ไม่พบผลการค้นหา
กกพ.ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟทีเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563 ติดลบ 12.43 สตางค์/หน่วย ส่งผลค่าไฟลดลงเหลือ 3.63 บาท/หน่วย จากราคาพลังงานที่ลดลง ชี้ความเสี่ยงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค.ติดลบ 12.43 สตางค์/หน่วย โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงเหลือ 3.63 บาท จากเดิมที่ 3.64 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

อย่างไรก็ตาม โฆษก กกพ.ชี้ว่าแม้ตัวเลขดังกล่าวจะถูกลง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าที่แท้จริง ซึ่งจะทราบตัวเลขในอนาคตรวมไปถึงระดับความผันผวนของค่าเงินบาทต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลกับการคิดราคาค่าเอฟทีในรอบถัดไป 


ปชช.ยิ่งไม่ใช้ ค่าไฟต่อหน่วยยิ่งแพง

ตลาด - ประชาชน

นายคมกฤช อธิบายว่า การพิจารณาค่าเอฟทีประกอบไปด้วยปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ 1.ความต้องการพลังงานไฟฟ้า 2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า 3.สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และ 4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่นายคมกฤชเน้นเป็นสำคัญคือระดับการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถรับรู้ได้ในเวลาปัจจุบันและต้องรอพิจารณาตัวเลขย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่าการกำหนดค่าเอฟทีเป็นเพียงการประเมินตัวเลขในอนาคตที่มีความเสี่ยงจะเกิดข้อผิดพลาด ที่อาจกลายไปเป็นต้นทุนกับค่าเอฟทีในรอบถัดไปได้

ตามตัวเลขของ กกพ.การประเมินการใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมามีสูงถึง 59,848.57 ล้านหน่วย แต่ตัวเลขการใช้จริงกลับมีเพียง 57,696.00 ล้านหน่วย หรือต่ำกว่าการประมาณการ 2,152.57 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 3.6 ซึ่งตัวเลขนี้จะกลายมาเป็นต้นทุนเพิ่มเติมในรอบถัดไป โฆษก กกพ.ชี้เพิ่มว่า ระดับการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในรอบปัจจุบันตามการพูดคุยกับ กฟผ.ดูจะยังทรงตัวต่ำในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ก่อนจะมีท่าทีดีขึ้นในเดือน ก.ค.อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องรอดูตัวเลขที่แท้จริงที่จะตามมาภายหลัง

เนื่องจากกระบวนการประกาศค่าเอฟทีเป็นการประเมินไปข้างหน้า ดังนั้นจึงมีต้นทุนที่ต้องจ่ายจริงออกไปก่อนแล้ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมจากตัวเลขค่าเอฟทีในช่วง ก.ย.-ธ.ค.ปีนี้ที่แท้จริงแล้วควรจะติดลบถึง 18.03 สตางค์/หน่วย จึงเหลือเพียงติดลบ 12.43 สตางค์/หน่วยเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องบวกรวมต้นทุนที่รัฐจ่ายออกไปแล้ว 

นายคมกฤช ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า ตามหลักการคิดค่าไฟฟ้านั้น เมื่อประชาชนใช้ไฟฟ้าน้อยลง ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณารวมกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) แม้จะไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อกันโดยตรงแต่ต้องคำนวณปัจจัยอื่นร่วมด้วย แต่อาจคำนวณได้ว่า เมื่อจีดีพีปรับตัวลดลงร้อยละ 1 สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนจะลดลงร้อยละ 0.7-0.8 

ดังนั้น จากตัวเลขประมาณการจีดีพีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเศรษฐกิจจะติดลบถึงร้อยละ 8.1 ก็อาจอนุมานได้ว่าสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนจะลดลงราวร้อยละ 6.5