ไม่พบผลการค้นหา
เพื่อไทยย้ำนโยบาย 'ปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี และสร้างเศรษฐีใหม่' คือทางรอดของเศรษฐกิจไทย ชี้รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" สอบตก

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างตัวเลขการใช้งบประมาณกว่า 12.78 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมงบประมาณปี 2562 แล้วประมาณเกือบร้อยละ 50 ขณะที่ตัวเลขรายได้ของประชาชนกลับลดลง เมื่อนำไปเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ที่โตขึ้นเพียงเล็กน้อย

อีกทั้งตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศหรือ หรือ ธปท. ยังชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลปัจจุบันติดลบถึง 2.38 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่หนี้เสียของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีพุ่งขึ้นอีก 9.5 หมื่นล้านล้านบาท และหนี้ภาคเกษตรอยู่ที่ 2.44 แสนล้านล้านบาท โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ชี้ว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา อาทิประเด็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ "แผลลึกถึงกระดูกแล้วให้เพียงยาเเดง" หรือการมอบเงินช่วยเหลือซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืน

"รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้งบประมาณมากกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่น เท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย แต่แปลกว่า เศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่กลับแย่ลง" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

นโยบายเศรษฐกิจ 'เพื่อ(คน)ไทย'

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า 'การปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี และสร้างเศรษฐีใหม่' คือหัวใจสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ประเด็นที่ 1 เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งครูและนักศึกษา

ประเด็นที่ 2 เป็นการเติมเงินเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ โดยจะมีการปรับเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบการศึกษาปริญญาตรีหลังจากที่ไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนมาเป็นเวลากว่า 7 ปี แล้ว พร้อมเสริมว่าการที่ฐานเงินเดือนไม่ได้ปรับขึ้นตามค่าครองชีพในปัจจุบันทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ อีกทั้งจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน รวมถึงการเพิ่มราคาสินค้าเกษตรที่มีปัญหาอยู่ทั้งหมดในตอนนี้ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ย้ำว่า หากเพื่อไทยเข้าไปเป็นรัฐบาลจะใช้เวลา 6 เดือนแรกในการจัดการกระบวนการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับค่าแรงขึ้นอย่างเป็นระบบ

ประเด็นที่ 3 เป็นการลดภาษี โดยเน้นหลักไปที่ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ไม่ได้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะเรียกเก็บเป็นภาษีเเบบเหมารวมร้อยละ 1 เพื่อลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอี อีกทั้งยังเตรียมให้สิทธิพิเศษทางภาษีนอกพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อไทยยังเตรียมลดภาษีน้ำมันเพื่อลดต้นทุนให้ภาคผลิตสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า เพื่อไทยจะดำเนินการดูแลเศรษฐกิจทั้งในเชิงจุลภาค ขณะเดียวกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในเชิงมหภาคด้วย ล้อ 4 ล้อ ได้แก่ (1) การส่งออกและการท่องเที่ยว (2) การลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ (3) การบริโภคภายในประเทศ (4) การใช้จ่ายภาครัฐ 

เอสเอ็มอีจะได้อะไรจากเพื่อไทย

ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอี คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการยืดเงินต้นและลดดอกเบี้ยลงสำหรับเอสเอ็มอีเดิม ในขณะที่เอสเอ็มอีใหม่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และสตาร์ทอัพ จะมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีนอกเขตพื้นที่อีอีซี เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาสู้ในตลาดได้ รวมทั้งการคิดภาษีร้อยละ 1 สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ภายในเพดาน 1.8 ล้านบาท คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เพื่อไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ประสบความสำเร็จประมาณ 20,000 รายต่อปี

"เราหวังให้เอสเอ็มอีเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แล้วเขาก็ทำได้ดี เพิ่งมา 4-5 ปีมานี้ที่นโยบายไม่เข้าใจเอสเอ็มอี"

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ทุน ปัญญา และกฏระเบียบ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการและรัฐบาลต้องจัดหาให้ สำหรับการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้วย ส่วนประเด็นกฏระเบียบนั้น มาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่กฏระเบียบหลายอย่างไม่จบในที่เดียว ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลาในการดำเนินงาน หากสามารถปฏิรูปให้มีสำนักงานที่สามารถจัดการเอกสารหรือกฏระเบียบทั้งหมดได้ในที่เดียวจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้