ไม่พบผลการค้นหา
“พ่อเอาไปใส่แทนกำไลที่ข้อเท้าพ่อได้มั้ย” นี่คือคำพูดของลูกสาวของ อานนท์ เธอตั้งใจทำกำไรข้อเท้าจากตัวต่อเลโก้ตั้งแต่เมื่อคืน ก่อนจะเดินทางมาศาลพร้อมกับแม่ เพื่อเอามาให้พ่อที่ถูกเบิกตัวมาขึ้นศาล

หลังอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางการเมืองถูกตัดสินว่ามีความตามข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยในม็อบ 14 ต.ค. 2566 ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นว่า 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ และนี่เพิ่งเป็นเพียงคดี 112 คดีแรกของอานนท์เท่านั้นที่มีการพิพากษา จากทั้งหมด 14 คดี 

แม้จะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แต่อานนท์ จะถูกเบิกตัวจากเรือนจำมายังศาลบ่อยครั้ง ในฐานะจำเลยของคดีอื่นๆ และในบางครั้งเข้าต้องสวยชุดครุยทนายว่าความในคดีของตัวเองด้วย

นอกจากครุยที่ส่วมทับชุดนักโทษแล้ว สิ่งที่ผิดปกติอีกอย่างหนึ่งคือ ตรวนข้อเท้า หรือกุญแจข้อเท้า ติดอยู่กับตัวเขาด้วย หลังจากถูกจองจำ ถูกครั้งที่ถูกเบิกตัวมายังศาล อานนท์ จะถูกใส่ตรวนข้อเท้าก่อนออกเดินทางทุกครั้ง 

ประเด็นนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้ายืนหนังสือต่อ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอให้ทบทวนมาตรการการใช้เครื่องพันธนาการ โดยระบุว่า อานนท์ ต้องไปศาลอาญาโดยใส่พันธนาการที่ข้อเท้าทั้งสองข้างตลอดเวลา ซึ่งลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ทั้งขัดรัฐธรรมนูญ และละเมิดข้อกำหนดแมนเดลาของ UN จึงขอให้ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าว เพื่อเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังซึ่งยังเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนี

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 รับรองว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้  การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่ (4) ผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเห็นเป็นการสมควร

ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการคุมขังของเรือนจำทั่วโลก ข้อกำหนด 47 1.ห้ามใช้โซ่ เหล็ก หรือเครื่องพันธนาการใด ๆ ในลักษณะที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวด 2.การใช้เครื่องพันธนาการอื่น อาจกระทำได้หากเป็นไปตามกฎหมาย และในพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) เพื่อป้องกันการหลบหนีในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง แต่จะต้องถอดออกเมื่อผู้ต้องขังปรากฏตัวต่อหน้าศาล หรือเจ้าพนักงานฝ่ายบริหาร

และข้อกำหนด 48 1.กรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องพันธนาการตามวรรค 2 ของข้อกำหนด 47 ต้องปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้ (ก) เครื่องพันธนาการอาจใช้ได้เฉพาะเมื่อรูปแบบการควบคุมอย่างอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าใช้ไม่ได้ผลในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากไม่มีการพันธนาการจำกัดความเคลื่อนไหว (ข) วิธีพันธนาการจะต้องมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น และสมเหตุผลแก่การควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับและลักษณะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (ค) เครื่องพันธนาการจะต้องใช้ได้เฉพาะในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น และให้มีการปลดเครื่องพันธนาการออกโดยเร็วเมื่อความเสี่ยงเนื่องจากการไม่พันธนาการจำกัดการเคลื่อนไหวหมดสิ้นไปแล้ว

นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุว่า เมื่ออานนท์ยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ทางเรือนจำจะปฏิบัติต่ออานนท์เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ การใส่ตรวนนั้นถือเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ จะให้อำนาจกระทำได้เพื่อป้องกันการหลบหนี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางเรือนจำจะต้องใช้โซ่ตรวนในทุกกรณี ซึ่งอานนท์ไม่ได้มีพฤติการณ์ใดในการหลบหนี เห็นได้จากกรณีที่อานนท์ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2564 เป็นเวลากว่า 9 เดือน และต้องเข้าออกเรือนจำเพื่อเดินทางไปศาลอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้มีพันธนาการใด ๆ 

การพันธนาการอานนท์ตลอดระยะเวลาที่อยู่นอกเรือนจำ แม้กระทั่งขณะศาลทำการพิจารณาคดีซึ่งอานนท์ทำหน้าที่ทนายความด้วยนั้น จึงเป็นมาตรการที่เกินจำเป็น

ทั้งนี้ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการที่เข้มงวดของทางเรือนจำด้วยว่า อาจจะเกิดขึ้นหลังจากกรณีความพยายามหลบหนีคดี ระหว่างถูกเบิกตัวมาศาลของประสิทธิ์ เจียวก๊ก แต่อย่างไรก็ตามกรณีนั้นพบว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้หลบหนีไม่ได้ใส่กุญแจข้อเท้า แต่เป็นเหตุจากการที่มีบุคคลให้ความช่วยเหลือในการหลบหนีคดี