ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์อสังหาฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินภาวะอสังหาริมทรัพย์ปี 63 ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงถึง 2.1 แสนหน่วย หลังยอดขายครึ่งหลังปี 62 ลดกว่าร้อยละ 21.7 เหตุภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการระบาดของโควิด-19 แนะนักลงทุนระมัดระวังการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ด้านผู้ประกอบการขอรัฐยืดบังคับ LTV และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผย ผลสำรวจภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พบว่า ภาพรวมของตลาดครึ่งหลังปี 2562 จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายในตลาดเหลือขายที่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนถึง 175,754 หน่วย เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 หน่วย หรือร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 ที่มีหน่วยเหลือขายรวม 151,993 หน่วย

โดยในด้านการขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน 34,114 หน่วย ลดลงประมาณร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยอาคารชุดและทาวเฮาส์ มีจำนวนหน่วยเหลือขายในระดับที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาคารชุดมีหน่วยเหลือขายจำนวน 76,254 หน่วยและทาวน์เฮาส์มีหน่วยเหลือขายจำนวน 56,213 หน่วย ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีหน่วยเหลือขายจำนวน 28,182 หน่วย

และเมื่อพิจารณาจากอัตราการดูดซับเป็นการสะท้อนภาวะความสมดุลระหว่างตัวอุปทานอยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาพรวมของอัตราการดูดซับในครึ่งหลังของปี 2562 ลดต่ำลงมาค่อนข้างมากซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวการณ์ขายไม่ดี อุปทานในระหว่างการขายมีจำนวนมากขึ้น แต่อัตราการขายได้ใหม่น้อยลง อัตราการดูดซับจึงลดต่ำลง โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 อัตราดูดซับต่อเดือนของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลลดเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 5 ปี

ทั้งนี้ REIC คาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่สะสมจำนวนประมาณ 79,408 หน่วย และมีหน่วยเหลือขายสะสมสูงถึง 212,750 หน่วย หรือ มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของอาคารชุด จะมีหน่วยเหลือขายสะสมสูงถึงร้อยละ 43.9-44.3 ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังในส่วนของการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมอสังหาริมทรัพย์กว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวได้คือในปี 2564

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐยังไม่ได้พูดถึงมาตรการที่จะมาดูแลภาคแอสังหาริมทรัพย์โดยตรง หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แม้ปัจจุบันจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ช่วยเหลือบ้างส่วน แต่ก็ไม่สามรถนำซอฟต์โลนไปใช้อะไรได้มากกว่าการดูแลลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งประเมินว่าผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์จะอยู่รอดได้อีก 3-6 เดือนเท่านั้น ดังนั้นขอให้รัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายที่จะส่งผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ทั้ง มาตรการ LTV รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าขอให้ชะลอ หรือ ยืดระยะเวลาออกไปก่อน เนื่องจากเป็นมาตรการที่ซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ และการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย