ไม่พบผลการค้นหา
ต้นทุนที่สูงทั้งด้านธุรกิจและต้นทุนแฝงประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ SMEs ไทย โตยาก ทางออกคือการปรับตัวด้านประสิทธิภาพ เทคโนโลยี คุณภาพ และช่องทางการขาย

SMEs หรือ "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ซึ่งกระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการค้า บริการ การผลิต ก่อสร้าง และเกษตร มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน อาทิ ช่วยลดอัตราการว่างงานของประชากร ช่วยในการเชื่อมโยงภาคการผลิตขนาดย่อยกับภาคการผลิตขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งพัฒนาฝีมือแรงงาน

แม้ธุรกิจ SMEs จะมีความสำคัญ แต่ผู้ประกอบการกลับต้องเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสภาพการแข่งขันจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความท้าทายและอุปสรรคเหล่านี้ ส่งผลให้ SMEs ของไทยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้


ธปท เปิดผลวิจัยอนาคต SME ไทย

ต้นทุนสูง-การแข่งขันรอบด้าน 2 ปัญหาหลักของ SMEs ไทย

'ศราวัลย์ อังกลมเกลียว' ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจอุปทานและโครงสร้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากผลสำรวจปัญหา อุปสรรค และการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ของ SMEs กว่า 2,400 ราย ทั่วประเทศไทยที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า อุปสรรคหลักของ SMEs คือ

(1) ต้นทุนธุรกิจสูง ซึ่งมีทั้งในรูปของต้นทุนธุรกิจ อาทิ ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนด้านการเงินในประเด็นดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงต้นทุนแฝงอย่าง ความยุ่งยากในการติดต่อกับภาครัฐหรือการขอสินเชื่อ

(2) การแข่งขันรุนแรงจากรอบด้าน SMEs ไม่ได้แข่งกับ SMEs ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพยายามขยายสาขาไปในทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐของไทยยังไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับใดออกมาใช้เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับ SMEs ทั้งนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs เช่นกัน


ธปท เปิดผลวิจัยอนาคต SME ไทย
“คู่แข่งสำคัญของ SMEs อันดับต้นเลยคือ SMEs ด้วยกันเอง เพราะธุรกิจเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่จะเติบโตหรือเปล่า อันนี้เป็นโจทย์หลักของ SMEs ไทย” ศราวัลย์ กล่าว

ทางเลือกและทาง (ไม่) รอด

ขณะที่ 'ฐิตา เภกานนท์' เศรษฐกร สำนักนโยบายเศรษฐกิจอุปทานและโครงสร้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย มองต่อไปว่า SMEs ในปัจจุบันแก้ปัญหาที่บริษัทเผชิญอย่างไร พบว่า จำนวนร้อยละ 79 เลือกที่จะปรับลดราคาลง โดยหวังว่าจะเป็นการเพิ่มยอดขาย อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้กลับทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบภาวะยอดขายลดลงเพราะเน้นแต่การปรับลดราคาไม่ได้เน้นที่คุณภาพ

ทางเลือกที่สองที่ผู้ประกอบการเลือกใช้คือการแข่งขันด้วยประสิทธิภาพของเครื่องจักรและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริการจัดการเพื่อเป็นการลดต้นทุน อีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบการเลือกใช้คือการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์รวมถึงเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเป็นการขยายตลาด

หากมองไปที่ SMEs ที่มีการประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาทั้งจากการใช้เทคโนโลยี การสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขาย พบว่า ผลประกอบการของ SMEs เหล่านั้นมีการปรับตัวดีขึ้นและมีภาระต้นทุนทางการเงินเบาลง จากผลสำรวจพบว่ามีเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่เห็นว่าภาระต้นทุนทางการเงินมีปัญหา ขณะที่ SMEs ที่ไม่มีการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ถึงร้อยละ 64 มองว่าภาระต้นทุนทางการเงินยังเป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ

ธปท เปิดผลวิจัยอนาคต SME ไทย
"เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ รายรับเพียงพอกับรายจ่าย เขาจะมีทางเลือกในการขอสินเชื่อมากขึ้น เพราะแบงก์จะเดินมาหาเขาจากความมั่นใจที่มีต่อธุรกิจเพราะหลังบ้านมีการจัดการอย่างเป็นระบบ" ฐิตา กล่าว

ออนไลน์ไม่ใช่คำตอบเสมอไป

ฐิตา ย้ำว่า แม้การนำสินค้าเข้าตลาดออนไลน์จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้กับผู้ประกอบการ แต่นั่นอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า สินค้านั้นๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ใครๆ ก็ขายกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การค้าในโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยกลยุทธ์การตัดราคาและความดุเดือดในการแข่งขัน สินค้าหลายประเภทที่เหมือนกันไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องยอมตัดราคา ซึ่งวนกลับไปที่ปัญหาการเลือกทางออกที่สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการต้องแบกภาระต้นทุน ดังนั้นหากผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเอกลักษณ์ให้กับสินค้าได้ ช่องทางออนไลน์ก็ไม่ใช่คำตอบในการอยู่รอด

SMEs เมืองรอง-ลูกเมียน้อย

ในภาพรวมนั้น SMEs ทั้งระบบประสบปัญหาความยากลำบากทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม SMEs ในเมืองรองกลับเผชิญปัญหาที่หนักกว่านั้น ฐิตาชี้ว่า ปัจจุบัน SMEs ในเมืองรองเผชิญปัญหา 3 ประการคือ

  • ในแง่ขนาดของตลาดที่เล็กกว่าตามเมืองใหญ่ส่งผลให้ต้องแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่พยายามแผ่อำนาจเข้ามามากขึ้นเป็นเท่าตัว
  • ความไม่เพียงพอของแรงงานในเมืองรองเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เพราะคนรุ่นใหม่อพยพไปเมืองหลักกันหมด อีกทั้งยังมีทัศนคติว่าการทำงานในบริษัทใหญ่ดีกว่าการทำงานในบริษัทเล็ก
  • โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ถนนชำรุดและคับแคบเกินไปส่งผลให้การขนส่งเกิดความล่าช้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรและเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ตัดโอกาสในการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกของ SMEs

พัฒนาและปรับไปพร้อมกัน

โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่งและเป็นที่ต้องการของตลาด เตรียมความพร้อมเพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เพราะการตามเทคโนโลยีไม่ทันก่อให้เกิดความเสียหายในด้านเม็ดเงินมากกว่าการลงทุนในเทคโนโลยี

ด้านภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อ SMEs ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมแซมบำรุงรักษาถนน สัญญาณอินเทอร์เน็ต การส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาทิ หน่วยความจำออนไลน์ (Cloud) หรือโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ทั้งนี้ภาครัฐยังควรพิจารณาการลดกฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจจากขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาเพื่อเป็นการลดต้นทุนแฝงและยังควรขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้แก่ SMEs โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีข้อได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนและเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่จูงใจให้แรงงานทำงานในท้องถิ่นตนเอง

ส่วนหน่วยงานอย่าง ธปท. มีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลางเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เช่น การใช้จ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) หรือจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Payment)

การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นการสนับสนุน SMEs ของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของ SMEs หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ก็ยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศมากนัก เพราะประชาชนมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นจากธุรกิจภายในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :