทย ได้เน้นย้ำวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการผลักดัน FTA ไทย–อียู (FTA) ให้เป็น "เครื่องมือสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมุ่งสู่อนาคต" โดย FTA ฉบับนี้ จะไม่ได้เป็นเพียงกรอบความร่วมมือทางการค้า แต่เป็น “เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่” ที่จะเปิดประตูให้ภาคเอกชนไทยเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน และเป็นเวทีส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว การค้าดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนศักยภาพในการแข่งขันของไทย โดยไทยไม่เพียงมุ่งเจรจาให้ได้ข้อตกลงที่มีคุณภาพและสมดุลเท่านั้น แต่ยังใช้กระบวนการนี้เป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับสากล ผ่านการปฏิรูปกฎระเบียบ การยกระดับความโปร่งใส การส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนและประชาสังคม รวมถึงเชื่อมโยงกับเป้าหมายการเป็นสมาชิก OECD ภายในปี 2030

ผู้แทนจากรัฐสภายุโรป ได้แก่ นาย Wouter Beke ประธานกลุ่มมิตรภาพรัฐสภายุโรปกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน และนางสาว Kathleen Van Brempt รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Committee on International Trade: INTA) รัฐสภายุโรป และผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเยือนไทยเมื่อต้นปี พร้อมย้ำถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของประเทศไทย และเห็นพ้องว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอียูในช่วงที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความผันผวน ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขับเคลื่อน FTA ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่ในประเด็นทางการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ในช่วงการอภิปราย นาย Christophe Kiener หัวหน้าคณะเจรจา FTA ฝ่ายอียู มองว่า การ diversify การค้า/การลงทุน เป็นประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญของอียูเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอียูในบริบทการเมือง/เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และกล่าวชื่นชมการเตรียมการเจรจาของไทย ที่ช่วยให้การเจรจาคืบหน้าไปได้ด้วยดี โดยถึงแม้จะมีประเด็นที่ท้าทายที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่อียูพร้อมคำนึงถึงความแตกต่างของศักยภาพและบริบทของไทยในการเจรจา

ในส่วนผู้แทนจากภาคเอกชนยุโรป เช่น EU–ASEAN Business Council ผู้บริหารสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์และยางของยุโรป (ERTMA) และผู้แทนภาคอุตสาหกรรมอาหาร มองว่า FTA ไทย-อียูมีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของอียูอย่างมาก แต่ควรกำหนดกฎเกณฑ์การค้าที่เป็นธรรม มุ่งสร้างความเข้าใจและยอมรับมาตรฐานของกันและกัน นอกจากนี้ ภาคเอกชนอียูยังเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปยึดหลัก “การปฏิบัติได้จริง” มากกว่าการมุ่งบรรลุความตกลงที่สมบูรณ์แบบ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการมากกว่าการกำหนดมาตรฐานที่เกินความจำเป็น

การเสวนาในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วนในการผลักดันความตกลงการค้าเสรีไทย–อียู ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความร่วมมือเท่านั้น หากแต่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย ซึ่งความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก กระจายความเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มกันท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากนโยบายกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้ ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย–อียูต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ความยืดหยุ่น และความเข้าใจในบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นธรรม ครอบคลุม และยั่งยืนอย่างแท้จริง