จากผลการประชุม ครม. วันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แล้ว โดยมีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
หากแต่เมื่อศึกษารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กลุ่มประชาชนและคนในวงการบันเทิงจำนวนมากมองว่า ร่างฯ ดังกล่าวยังไม่ได้สร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิสมรสและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง จึงมีกระแสรณรงค์ในประเด็น 'สมรสเท่าเทียม' ที่เกี่ยวโยงกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ
ที่ผ่านมา นายธัญวัจน์ได้เชิญชวนประชาชนให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หรือ ป.พ.พ. เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้บุคคลธรรมดา ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมองว่าจะสร้างความเสมอภาคให้กับทุกเพศมากกว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และมีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้จนในโลกโซเชียลเกิดแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมทวิตเตอร์ไทยอยู่ช่วงหนึ่ง
โดยข้อแตกต่างของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.ที่รณรงค์ประเด็น 'สมรสเท่าเทียม' ของธัญวัจน์และพรรคก้าวไกล คือ ในรายละเอียดของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น ถูกวิจารณ์ว่าให้สิทธิที่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ผู้หลากหลายทางเพศ และมีการเลือกปฏิบัติในหลายๆ ด้าน อาทิ การแยกสถานะออกมาเป็น ‘คู่ชีวิต’ จะทำให้ผู้ที่ไม่จดทะเบียน ไม่ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐหลายอย่างเหมือนกับ ‘คู่สมรส’ เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส, สวัสดิการของคู่ชีวิตที่เป็นพนักงานของรัฐไม่ได้ และขอสัญชาติให้กับคู่ชีวิตไม่ได้ เป็นต้น
ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ ได้พูดคุยในประเด็นดังกล่าว กับ 2 นักแสดงวัยรุ่น สิงโต ปราชญา เรืองโรจน์ และ เต ตะวัน วิหครัตน์ ที่ให้ความสนใจในประเด็นนี้ และแบ่งปันข้อมูลเรื่องดังกล่าวในโซเชียลส่วนตัว
สิงโต ปราชญา ยอมรับว่าตอนแรก เขาเองไม่มีความรู้ในข้อกฎหมายเรื่องนี้มากนัก แต่พอมองเห็นว่า เรื่อง สมรสเท่าเทียม เป็นเรื่องใกล้ตัว คนรอบตัวเขา เป็นคนที่ต้องการการสมรสเพศเดียวกันค่อนข้างเยอะ ตนเองได้รับรู้ถึงการใช้ชีวิต และเกิดปัญหายังไงบ้างกับข้อกฏหมายจึงเริ่มหาข้อมูล และแบ่งปันข้อมูลผ่านโซเชียลของตนเอง
“สิง เห็นในทวิตเตอร์ที่ให้ เข้าไปแสดงความคิดเห็น ถึงเรื่อง สมรสเท่าเทียม และสิง รู้สึกว่าทำไม คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นน้อยจังเลย มันอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ เราก็เลยขอเป็น 1 ในกระบอกเสียงแบ่งปันข้อมูล อย่าง สิง พอได้ไปศึกษาข้อมูล สิ่งที่พบคือ ปัญหาของการเซ็นยินยอมในการรักษาบางอย่าง ซึ่งบางครั้งมันเร่งด่วน ต้องผ่าตัดด่วนแต่ว่าไม่สามารถไปผ่าตัดได้เพราะว่าไม่มีญาติเซ็นให้การยินยอม คู่รักที่เป็นเพศเดียวกันของเขา ไม่สามารถเซ็นได้ ผมก็สงสัยว่าทำไมหละชีวิตคนนะ ในกรณีที่มันฉุกเฉินขนาดนี้ แล้วเขาเป็นคู่รักใช้ชีวิตกันมาตั้งหลายปีทำไมเขาถึงเซ็นให้ไม่ได้ อันนี้มันคือช่องว่างของกฎหมายที่เรารู้สึกว่าเปลี่ยนได้ไหม ให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ไหม ให้ความเท่าเทียมกับเขา ในเรื่องของเพศเดียวกัน มันควรจะเป็นเรื่องที่เท่าเทียมกันได้แล้ว ไม่จำเป็นจำกัดตัวเองต้องเป็นชายแต่งงานกับหญิงเท่านั้น ถึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนถ้าคุณสมรสกันคุณก็จะได้สิทธิเท่าเทียมกัน น่าจะดีกว่า
สิง มองว่า "พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ออกมามันยังไม่ครอบคลุมจริงๆครับ ถ้าเกิดมันครอบคลุมจริงๆ มันคงไม่มีปัญหาตรงนี้ออกมา ผมอยากให้เขาสำรวจมากกว่านี้ ว่ามันเกิดปัญหาอะไรบ้าง ของการใช้ชีวิตของคู่สมรสเพศเดียวกัน ทำไมถึงยังมีการออกมาเรียกร้อง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มันยังไม่ถูกคลี่คลาย เขาสมควรได้สิทธิเท่าเทียม”
ทั้งนี้ นักแสดงหนุ่มยังได้ทวีต ในทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงประเด็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ว่า "แต่.. แต่.. สิ่งที่ออกมา มันไม่ใช่ความเท่าเทียมที่พวกเขาต้องการนะแบบนี้ เห้อมมม"
ขณะที่ เต ตะวัน วิหครัตน์ ให้ความคิดเห็น ในเรื่อง สมรสเท่าเทียม ว่า "ยุคนี้คือยุคของความเท่าเทียม ผมไม่อยากให้เอากรอบความคิดเดิมๆ มาจำกัดสิทธิของคน ภาพรวมของกฎหมายเกิดขึ้นมาให้ผู้คนอยู่กันอย่างสันติ กฎหมายที่ทำให้คนบางกลุ่มมีสิทธิไม่เท่ากับผู้อื่น ก็ควรแก้ไขไปตามยุคสมัย พื้นฐานของกฏหมายนี้ อยากให้ทุกๆ คนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ได้รับสิทธิเหมือนๆ กัน บางคนอาจจะบอกว่า ก็อยู่ด้วยกันไปเฉยๆ ก็ได้ จริงๆ มันมีรายละเอียดหลายๆ อย่างมาก คน 2 คนอยู่ด้วยกัน มันจะมีเรื่องของการทำนิติกรรมต่างๆ สินสมรส มรดก หรือการเซ็นยินยอมทางการแพทย์ อยากให้ทุกคนเปิดใจให้กว้าง เพราะความรักที่หลากหลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์"
"นี่มันคือสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียม - เต ตะวัน"
"สมรสเท่าเทียม มันจะเป็นรากฐานของการยอมรับความแตกต่างในสังคมมากขึ้นการสมรสที่ทำได้เพียงแค่เพศชายเพศหญิง มันส่งผลให้เด็กทุกคนได้รับการปลูกฝัง ว่าการแต่งงานเป็นเพียงชายหญิง ถ้าเราปรับตั้งแต่ตรงนี้ มันจะทำให้เด็กที่เกิดมาใหม่ ได้รับการวางรากฐานทางความคิดใหม่ ไม่เฉพาะผู้หญิงผู้ชายก็แต่งงานได้ และยอมรับความแตกต่างมากขึ้น มันจะช่วยลด การเหยียด การบูลลี่ หรือมองกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวประหลาด "
สำหรับ สาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้
1. "คู่ชีวิต" หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ป.พ.พ.) ของกระทรวงยุติธรรม มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี "คู่สมรส" หรือ "คู่ชีวิต" อยู่ไม่ได้
2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน "คู่ชีวิต"
3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ป.พ.พ.) ของธัญวัจน์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เปลี่ยนจากการระบุคำว่า 'ชาย-หญิง' ไปเป็น 'บุคคล-บุคคล' ให้ทุกคนมีสิทธิสมรสกันได้
2. เปลี่ยนจาก 'สามี-ภรรยา' ไปเป็น 'คู่สมรส' ถอดบทบาทตามแบบกฎหมายเดิมให้คู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมเสมอภาคกันมากขึ้น
3. การหมั้นเปลี่ยนจาก 'ชาย-หญิง' ให้เป็น 'ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น' ไม่ต้องบังคับว่าฝ่ายไหนจะหมั้นหรือรับหมั้น เพราะควรเป็นความตกลงปลงใจของคู่นั้นๆ เอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :