วันที่ 24 พ.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ระหว่างกรรมาธิการฯ เสนอรายงานเรื่อง เทคโนโลยี 5G มาได้ระยะหนึ่ง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้แสดงเจตจำนงจะขอนับองค์ประชุมเพื่อลงมติ เนื่องจากตนไม่เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ
ทำให้ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประทานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ประธานการประชุม กล่าวว่า หากอะไรพอหยวนๆ กันได้ ก็ขอให้อภิปรายเสนอแนะกันให้เต็มที่ อะไรที่กรรมาธิการฯ แก้ไขได้ก็แก้ไข แต่สมาชิกฯ ก็เห็นชอบในหลักการกันไป โดยเท่าที่ฟังอภิปรายมา สมาชิกฯ ก็เห็นความสำคัญของผลการศึกษากันทั้งหมด
"ถ้าให้ผ่านได้ผมก็อยากให้ผ่าน แต่ถ้าจะเสนอมาว่าฟังแล้วไม่ผ่าน ผมยังไม่เห็นด้วย อะไรแค่นี้กรรมาธิการก็ไม่รู้จะตอบยังไง อยากจะขอท่านพิเชษฐ์ ท่านเป็นผู้อาวุโสของสภา เวลาสภาก็เหลือไม่นานแล้ว ช่วยกันพิจารณาให้ผ่านๆ ไป ถ้าไม่ใช่ประเด็นหลักจริงๆ ที่ต้องขอเพราะท่านพิเชษฐเป็นเพื่อนผม ขอใช้คำพูดส่วนตัวนิดหนึ่ง" ศุภชัย กล่าว
โดย พิเชษฐ์ ย้ำว่า เป็นเอกสิทธิของเสียงส่วนน้อยในการเสนอความเห็น ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบมากกว่าก็ชนะไป แต่การประชุมสภาเป็นความรับผิดชอบของสมาชิก 500 คนท่านลองดูซิว่าตอนนี้มีกี่คนผมไม่อยากนับองค์ประชุม เพราะไม่รู้ว่าสมาชิกฯ ได้ฟังจริงหรือไม่
ขอร้องอย่านับองค์ประชุม
จากนั้น วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า เหตุที่ต้องประชุมเพิ่มในวันศุกร์ เพราะเรื่องรายงานที่ค้างพิจารณายังมีอยู่มาก เพื่อให้มีโอกาสนำเสนอผลการศึกษาไปเป็นแนวทางต่อรัฐบาล การประชุมวันศุกร์ไม่ได้บังคับให้ต้องมาฟัง แต่ใครสะดวกก็มาช่วยกันฟัง ตนขอร้อง พิเชษฐ์ ว่า ถ้าหากจะนับองค์ประชุมก็คงจะไม่พอ และสภาฯ ต้องล่มอีก
ศุภชัย จึงกล่าวต่อไปว่า ถ้ายืนยันก็ต้องโหวตอยู่ดีเพราะเคารพสิทธิของสมาชิกฯ ถึงแม้จะเช็คองค์แล้วล่ม ก็จะไม่ปิดประชุมหนีแน่นอน
จากนั้น กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ระบุว่า เห็นใจ พิเชษฐ์ อาจจะมาช้าเพราะรถติด จึงมาไม่ทันการชี้แจงกรรมาธิการฯ และเมื่อเห็นว่าองค์ประชุมน้อย โดยไม่มีเหตุผลใดว่ากรรมาธิการฯ ไม่เห็นควรให้ผ่าน เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้นำรายงานนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า พิเชษฐ์ ได้เปิดอ่านรายงานเล่มนี้หรือยัง ไม่เห็นด้วยตรงไหนอย่างไร ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บอกว่าไม่เห็นด้วยทั้งฉบับ
"ไม่อยากให้เอาการเมืองมาเล่นสนุก ในวันที่ผู้แทนฯ ทำหน้าที่ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ กรรมาธิการฯ ก็เห็นความสำคัญ คราวที่แล้วผู้ชี้แจงป่วย คราวนี้ก็ยังป่วย แต่เราเห็นความสำคัญ ไม่เลื่อน เพราะเวลาก็มีจำกัด" กัลยา กล่าว
ส.ส.หลายส่วน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างพยายามทัดทาน โดยอ้างว่าที่ผ่านมาก็การรับฟังรายงานไม่เคยมีความจำเป็นต้องลงมติกัน และหากสภาฯ ล่มไปในคราวนี้อีกก็น่าเสียดาย เพราะรายงานฉบับนี้มีข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ และรายงานฉบับถัดจากนี้ก็มีความสำคัญทั้งสิ้น
ครบหวุดหวิดไม่ล่ม
อย่างไรก็ตาม พิเชษฐ์ ยังยืนยันว่า ทุกการประชุมสภาฯ ต้องมีองค์ประชุมพร้อมไว้เกินกึ่งหนึ่ง ตนเป็นผู้เห็นต่างเพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องมาถามว่าไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด ถ้าอย่างนั้นก็ลองลงมติดู ตนแพ้อยู่แล้ว ทำตามหลักการที่สร้างไว้ ไม่มีอะไรต้องกลัว
จากนั้น ศุภชัย จึงวินิจฉัยว่า ในเมื่อมีสมาชิกฯ เห็นต่างกันเป็น 2 ฝ่าย จึงต้องมีการลงมติ และได้เรียกสมาชิกฯ ให้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม ซึ่งใช้เวลารออยู่ประมาณ 13 นาที จึงได้แจ้งว่าองค์ประชุมครบเกินกึ่งหนึ่งด้วยจำนวน 247 คน แล้วจึงได้มีการลงมติเห็นชอบกับรายงานของกรรมาธิการฯ
'ศุภชัย' ขอบคุณเพื่อน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกต แต่ยังมีสมาชิกฯ ติดใจอยู่ จึงต้องลงมติอีกครั้งว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงมีสมาชิกฯ เสนอให้ประธานใช้มาตรา 88 ซึ่งหากสมาชิกฯ ไม่ติดใจแล้ว ก็สามารถผ่านรายงานฉบับนี้ไปได้
พิเชษฐ์ จึงลุกขึ้นถามว่า จะให้ตนทำอย่างไร ศุภชัย จึงอธิบายว่า หาก พิเชษฐ์ ยังคงติดใจกับรายงาน การประชุมจะดำเนินต่อไม่ได้ จึงขอร้องให้ไม่ติดใจในรายงานนี้ได้หรือไม่ จะได้ใช้ข้อบังคับ 88 เพื่อดำเนินการประชุมต่อไป ซึ่ง พิเชษฐ์ ก็ได้ตกลง
"ขอบพระคุณท่านพิเชษฐ์ อย่างนี้สิถึงจะเป็นเพื่อนกันได้อีกนาน ก่อนหน้านี้ผมว่าจะตัดขาดความเป็นเพื่อนแล้ว ตอนนี้รักมากขึ้น" ศุภชัย กล่าวติดตลก