นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,130 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.2% โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,670 บาท โดยเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบรายได้ และค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 57.2% มีรายได้เท่าเดิม และ 66.6% มีรายจ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิม โดยกลุ่มตัวอย่างบางส่วนได้รับผลกระทบจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ลดลง เนื่องจากไม่มีการจ้างงาน/ใช้บริการ สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประมาณ 67.4% มาจากรายได้ และ 17.9% มาจากเงินจากคนในครอบครัว และ 10.4% มาจากเงินออม ส่วนอีก 3.3% มาจากเงินสวัสดิการจากภาครัฐ และ 1% มาจากเงินกู้ยืม โดยเทียบกับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินที่นำมาใช้จ่าย โดยมีการบริหารเงินร่วมกับคนในครอบครัว และใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจากสวัสดิการภาครัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ลดลง
นอกจากนี้ เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ1.ทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 81.5 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 450 บาท 2.สังสรรค์ เลี้ยง ฉลอง ร้อยละ 72.5 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,225 บาท และ 3.ให้เงินคน ในครอบครัว ร้อยละ 49 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,790 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :