บริษัทซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย และธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้อง ยอมรับข้อตกลงการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด และจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่คิงส์เกต รวม 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,542 ล้านบาท) โดยจะแบ่งจ่ายเงิน 55 ล้านดอลลาร์ภายในวันที่ 15 เม.ย.2562 หลังจากกลุ่มบริษัทประกันยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บ.คิงส์เกต เป็นความเสี่ยงทางการเมือง
เว็บไซต์ Insurance Business Magazine สื่อของออสเตรเลีย รายงานเพิ่มเติมว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ยุติลงด้วยดีก่อนถึงกำหนดที่ศาลสูงออสเตรเลียจะมีคำตัดสินต่อกรณีดังกล่าวในเดือน มิ.ย. และบริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายราว 3.9 ล้านดอลลาร์ ที่คิงส์เกตต้องใช้ในกระบวนการยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการกับรัฐบาลไทย ฐานละเมิดข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA
การเจรจาดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลทหารไทยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ ทำให้เหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และเป็นกิจการของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งคิงส์เกตเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้รับผลกระทบต้องปิดทำการไปด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560
คิงส์เกตระบุว่า คำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ของรัฐบาลไทย เกิดขึ้นก่อนจะสิ้นสุดวาระสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีในปี 2563 และ 2571 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้หุ้นของคิงส์เกตในตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงทันที และการกระทำของรัฐบาลทหารไทยเป็นการละเมิดข้อตกลง TAFTA ที่กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่าทางการไทยและออสเตรเลียต้องให้การคุ้มครองนักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยออกคำสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรีก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในละแวกใกล้เคียง แต่การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐบาลไทยต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรียังไม่ยุติ ทำให้คิงส์เกตระบุว่าสถานการณ์ที่บริษัทต้องเผชิญเป็น 'ความเสี่ยงทางการเมือง' ไม่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์อินชัวรันส์ นิวส์ สื่อออสเตรเลีย รายงานว่า เหมืองทองคำชาตรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 และผลิตทองคำได้ปีละกว่า 1.8 ล้านออนซ์ และเงินอีกประมาณ 10 ล้านออนซ์ ก่อนที่รัฐบาลทหารไทยจะออกคำสั่งปิดเหมืองทั่วประเทศในเดือน ธ.ค. 2559 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จึงยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยทีไ่ด้รับจากความเสี่ยงทางการเมืองจากบริษัทประกันต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,200 ล้านบาท) แต่บริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของคิงส์เกตจึงนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย
กระบวนการพิจารณาคดียืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี แต่ก่อนจะถึงกำหนดนัดหมายพิพากษาในเดือน มิ.ย.2562 คิงส์เกตกับกลุ่มบริษัทประกันสามารถยอมรับข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันได้ แต่กรณีของคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย 'ยังไม่สิ้นสุด'
ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. 2559 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่า การสั่งระงับดำเนินกิจการเหมืองทองคำชาตรี กิจการของบริษัทอัคราฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ และระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นเพียงข้ออ้างจากคนบางกลุ่ม ที่มีความขัดแย้งเรื่องปัญหาที่ดินกับเหมืองทองคำ โดยเขากล่าวหาว่า มีคนบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ จึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ
หลังจากตัวแทนของคิงส์เกตเจรจาไกล่เกลี่ยกับรัฐบาลไทยหลายรอบเมื่อปี 2560 แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ภายในกรอบเวลา 3 เดือนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) คิงส์เกตตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ขณะที่นักกฎหมายไทยบางส่วนเตือนว่า การใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ รวมถึงเหมืองทองคำชาตรี เป็นการใช้ 'กฎหมายพิเศษ' ซึ่งไม่มีในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นคู่สัญญาในข้อตกลง TAFTA หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสเสียเปรียบและอาจแพ้คดีได้ ใกล้เคียงกับกรณี 'ค่าโง่ทางด่วน' เพราะเป็นการสั่งปิดทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่หมด และเอกชนได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนสูญเสียความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย
2544 : บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ได้รับใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร พื้นที่รวม 3,900 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ (ใบประทานบัตรเหมือง 'ชาตรีเหนือ' หมดอายุปี 2571 ส่วนเหมืองชาตรีใต้ ประทานบัตรหมดอายุปี 2563 )
2551 : บ.อัคราฯ ขอขยายพื้นที่ แต่ไม่ผ่านรายงานผลกระทบวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA)
2553 : บ.อัคราฯ สร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตในการใช้พื้นที่ สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับใบประทานบัตรของเหมืองชาตรี
2557 : ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำพิพากษา 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือให้ บ.อัครา ระงับการประกอบโลหกรรมในพื้นที่ และห้ามออกใบอนุญาตขยายโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบชั่วคราว
2559 : เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล คสช. นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อแก้ไขปัญหา จากนั้น คสช.ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับประกอบกิจการ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
2560 : เดือน ส.ค. คิงส์เกตออกแถลงการณ์ระบุว่าตัวแทนของบริษัทเข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรี และรัฐบาลไทยยืนยันจะไม่จ่ายค่าชดเชย แต่จะพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่นๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทน ทำให้บริษัทยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.
2562 : บริษัทประกันภัยยอมจ่ายเงินค่าชดเชยความเสี่ยงทางการเมืองรวม 82 ล้านดอลลาร์แก่คิงส์เกต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: