เกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้มาตรการตรวจเชื้อคนจำนวนมาก รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการติดตามควบคุมโรค เป็นเคสตัวอย่างสำหรับหลายประเทศ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ได้ใช้ระบบอัจฉริยะจัดการโควิด-19 หรือ SMS ซึ่งเป็นระบบติดตามการมีปฏิสัมพันธ์ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนและช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์การเดินทางของผู้ติดเชื้อและคนที่อยู่ระหว่างการกักตัวดูอาการ
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีแผนจะเริ่มใช้ริสต์แบนด์ไฟฟ้ากับคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งการกักตัวอยู่บ้าน และหากไม่ยอมใส่อุปกรณ์นี้ คนนั้นจะถูกนำตัวไปในที่พักที่ทางการจัดไว้และต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเองด้วย
จีน
แอปพลิเคชันด้านสาธารณสุขเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในจีน โดยแอปฯ สามารถจิดตามได้ว่าผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อหรือไม่ และผู้ใช้จะสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานะสุขภาพและประวัติการเดินทางของตัวเอง ผู้ใช้จำเป็นต้องสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนขึ้นรถประจำทางหรือเข้าสนามบิน ออฟฟิศ หรือแม้แต่คอนโดของตัวเอง แอปฯ จะบอกระดับความเสี่ยงของแต่ละคนด้วยสี สีเขียวคืออนุญาตให้เดินทางได้โดยไม่ถูกจำกัด สีเหลืองคือให้กักตัวเป็นเวลา 7 วัน และสีแดงจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
สิงคโปร์
สิงคโปร์ใช้แอปฯ TraceTogether ซึ่งเป็นแอปติดตามการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดด้วยบลูทูธ แต่มีคนดาวน์โหลดมาใช้น้อยกว่าร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศ และผู้ใช้ระบบไอโอเอสเขียนรีวิวว่า เมื่อโหลดมาแล้วทำให้พวกเขาไม่สามารถรับโทรศัพท์ได้โดยที่ยังใช้แอปฯ นี้
ออสเตรเลีย
ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ออสเตรเลียได้เปิดแอปพลิเคชันติดตามคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางความกังวลว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน แอปพลิเคชัน COVIDSafe ของออสเตรเลียมีต้นแบบมาจากแอปฯ ของสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าสาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของคนที่ได้รับเชื้อโดยใช้สัญญาณบลูทูธ จะมีการเก็บข้อมูลของเจ้าของโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในรัศมี 1.5 เมตรจากผู้ติดเชื้อนานว่า 15 นาที
อินเดีย
รัฐบาลอินเดียได้ใช้แอปฯ ชื่อ AarogyaSetu ในการติดตามผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาและคนที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผ่านบลูทูธที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้กับใครบ้าง โดยทางการอินเดียเปิดเผยว่ามีคนโหลดแอปนี้มากถึง 75 ล้านครั้งแล้วโดย app นี้มีภาษาให้เลือกมากถึง 11 ภาษาและสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์และ ไอโอเอส
อิตาลี
แม้อิตาลีจะเริ่มคลายมาตรการปิดเมืองแล้ว แต่อิตาลีก็กำลังพัฒนาแอปฯ ติดตามว่าใครมีปฏิสัมพันธ์ผู้ที่ได้รับการรับรองแล้วว่าติดไวรัสโคโรนาบ้าง โดยเปาโล ปิซาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมของอิตาลี กล่าวว่า เขาตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการควบคุมข้อมูล แต่แอปฯ นี้จะช่วยทำให้อิตาลีกลับมาสู่ความเป็นปกติได้เร็วขึ้น โดยทางการอิตาลีประกาศให้มีการเสนอโปรเจกต์พัฒนาแอปฯ ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. และมีคนร่วมเสนอโปรเจกต์กันหลายร้อยโครงการ
เยอรมนี
หลังพยายามผลักดันให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันโดยบริษัทของเยอรมนีเอง สถาบันวิจัยเฟราน์ฮอเฟอร์ ไฮน์ริช เฮิร์ตซและสถาบันโรเบิร์ต คอคได้พัฒนา แอปฯ สัญชาติเยอรมนี ชื่อว่า “ระบบติดตามการเว้นระยะความใกล้ชิดส่วนตัวบริเวณแพนยุโรป” หรือ PEPP-PT แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับฐานข้อมูลกลาง เยอรมนีจึงหันมาสนับสนุนวิธีการของบริษัทแอปเปิลและกูเกิลของสหรัฐฯ ในการออกแบบซอฟต์แวร์ทีไม่รวมศูนย์ โดยข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในเครื่องของผู้ใช้ พร้อมย้ำว่า ไม่ได้บังคับให้ใช้แอปฯ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ใช้
อังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษว่ากำลังพัฒนาและทดลองใช้แอปฯ ติดตามการปฏิสัมพันธ์ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้การได้จริงช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ โดยแอปฯ นี้นอกจากจะติดตามการปฏิสัมพันธ์และเวลาในการอยู่รัศมีที่อาจได้รับเชื้อได้ ได้เหมือนแอปฯ ของออสเตรเลียแล้ว คนที่รู้สึกว่าป่วยสามารถบันทึกอาการของตัวเองลงไปในแอปฯ ได้ และจะมีการแจ้งเตือนสีเหลืองไปยังผู้ใช้ที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันคนนี้ และหากคนนั้นได้รับการวินิจฉัยในภายหลังว่าไม่ติดเชื้อ คนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดก็จะแจ้งว่า "ตอนนี้คุณปลอดภัย" แต่หากคนนั้นติดเชื้อ จะมีการแจ้งเตือนสีแดงคนที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดว่า "คุณควรกักตัวเองและอยู่แต่ในบ้าน"
อิสราเอล
ทางการอิสราเอลเปิดให้ใชเแอปฯ The Shield ติดตามการปฏิสัมพันธ์ตั้งแต่ปลายมี.ค. โดยมีคนดาวน์โหลดไปแล้ว 1.5 ล้านครั้งเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แอปฯ นี้จะเฝ้าระวังการเดินทาง โดยเก็บข้อมูลไว้ในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้เอง หากต่อมา ผู้ใช้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลสถานที่ของตัวเองให้กับเจ้าหน้าที่หรือไม่
ที่มา : Deutsche Welle, ABC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: