ไม่พบผลการค้นหา
Thailand Talks 2022  เปิดเวทีจับคู่คนเห็นต่าง 'พรรณิการ์–สามารถ' สะท้อนมุมมอง 'การแสดงออก' ควรมาพร้อมกาลเทศะ ใช่หรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2565 Thailand Talks 2022 ที่ อาคารสยามสเคป กทม. จับคู่ “คนเห็นต่าง”ระหว่าง พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า และ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช พรรคพลังประชารัฐ พูดคุยในประเด็นคำถาม "เสรีภาพในการแสดงออก ควรมาพร้อมกาลเทศะ ใช่หรือไม่ ?"

สามารถ กล่าวถึงสาเหตุที่ตอบว่าใช่ เพราะเป็นคนที่ยึดในอนุรักษ์นิยม มองว่าประเทศไทยมีรากเหง้า มีวัฒนธรรม หากบอกว่าวันนี้เราสามารถแสดงออกอะไรก็ได้ โดยไม่มีกาลเทศะ อยากจะประท้วง แก้ผ้า ถอดเสื้อ ถอดกางเกง ยกตัวอย่างหากเป็นที่รัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ถามว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการไม่คำนึงถึงเรื่องสถานที่

สำหรับเรื่องการแสดงออกนั้น เราสามารถแสดงออกได้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เราจึงมีสิทธิ์ที่จะพูด มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องไม่ไปละเมิดบุคคลอื่น


"ที่นี่คือประเทศไทย ประเทศเรามีประวัติศาสตร์ เรามีวัฒนธรรม เรามีสถาบัน คำว่ากาลเทศะนั้นเราควรรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และควรรู้ว่าสถานที่นั้นๆ เป็นอย่างไร"
Screen Shot 2565-10-03 at 15.41.51.png
  • สามารถ เจนชัยจิตรวนิช พรรคพลังประชารัฐ


'กาลเทศะ' ใครกำหนด

ด้าน พรรณิการ์ กล่าวชวนทุกคนทำความรู้จัก 'FEMEN' กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซีย ที่ประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอก คำถาม คือ คนเหล่านี้คือคนบ้าที่ไม่รู้จักกาลเทศะหรือไม่ ซึ่งการเปลือยหน้าอกประท้วงดังกล่าว เป็นไปเพื่อประท้วงรัฐบาลปูติน ที่ได้ชื่อว่าอำนาจนิยม เผด็จการ และมีความเป็นชายสูงมาก กดขี่ ผู้หญิงเหล่านี้เขาประท้วงการใช้อำนาจเด็ดขาดของประธานาธิบดีที่มีความเป็นชายสูงมากอย่างปูตินด้วยการเปลือยหน้าอก เพื่อจะบอกว่าพวกฉันคือผู้ที่ไม่ยอมรับในอำนาจของคุณ คือการประท้วงผู้มีอำนาจโดยใช้ร่างกายของตัวเอง ถามว่าคนเหล่านี้ทำไปโดยไม่มีกาลเทศะหรือไม่

พรรณิการ์ ย้อนถึงกรณีที่ตนเองใส่สูท POEM ไปสภาฯ แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทุกท่านจำเรื่อง POEM ตอนที่ตนเข้าประชุมสภาฯ ครั้งแรกได้ไหม การใส่สูทขาว ไล่ดำ แต่ถูกบอกว่าไม่มีกาลเทศะ คำถาม คือ กาลเทศะของใคร ใครเป็นคนกำหนด คำว่ากาลเทศะ คือการประพฤติที่ถูกเวลา ถูกสถานที่ เวลาเราถูกสั่งสอนว่าต้องทำให้ถูกเวลาและสถานที่ใครเป็นคนกำหนดเวลาและสถานที่ที่ถูกต้อง

สามารถ กล่าวว่า ควรหรือไม่ควรสังคมจะเป็นคนกำหนด อย่างที่คุณช่อยกตัวอย่างกรณีรัสเซียขึ้นมา วันหนึ่งประเทศไทยในอีกร้อยปีข้างหน้า อาจจะเป็นแบบที่คุณช่อพูดก็ได้ ดังนั้นสังคมจะบอกเองว่าสิ่งที่เราทำ ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าเกิดวันหนึ่งการเปลือยอกเดินอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าสังคมยอมรับว่าการเปลือยอกเดินในสภาผู้แทนราษฎรไม่ผิด ก็ถือเป็นกาลเทศะในเวลานั้น

พรรณิการ์ แสดงความเห็นว่า การบอกว่าสังคมจะเป็นคนกำหนดนั้น เป็นเหตุผลที่ Weak มาก ยกตัวอย่าง ในโรงเรียน นักเรียนมีจำนวนมากกว่าครู แต่คนที่กำหนดว่าอะไรถูกเวลาถูกสถานที่ คือครู เวลาเราพูดว่าสังคมของโรงเรียนเป็นผู้กำหนดอะไรคือกาลเทศะ จริงๆ แล้ว ไม่ใช่สังคม เพราะถ้าสังคมต้องเป็นนักเรียน ครู คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในโรงเรียน กาลเทศะถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจ

พรรณิการ์ กล่าวว่า การแสดงออกถ้าเราแสดงออกโดยปกติ ไม่ได้บอกว่าสามารถแสดงออกได้โดยไม่มีขอบเขต การแสดงออกต้องมีขอบเขต ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น นั่นคือขอบเขตที่ถูกกำหนด แต่มันไม่ถูกกำหนดโดยกาลเทศะ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถูกกำหนดโดยกาลเทศะ คุณไม่มีวันขัดขืนต่อผู้มีอำนาจได้ เพราะผู้มีอำนาจคือผู้กำหนดกาลเทศะ เวลาคุณประท้วงคุณประท้วงคนที่สูงกว่าคุณ ถ้าคุณต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเขา คุณจะประท้วงเขาได้อย่างไร ทำไม 'FEMEN' ต้องแก้ผ้าประท้วง เพราะเขาไม่ยอมรับอำนาจกฎเกณฑ์ของชายเป็นใหญ่ และของประธานาธิบดีปูติน ถ้าคุณปล่อยให้คำว่ากาลเทศะ ครอบงำการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ คุณคือ ผู้ที่ฝักใฝ่เผด็จการ ส่วนการแสดงความเห็นในขอบเขตของกฎหมายต้องมาดูว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่


'เห็นพ้อง' การแสดงออกต้องไม่ละเมิดผู้อื่น

สามารถ แสดงความเห็นว่า ครูไม่ได้เป็นคนออกกฎ แต่สังคมภายนอกเป็นผู้ออกกฎให้ครูต้องทำตาม อย่างเวลาครูทำผิด โซเชียลมีเดียก็เอาไปลง ดังนั้นกลไกไม่ใช่ครูเป็นคนกำหนด ซึ่งเห็นตรงกันกับคุณช่อว่า การแสดงออกต้องไม่ละเมิดคนอื่น

กฎหมายเป็นกติกาที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกัน การที่บอกว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น ถ้าวันหนึ่งนั้นกฎหมายไม่เป็นธรรม ก็จะต้องถูกแก้กฎหมายนั้นโดยสภาพของมันอยู่แล้ว แต่วันนี้กฎหมายคือ กติการ่วมกัน  กฎหมายในประเทศไทยเรามีในเรื่องของการทำอนาจาร เราจะแสดงออก หรือเรียกร้องสิทธิอะไรก็ตาม ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่น 

พรรณิการ์ กล่าวว่า ความชอบ และจริต กับสิทธิ เสรีภาพ เหมือนกันหรือไม่  เช่น ฉันไม่ชอบกินโอเลี้ยงเลย ฉันเห็นเธอกินโอเลี้ยงแล้วหงุดหงิด เธอละเมิดสิทธิฉัน แบบนี้มันไม่ใช่ ความชอบ เป็นความชอบของเรา ถ้าเกิดว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เราไปบังคับให้เขาชอบและไม่ชอบแบบเรา แบบนั้นเรียกว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพ

สำหรับการที่บอกว่าครูไม่ได้กำหนดกฎในโรงเรียน สังคมเป็นคนกำหนดนั้น อย่างเรื่อง ทรงผมนักเรียน เป็นเรื่องสูงสุดของอำนาจนิยมไทย เรายังเพิ่งรู้ตอนเรียนจบมหาวิทยาลัยไปแล้วว่า ไม่มีกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับใดเขียนไว้เลยว่าให้เด็กนักเรียนหญิงตัดผมสั้นติ่งหู และผู้ชายไถผมเกรียน 

"สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ครูใช้อำนาจสถาปนาขึ้นมาว่าอะไร คือ กาลเทศะ อะไรควร หรือไม่ควรในโรงเรียน ก็คือเด็กต้องตัดผมสั้น ผู้หญิงเสมอหู ผู้ชายตัดเกรียน ทั้งที่ไม่มีสังคมไหน หรือระเบียบไหนให้อำนาจครูในการทำทั้งนั้น นี่คืออันตรายต่อการยอมของผู้มีอำนาจ"


ตกผลึกร่วมกันต่อสังคม

สามารถ กล่าวว่า โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีกฎของเขา บ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง โรงเรียนก็มีกติกาว่า ถ้าจะอยู่โรงเรียนนี้ผมต้องสั้นนะ ถ้ารับไม่ได้ต้องไปเรียนโรงเรียนอื่น เป็นกติกาที่ยังใช้ในโรงเรียน ถ้าวันหนึ่งที่เขารู้สึกว่ากติกานี้ไม่เวิร์ค ทุกคนอยากไว้ผมยาวหมด ไม่มีคนไปเรียน โรงเรียนจะเปลี่ยนกฎเอง ดังนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้มีอำนาจเลย เป็นเรื่องของกติการ่วมกัน ซึ่งกติกาในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบันแล้วก็ได้ มันอยู่ที่กฎกติการ่วมกัน

ดังนั้นการที่ระบุว่าการทำอะไรต้องไม่ละเมิดคนอื่น ยกตัวอย่างถ้าฉันจะแก้ผ้า ปิดตาสิ เธออย่าดูสิ  ก็ร่างกายของฉัน จะแก้ผ้าเดินออกไปข้างนอกก็เป็นสิทธิของฉันอีกฝ่ายก็สามารถพูดได้ว่า นี่ก็ตาฉัน ถ้าปิดตาแล้วมันเดินไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น จะนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงต้องมีกฎหมายขึ้นมา กติกาทั้งหมดต้องมาจากการตกผลึกร่วมกันต่อสังคม

Screen Shot 2565-10-03 at 18.05.53.png
  • พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า

พรรณิการ์ กล่าวตอนท้ายว่า ข้อเท็จจริง คือ กฎหมายไทยมีการกำหนดเรื่องอนาจาร และก่อความเดือดร้อนรำคาญ เวลาเกิดการแก้ผ้าประท้วงขึ้นจริง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประท้วงยอมถูกลงโทษตามกฎหมาย เพื่อที่จะให้ได้ประท้วง เรากำลังพูดกันบนคนละ category ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ยอมรับกฎหมาย เรามองว่ามีกฎหมายนี้ และเรายอมเสียค่าปรับ เพราะมันคือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการประท้วง แต่ถามว่าเราเชื่อมั่นไหมว่า นี่คือสิทธิเสรีภาพของเราในการประท้วง นี่คือสิทธิเสรีภาพของเรา หรือที่เรียกว่าอารยะขัดขืน

สามารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแสดงออกผมเห็นด้วยว่าทำได้ แต่เราต้องเคารพสิทธิผู้อื่น วันหนึ่งถ้าเกิดการตกผลึกร่วมกัน ถ้าเรามองที่ปัญหาของเขาเป็นหลัก ทุกคนมีปัญหา ทุกความมีความขัดแย้งทั้งหมด อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะขจัดปัญหานั้นอย่างไร เอาแต่สิทธิตัวเองไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ดังนั้น คำว่ากาลเทศะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้


'ทักษะ' ที่ใช้มากที่สุดในเวทีเห็นต่าง

เมื่อถามว่าทักษะในเรื่องใดที่ใช้มากที่สุดในการพูดคุยในการเห็นต่างครั้งนี้ พรรณิการ์ กล่าวว่า ทักษะที่ใช้มากที่สุดคือ การพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายจึงคิดแบบนี้ ต้องพยายามเข้าใจแม้กระทั่ง background ที่ส่งผลต่อกระบวนการคิดของเขา ทำให้การพูดคุยเป็นไปด้วยความเข้าใจอีกฝ่ายโดยอัตโนมัติ ต่อให้สุดท้ายจะจบลงโดยที่ไม่เห็นตรงกัน แม้จะจบเวทีนี้ไปแล้ว เราก็จะพยายามทำความเข้าใจเขาต่อไป

สามารถ กล่าวว่า ทักษะที่ใช้มากที่สุดคือคือ การใช้หูฟังว่าอีกฝ่ายต้องการแสดงออก หรือต้องการเรียกร้องอะไร การเห็นต่างสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับฟัง พอฟังแล้วจะเข้าใจ และไม่คิดที่จะไปเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่าย ให้สังคมเป็นคนคิดว่าเรื่องใดถึงเวลาที่ต้องทำ หรือยังไม่ต้องทำ ตนเคารพทุกความคิดเห็น