ไม่พบผลการค้นหา
23 ปี การสิ้นพระชนม์ของ 'ไดอานา' เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ผู้ใช้สื่อและผู้ตกเป็นเหยื่อของสื่อ จนนำไปสู่การสิ้นพระชมชนม์จากอุบัติเหตุขณะถูกสื่อไล่ล่า นำไปสู่ข้อถกเถียงถึงจริยธรรมในวงการสื่อยุโรป

คืนวันที่ 31 ส.ค. 2540 'ไดอานา' เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมด้วย โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิท และอ็องรี ปอล คนขับรถ ประสบอุบัติเหตุในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเพียงเทรเวอร์ รีส์–โจนส์ ผู้ทำหน้าที่องครักษ์ส่วนพระองค์เท่านั้นที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว

ทั้งนี้ 'เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์' บุตรสาวของจอห์น สเปนเซอร์ (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 8) กลายเป็นซินเดอเรลลาเพียงชั่วข้ามคืนจากการอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และมงกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ชีวิตของ 'เจ้าหญิงแห่งเวลส์' วัย 20 ชันษาก็ได้เฉิดฉายในวงการสื่อทั่วโลกนับตั้งแต่บัดนั้น

จากเลดี้ไดอานา สู่การเป็น 'ไดอานา' เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เพียงชั่วข้ามคืน ทำให้พระองค์ต้องเผชิญกับการรับมือของสื่อที่ตามติดเพื่อนำเสนอเรื่องราวของพระองค์ในทุกฝีก้าว ขณะที่ราชวงศ์อังกฤษยังคงมีวัฒนธรรมที่เข้มงวด และพระสวามีก็ยังคงรักกับอดีตคู่ควงคนเก่าอย่าง คาร์มิลา ปาร์เกอร์ โบวล์ จึงทำให้เจ้าหญิงไดอานาในวัย 20 กว่าชันษาต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ความสวยและความมีเสน่ห์ของเจ้าหญิงไดอานาที่มีความโดดเด่นต่างจากสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์อื่นๆ ทำให้พระองค์หันไปจับมือกับสื่อเพื่อเรียกร้องความสนพระทัยจากพระสวามีและราชวงศ์อังกฤษ เนื่องจากพระองค์ทรงเชื่อว่า การที่สื่ออยู่ข้างพระองค์จะเป็นทางเดียวในการสู้กับราชวงศ์อังกฤษ และสื่อก็ไม่ทำให้พระองค์ทรงผิดหวัง เพราะพระองค์ทรงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ เจ้าหญิงของประชาชนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การเป็นเจ้าหญิงของประชาชนทั่วโลกนั้นมาพร้อมกับพลังอำนาจของสื่อ และขณะเดียวกันพระองค์ก็ใช้สื่อในการทำสงครามจิตวิทยากับราชวงศ์อังกฤษด้วยเช่นกัน 

พระองค์ทรงเชื่อว่าสามารถเรียกหากล้องได้เมื่อพระองค์ต้องการ และสามารถไล่สื่อได้ หากเห็นว่าเพียงพอแล้วเช่นกัน 

‘ปีเตอร์ สโตทฮาร์ด’ บรรณาธิการ Times of London กล่าวว่า เจ้าหญิงไดอาน่าทรงถูกนักข่าวประะจบสอพลอและยุแยง รวมถึงการเลือกเสนอข่าวมาตลอด “อย่ากล่าวว่าพระองค์ทรงขาดมุมมองที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับสื่อ เนื่องจากพระองค์ก็ทรงใช้สื่อและสื่อก็ใช้พระองค์เช่นกัน”

สื่อกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์และพระสวามี เจ้าฟ้าชายชาร์ลในช่วงระหว่างการแยกทางและหย่าร้างกัน ราชวงศ์อังกฤษโกรธพระองค์เป็นอย่างมากเมื่อพระองค์ร่วมมือกับ ‘แอนดรูว์ มอร์ตัน’ นักเขียนชาวอังกฤษให้เขียนชีวประวัติของพระองค์ในหนังสือชื่อ ‘Diana: Her True Story’

ชีวิตของ 'ไดอานา' ในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์ โลดเเล่นอยู่ในสื่อต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งในพระกรณียกิจสาธารณะ และเรื่องราวส่วนพระองค์ในมุมต่างๆ จนกระทั่งวันสุดท้ายในชีวิตของพระองค์ที่เกิดขึ้นจากการไล่ล่าของปาปารัสซี จนนำไปสู่อุบัติเหตุรถชนเสาในอุโมงค์ลอดถนนในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้เจ้าหญิงผู้เป็นที่รักของคนจำนวนมากทั่วโลกสิ้นพระชนม์ทันทีในที่เกิดเหตุ

การสิ้นพระชนม์ของที่ก่อการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อทั่วยุโรป

อุบัติเหตุในกรุงปารีสครั้งนั้นมีผลทำให้อารมณ์ของสาธารณชนหันมาต่อต้านการทำงานของปาปารัสซีขณะที่สื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษอย่าง The Sun และ Mirror ก็มียอดขายตกเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2525 หลังการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงแห่งเวลล์

ผลสำรวจในปี 2540 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาพบว่า ประชาชนกว่า 43% เห็นว่าช่างภาพสื่อต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพระองค์ ขณะที่ 33% มีความเห็นว่าคนขับรถส่วนพระองค์ก็มีความผิด ฐานขับรถโดยประมาทเช่นกัน 

แม้ว่าในปีที่เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์นั้นอังกฤษจะมีพระราชบัญญัติปกป้องการคุกคาม (PHA) ซึ่งบังคับใช้ก่อนหน้าที่พระองค์จะเสียชีวิตเพียง 2เดือน แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่สายไปสำหรับการกระทำของสื่อ แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้นในการปกป้องคนดังจากการคุกคามของปาปารัสซีและสื่อ

ขณะที่คณะกรรมาธิการร้องเรียนสื่อ (PCC) ออกมาตรการปฏิบัติที่เรียกว่าการเสริมสร้างจรรยาบรรณสำหรับสื่อมวลชนทั่วยุโรป ในเดือน ม.ค. 2541 โดยมาตรการดังกล่าวระบุว่า การใช้เลนส์ยาวในการถ่ายรูปบุคคลในที่ส่วนตัวโดยปราศจากความยินยอมเป็นที่ไม่สามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ยังมีการนิยามถึงสถานที่สาธารณะและสถานที่ส่วนตัวเป็นครั้งแรกของการทำงานของสื่อในยุโรป ขณะเดียวกันบรรณาธิการสื่อต้องรับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวของนักข่าวหรือนักข่าวฟรีแลนซ์ด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา วัฒนธรรมการคุกคามของสื่อที่ไม่เหมาะสมยังคงมีอยู่ แต่เส้นจรรยาบรรณของสื่อแท็บลอยด์และมาตรการปกป้องการถ่ายรูปเหล่าคนดังต่างๆ ได้ถูกยกระดับขึ้น ขณะเดียวกันสื่อและราชวงศ์อังกฤษก็มีข้อตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการในการถ่ายรูปสมาชิกราชวงศ์อังกฤษซึ่งจะสามารถถ่ายได้ในกรณีที่มีการนัดหมายกับสื่อเท่านั้น 

ขณะที่บรรณาธิการสื่อต่างๆ ก็มีความเข้มงวดในการรับภาพถ่ายคนดังจากช่างภาพอิสระ หรือเหล่ากลุ่มปาปารัสซีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสื่อต่างๆ จะมีการสอบถามถึงที่มาของรูปภาพและสถานการณ์ของการถ่ายภาพคนดังเหล่านั้นก่อนที่จะในการเผยแพร่ภาพดังกล่าว ทั้งนี้เป็นผลมาจากกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา

ที่มา CNN / Times / Washington post