สรุปข้อควรรู้ประเด็นกฎกระทรวงสาธารณสุข ครอบครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพ และแนวคิดผู้ป่วยคือผู้เสพ
- แนวคิด 'ผู้ป่วยคือผู้เสพ' เป็นแนวคิดที่นานาประเทศหันมาใช้แก้ปัญหายาเสพติด
เพื่อแยกผู้ป่วยไปบำบัดให้เลิกการเสพยา แล้วลงโทษเฉพาะผู้ขาย
- ประเทศไทยมีแนวคิดนี้มานานแล้ว และเกิดเป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอเช เมื่อมีการยกร่างกฎหมาย โดยเปิดช่องให้สันนิษฐานผู้ครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้าในปริมาณน้อยว่าเป็น ‘ผู้เสพ’ แล้วนำไปบำบัดแทนการติดคุกได้ แต่เกณฑ์ 'น้อย' แค่ไหนนั้นให้ รมว.สาธาณสุขประกาศในกฎกระทรวง
- ก่อนหน้าจะเปิดช่องให้นำคนเสพไปบำบัดแบบนี้ได้ กฎหมายเดิมกำหนดโทษไว้แต่เพียงการติดคุกเท่านั้น โดยไม่แยกแยะว่าเสพหรือค้า:
> กรณีผู้เสพ (ตรวจฉี่ม่วง) โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
> กรณีมีไว้ในครอบครองกี่เม็ดก็ตาม โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
> กรณีเป็นผู้ค้า โทษจำคุก 1 - 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 - 1.5 ล้านบาท
- ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ยังไม่มีเกณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นผู้เสพออกมา แม้เคยมีแนวคิดว่าจะให้ขั้นต่ำอยู่ที่ 15 เม็ด แต่จากนั้นไม่นานเกิดโศกนาฏกรรมที่ศูนย์เลี้ยงเด็กหนองบัวลำภู กระแสสังคมจึงตีกลับ
- ต่อมาอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขในเวลานั้น ออกมาให้ความเห็นว่า ยาบ้า 1 เม็ดก็ต้องลงโทษจำคุก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลังและยิ่งเพิ่มปัญหา
- ถ้าดูจากสถิติกรมราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า 70-80% เป็นคดียาเสพติด และส่วนมากเป็นผู้เสพ-ครอบครองเล็กน้อย-ผู้ค้ารายย่อย นอกจากนี้ในบรรดาผู้ที่ติดคุกแล้วได้รับการปล่อยตัวยังกระทำผิดซ้ำกลับเข้าคุกใหม่เพราะเสพยาอีกมีถึง 66%
- ต่อมามีรัฐบาลใหม่ รมว.สาธารณสุข เปลี่ยนเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีการศึกษาเพื่อออกประกาศกำหนดเกณฑ์ว่าครอบครองไม่เกินเท่าใด จึงมีโอกาสสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ
- เกณฑ์นี้เป็นการกำหนดโดยอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์ว่าการเสพปริมาณเท่าใดต่อวันจึงมีอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
- ตอนแรกมีการเสนอว่าควรกำหนดที่ 10 เม็ด ต่อมามีการปรับเกณฑ์เป็น 5 เม็ด และเมื่อ 9 ก.พ. ได้มีการออกกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดไว้ที่ 5 เม็ดหากเป็นผู้ป่วย (ไม่มีพฤติการณ์การเป็นผู้ค้า) จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดแทนการจำคุกได้
- ทันทีที่มีประกาศนี้ก็มีดราม่าบังเกิด โดยรวมเป็นความกังวลว่า คนเสพยาจะไม่ถูกกันออกจากสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ค้าหลุดรอดจากการลงโทษได้
- นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า
1. หากมีพฤติการณ์เป็นผู้ค้า แม้จะครอบครองเพียง 1 เม็ด ก็ผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย มีการแยกแยะชัดเจน
2. ผู้ที่เป็นผู้เสพจริงๆ และครอบครองยาไม่เกิน 5 เม็ด ต้อง ‘สมัครใจ’ เข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งใช้เวลา 3-6 เดือน และต้องได้รับการรับรองว่าสามารถเลิกเสพยาได้แล้ว
3. มีการเตรียมศูนย์บำบัดรองรับอย่างเพียงพอ เช่น ผู้เสพที่ไม่มีอาการจะใช้ฐานชุมชนบำบัด 200 อำเภอ โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายคือ ทหาร ตำรวจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนผู้เสพที่มีอาการเล็กน้อยถึงอันตรายต่อสังคม จะต้องเข้าบำบัดทางการแพทย์ เบื้องต้น มีการยกระดับให้ทุกโรงพยาบาลมีแผนกจิตเวชสำหรับบำบัดผู้ติดยาเสพติดสำหรับรองรับกรณีเฉียบพลัน จากนั้นจะส่งต่อ ‘มินิธัญรักษ์’ ซึ่งเตรียมรองรับไว้ทุกจังหวัดแล้ว
4. ประกาศกระทรวงดังกล่าว ไม่ได้กำหนดเกณฑ์เฉพาะยาบ้า แต่กำหนดเกณฑ์สำหรับยาเสพติดอื่นๆ ด้วย ล้อไปตามกฎหมายยาเสพติดที่ได้รับการแก้ไขในยุครัฐบาลประยุทธ์
- ป.ป.ส. ซึ่งเป็นหน่วยปราบปรามยาเสพติด ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า การจับกุมผู้ใช้สารเสพติดที่ผ่านมาพบว่า 100 คน จะแบ่งเป็นผู้ค้า 12.5 คน แปลว่าผู้เสพนั้นมีจำนวนมากที่จะได้มีโอกาสบำบัดให้เลิกยา
- ป.ป.ส.ประมาณการด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้เสพยาบ้าที่ไม่มีอาการประมาณ 1 ล้านคน และผู้เสพที่มีอาการประมาณ 5 แสนคน
- ตัวเลขของ ป.ป.ส.นั้นน่าตกใจ หากไม่มีนโยบายแยกกลุ่มคนไปบำบัดเช่นนี้ คุกจะแน่นและวงจรผู้เสพจะดำเนินต่อไป จนผู้เสพจำนวนหนึ่งผันตัวเป็นผู้ค้าเพราะไม่มีเงินซื้อยา ดังนั้น จุดสำคัญที่ต้องจับตาจึงอยู่ที่ 1. กระบวนแยกผู้เสพ-ผู้ค้าในชั้นจับกุมจะมีความแม่นยำเพียงไหน 2.กระบวนการบำบัดที่เตรียมไว้รองรับนั้นจะมีประสิทธิภาพเพียงใด