ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกระทรวงการคลัง เผย การจัดตั้งศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ตามมติ ครม.

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พัฒนาประเทศไทยให้มีบทบาทเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว และส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีจำนวน 9 หมวด 94 มาตรา โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย

1.) การกำหนดวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้และนิยามทางกฎหมาย

2.) องค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน

3.) การจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Authority: OSA)

4.) คุณสมบัติ ขั้นตอนการสรรหา วิธีการแต่งตั้ง และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการที่จะเข้ามาบริหารสำนักงาน

5.) ประเภทและขอบเขตของธุรกิจที่สามารถขอรับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

6.) แนวทางในการกำหนดสถานที่ตั้งเพื่อประกอบกิจการ

7.) คุณลักษณะของนิติบุคคลที่ประสงค์จะยื่นคำขอประกอบธุรกิจ รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการควบ โอน และเลิกกิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

8.) สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

9.) แนวทางในการกำกับดูแลและการตรวจสอบธุรกิจ

10.) บทกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในโครงการ Financial Hub

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Financial Hub ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้าลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย

1) สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีได้เพิ่มขึ้น

2) สร้างการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในประเทศไทย และจำนวนตำแหน่งงานด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น โดยครอบคลุมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนด้านการเงิน นอกจากนี้ ยังดึงดูดแรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจะส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดทักษะองค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Knowledge Transfer) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในประเทศไทย

3) เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน (Financial Infrastructure Development) และด้านอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต” ดังนั้น การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) นั้นจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานของประเทศไทยในอนาคต