ไม่พบผลการค้นหา
'ยุทธพงศ์' เผยนัดมื้อค่ำ 'เพื่อไทย-พรรคเล็ก' 23 พ.ค. นี้ ถกยิบปมซักฟอกท่อส่งน้ำอีอีซีถ้า 'ธรรมนัส' เบี้ยว เตรียมยก 'ประวิตร' สั่งฐานครอบงำแทรกแซงพรรคอื่น ฟ้องยุบ พปชร.

วันที่ 18 พ.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการนัดรับประทานอาหารระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคเล็กในวันที่ 23 พ.ค. นี้ว่า จะนัดรับประทานมื้อค่ำกันที่ร้าน The Corner ซอยสุขุมวิท 26 ซึ่งเป็นร้านอาหารเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยและพรรคเล็ก เคยรับประทานอาหารค่ำร่วมกันมาแล้วเมื่อ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา

ยุทธพงศ์ ชนก จิรพงษ์ อีอีซี -87B0-429F-B3BB-3447494219A9.jpeg

โดยในวันที่ 23 พ.ค.เวลา 18.00 น. พรรคเพื่อไทย นำโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย และ อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรค รวมทั้งตน จะเดินทางไปร่วมมื้ออาหาร ขณะที่ฝั่งพรรคเล็กจะนำโดย พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ ดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา

ยุทธพงศ์ เผยด้วยว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อช่องทางใดๆ จาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจใหม่ ว่าจะยกเลิกนัดรับประทานอาหารค่ำในครั้งนี้ มีเพียงคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ที่ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส จะไม่มาร่วมรับประทานอาหาร ถ้า พล.อ.ประวิตร พูดมาแบบนี้ จนทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่มาร่วมจริงๆ ตนจะไปยื่นยุบขอพรรคพลังประชารัฐ เพราะถือว่า พล.อ.ประวิตร ก้าวก่ายแทรกแซงครอบงำพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส

ยุทธพงศ์ ชนก จิรพงษ์ -18AF-4845-A3CB-84EAD143C8C5.jpeg

"ฝ่ายค้านจะพูดคุยเรื่องบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องท่อส่งน้ำอีอีซี ถ้าหลักฐานชัดเจน ได้แตกหักกันแน่ หลักฐานเป็นเล่มๆ อยู่ในมือฝ่ายค้านแล้ว เชิญสื่อมวลชนไปด้วย ให้ดูว่าใครบ้างมาล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ต้องปิด ไม่ได้กลัว บ้านเมืองฉิบหายหมดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้อย่างไร อย่ายุบสภาฯ หนีก็แล้วกัน" ยุทธพงศ์ กล่าว

สำหรับกรอบเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ยุทธพงศ์ เผยว่า หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 พ.ค. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 31 พ.ค. และ 1 - 2 มิ.ย. ต่อมาวันที่ 9 - 10 มิ.ย. จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประมาณกลางเดือน มิ.ย. พรรคฝ่ายค้านก็จะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ