ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกรมประมง แจงโควต้าการรับซื้อปลาหมอคางดำ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เหลือ 61,477 กิโลกรัม ยังรับซื้อถึง 31 ส.ค.นี้ เร่งเสนอ ครม. เป็นวาระแห่งชาติ

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

โดยเฉพาะมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ 

453745041_1030400955758146_957156626251486714_n.jpg

ซึ่งกรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยได้มีการจัดตั้งจุดรับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ค่ารวบรวมที่จุดรับซื้อ 5 บาท/กิโลกรัม ส่งมอบให้สถานีพัฒนาที่ดินผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยขณะนี้ปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบปลาหมอคางดำถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 538,523 กิโลกรัม คงเหลือที่จะรับซื้อได้อีก 61,477 กิโลกรัม โดยได้จัดสรรโควต้าที่เหลือทั้งหมดให้แต่ละจังหวัดไปแล้ว 

เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาช่องว่างของการจับปลาหมอคางดำ กรมประมงขอประชาสัมพันธ์ชี้แจง เรื่องชะลอการรับซื้อปลาหมอคางดำ ตามโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยขอให้ประชาชน ชาวประมงผู้จับปลา และเกษตรกรที่ประสงค์จะจำหน่ายปลา ประสานกับสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตปลาที่จับได้อย่างลงตัวควบคู่ไปกับปริมาณโควต้าที่เหลือของแต่ละจังหวัด

สำหรับการจับปลาที่ค้างในบ่อของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ เกษตรกรสามารถนำปลาหมอคางดำไปจำหน่ายได้โดยตรงที่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณการรับซื้อ 25,000 กิโลกรัม/วัน ส่วนจังหวัดอื่นที่มีการระบาด กรมประมงกำลังดำเนินการจัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อจัดซื้อปลาหมอคางดำเฉพาะที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งจะสามารถดำเนินการจัดซื้อได้ภายในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โฆษกกรมประมง กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะยาว และบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชน เกษตรกรชาวประมง กรมประมงได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม. พร้อมทั้งเสนอของบกลางเพื่อใช้ในการดำเนินการตามมาตรการที่ 1 เป็นการเร่งด่วน และหากมีผลความคืบหน้า จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป