ไม่พบผลการค้นหา
การตอบโต้รุนแรงระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ปะทุหนักสุดในรอบ 7 ปี มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตทั้งสองฝ่ายและส่อเค้าบานปลายยืดเยื้อ 'วอยซ์' สรุปที่มามหากาพย์นครศักดิ์สิทธิ์อันซับซ้อนและละเอียดอ่อน โจทย์สันติภาพที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์กลับมาปะทุอีกครั้ง โดยครั้งนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี ตั้งแต่เกิดสงครามในเขตฉนวนกาซาเมื่อ 2557 จากการที่อิสราเอลและปาเลสไตน์เปิดฉากโจมตีทางอากาศ ต่างฝ่ายต่างยิงจรวดใส่กัน มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายสิบราย บาดเจ็บอีกนับร้อย พลเรือนของทั้งสองฝ่ายเผชิญความสูญเสียไม่ต่างกัน 

ชนวนเหตุของความยัดแย้งในพื้นที่เวสต์แบงก์ครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ซึ่งผู้แสวงบุญจำนวนมากรวมตัวกันเข้าประกอบพิธีทางศาสนาบริเวณรอบมัสยิดอัลอักซอ หนึ่งในสามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดของชาวมุสลิม โดยมัสยิดนี้ตั้งอยู่บนเนินพระวิหาร (Temple Mount) ในเขตเยรูซาเลมตะวันออก (เขตปกครองของปาเลสไตน์) แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนครเยรูซาเล็มในเขตปกครองของอิสราเอล เนินพระวิหารยังเป็นที่ตั้งของโดมแห่งศิลา (Dome of the Rock) ศาสนาสถานเก่าแก่สำคัญของสามศาสนาคือ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม แม้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อชาวมุสลิมและชาวยิว แต่ที่ผ่านมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในบางช่วงเวลาของปีเท่านั้น ชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้เข้าไปสวดละหมาดในพื้นที่ได้ ขณะที่ชาวยิวได้รับอนุญาตเข้าถึงได้เพียงกำแพงตะวันตกเพื่อสวดมนต์เท่านั้น

ทว่าช่วงเวลาถือศีลนี้ มีรายงานผู้แสวงบุญชาวมุสลิมปะทะกับตำรวจอิสราเอลเกือบทุกคืน ตำรวจอิสราเอลได้นำแผงเหล็กมากั้นกีดขวางทางไม่ให้ชาวมุสลิมรวมตัวบริเวณประตูดามัสกัสเพื่อประกอบศาสนกิจ จนส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจอิสราเอลกับผู้แสวงบุญปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องหลายวันตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าทำไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้คนในการสัญจรในย่านเมืองเก่า

อิสราเอล ปาเลสไตน์

ต้องอธิบายด้วยกว่า ชนวนเหตุของความขัดแย้งนี้ไม่เพียงแค่การที่ชาวมุสลิมถูกกีดกันจากการเข้าปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเดียวกับที่ศาลฎีกาอิสราเอลมีกำหนดเตรียมพิจารณาคดีในทางกฎหมาย เกี่ยวกับการครอบครองพื้นที่ของครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในย่านชีค จาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นละแวกชุมชนใกล้ประตูดามัสกัส ไม่ไกลจากมัสยิดอัลอักซอ ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

ย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลแขวงเยรูซาเล็มได้มีคำตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 12 ครอบครัว ราว 50 คน ซึ่งอาศัยในย่านชีค จาร์ราห์ มานานกว่า 60 ปี ออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง และส่งมอบพื้นที่เหล่านี้ให้ครอบครัวชาวยิว ภายใน 2 พฤษภาคม

เอ็นจีโอฝ่ายอิสราเอลได้อ้างกฎหมายปี 2513 ว่ากรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินในชุมชนชีค จาร์ราห์ เป็นข้องครอบครัวชาวยิว จากผลของสงครามอาหรับ-อิสราเอล 2491 ที่อิสราเอลรบชนะพันธมิตรชาติอาหรับ ดังนั้น เจ้าของที่ดินชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันควรถูกไล่ออก และทรัพย์สินของพวกเขาก็สมควรต้องถูกมอบให้กับชาวยิวในอิสราเอล

แน่นอนว่าชาวปาเลสไตน์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน เริ่มมีการเคลื่อนไหวประท้วงตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ทวีความตึงเครียดเรื่อยมาจนถึงช่วงใกล้เส้นตาย 2 พฤษภาคม ที่ชาวมุสลิมปาเลสไตน์ต้องย้ายออกจากเขตชีค จาร์ราห์ กองกำลังอิสราเอลได้เข้าจู่โจมบ้านเรือนเหล่านั้น บังคับใช้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ มีการใช้แก๊สน้ำตา ผนวกกับชาวยิวที่เตรียมย้ายเข้ามาแสดงพฤติกรรมยั่วยุชาวมุสลิมที่เคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านด้วยการใช้กำลังขับไล่พวกเขา

การบุกเข้าจู่โจมบ้านเรือนสร้างความไม่พอใจกับชาวปาเลสไตน์ เนื่องจากกองกำลังอิสราเอลเข้าขับไล่ทั้งที่คำร้องอุทธรณ์ย้ายออกจากเขตนี้ กำลังถูกส่งไปยังศาลฎีกาของอิสราเอลซึ่งเดิมมีกำหนดพิจารณาคดีวันที่ 10 พฤษภาคม แต่ภายหลังถูกเลื่อนออกไปก่อนเนื่องด้วยสถานการณ์ดังกล่าว (คาดว่าศาลอาจพิจารณาอีกครั้งภายใน 30 วันข้างหน้า) ประกอบกับเป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม จึงมีชาวปาเลสไตน์จำนวนมากรวมตัวชุมนุมบริเวณทางเข้ามัสยิดอัลอักซอเพื่อประกอบพิธีละหมาดยามค่ำคืน เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอิสราเอลกีดกันก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวมุสลิม ท้ายที่สุดเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการปะทะอย่างรุนแรงจากการยั่วยุของทั้งสองฝ่าย มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 คน จากการปะทะและปราบปรามของเจ้าหน้าที่อิสราเอล

อิสราเอล ปาเลสไตน์

'กลุ่มฮามาส' (Hamas) ซึ่งเคลื่อนไหวปกป้องต่อสู้และเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์มาโดยตลอด ได้ออกมาเตือนรัฐบาลอิสราเอลว่าจะใช้กำลังตอบโต้ หากอิสลาเอลไม่ยอมยุติการใช้ความรุนแรงแก่ชาวมุสลิมปาเลสไตน์ ทว่าอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสังหารบรรดาผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่ม อาคารสูงหลายหลังในฉนวนกาซาพังถล่ม ฮามาสจึงตอบโต้ด้วยการระดมยิงจรวดนับร้อยลูกถล่มอิสราเอลเพื่อตอบโต้ รายงานข่าวจากสื่อหลายแห่งระบุว่า แม้ระบบ Iron Dome ของอิสราเอลจะสามารถยิงสกัดจรวดของฮามาสได้ แต่ก็มีหนึ่งในสถานที่ถูกจรวดของฮามาสโจมตี มีรายงานการเสียชีวิตของพลเรือนทั้งสองฝ่าย หนึ่งในนั้นมีเหยื่อที่เป็นเด็กชาวยิววัย 5 ขวบรวมอยู่ด้วย

น่าสังเกตว่า สื่อตะวันตกรายใหญ่หลายแหล่งรายงานข่าวไปในทิศทางว่า อิสราเอลยิงสกัดขีปนาวุธฮามาส บางแห่งรายงานว่า อิสราเอลปกป้องตนเองจากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงฮามาส

อิสราเอล ปาเลสไตน์


ฮามาสคือใคร เหตุใดขัดแย้งอิสราเอล ? 

ในรายงานข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินชื่อของกลุ่มฮามาสอยู่หลายครั้ง ในสายตาของรัฐบาลอิสลาเอล 'ฮามาส' คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่าฮามาสคือพรรคการเมืองที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชของพวกเขา

'ฮามาส' (Hamas) ก่อร่างสร้างตัวเมื่อปี 2530 คำว่า ฮามาส ในภาษาอาหรับ หมายถึง ขวัญกำลังใจ ความเข็มแข็ง หรือความมุ่งมั่น เดิมทีเป็นการรวมตัวของชาวมุสลิมซุนนีที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อสู้เรียกร้องความเป็นรัฐเอกราชของปาเลสไตน์บนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ของประเทศอิสราเอล สืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งมีเครือข่ายเป็นบรรดาชาติอาหรับทั่วภูมิภาค ทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากอิหร่านที่แม้จะนับถือชีอะห์ จุดประสงค์หลักของฮามาสคือการเข้ายึดครองพื้นที่ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ปัจจุบันคือ "เขตเวสต์แบงก์" และ "ฉนวนกาซา"เพื่อหวังสร้างรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตบนดินแดนคะนาอัน (Canaan) แห่งพันธสัญญาผืนนี้

ด้วยความที่ได้แรงหนุนจากอิหร่าน ส่งให้ผลให้ในสายตาของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ตีตรา 'ฮามาส' เป็นกลุ่มก่อการร้ายอย่างเป็นทางการเมื่อ 2540

ช่วงทศวรรษ 1990 กลุ่มฮามาสใช้การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อแย่งชิงดินแดนด้วยการใช้กำลังห้ำหั่นกับฝ่ายอิสราเอลอยู่หลายต่อหลายครั้งและหลายรูปแบบทั้งระเบิดฆ่าตัวตาย โจมตี และกราดยิง สืบเนื่องจากความไม่พอใจของ 'สนธิสัญญาออสโล' ที่ ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ลงนามร่วมกับยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำกลุ่มองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) โดยมีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นตัวกลางเจรจา

AFP - ฉนวนกาซา อิสราเอล ปาเลสไตน์ สงครามกลางเมือง

หนึ่งในข้อตกลงนี้คือการรวมถึงการแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันในเขตเวสต์แบงก์ (พื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกของปาเลสไตน์) แน่นอนว่าชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่เห็นด้วย และเปลี่ยนไปสนับสนุนกลุ่มฮามาส ที่ดำเนินการด้วยวิธีแข็งกร้าวผ่านการห้ำหันด้วยกำลัง มากกว่ากลุ่ม PLO ที่นำโดยยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำในเวลานั้นซึ่งแม้จะถือเป็นรัฐบุรุษของชาวปาเลสไตน์โดยส่วนใหญ่ที่ช่วงแรกเขาใช้กำลังกึ่งทหาร ต่อสู้จนนำไปสู่การเจรจากับอิสราเอลได้ในที่สุด แต่ภายหลังท่าทีของอาราฟัตเปลี่ยน บางกลุ่มมองว่าอาราฟัตโอนอ่อนผ่อนตามกับข้อเจรจามากเกินไป

อิสราเอลทำตามคำสัญญาในข้อตกลงออสโล ด้วยการถอนกำลังออกจากฉนวนกาซาเมื่อ 2548 แต่ในปีต่อมาพรรคฮามาสได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปาเลสไตน์ชุดที่สอง สภาปาเลสไตน์ชุดปัจจุบันพรรคฮามาส ครองเสียงข้างมากที่ 74 เสียง ส่วนกลุ่ม PLO กลายสภาพเป็นฝ่ายค้านพร้อมแนวร่วมอีกหลายพรรคด้วยที่นั่งในสภาที่ 58 เสียง จากทั้งหมด 132 ที่นั่ง

การที่พรรคฮามาสซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่กลุ่มพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธ ชนะการเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ สร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเป็นอย่างมาก เพราะในสายตายของชาติมหาอำนาจมองว่าพรรคฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง โดยเฉพาะฉนวนกาซาซึ่งฮามาสทรงอิทธิพลในพื้นที่ สิ่งที่ตามมาคืออิสราเอลบีบบังคับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาอย่างเข้มงวด ตั้งด่านตรวจและควบคุมการเข้าออก จำกัดการเข้าถึงน้ำไฟ ไม่ต่างอะไรกับการถูกจองจำ

อิสราเอล ปาเลสไตน์

'เยรูซาเล็ม' เมืองหลวงสองชนชาติ

กรณีความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลครั้งล่าสุด เป็นเพียงส่วนหนึ่งในห้วงประวัติศาสตร์กว่า 4,000 ปี ของนครศักดิ์สิทธิ์ 'เยรูซาเล็ม' ข้อพิพาทของสองชนชาตินั้นซับซ้อนเกินกว่าแค่การปักปันเขตแดน เยรูซาเล็มเป็นใจกลางของความขัดแย้งที่แทบมองไม่เห็นหนทางบรรลุสันติภาพที่แท้จริง ในสายตาของอิสราเอลมองว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงที่ "รวมเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์" ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของพวกเขา แต่ที่ผ่านมาสำหรับรัฐปาเลสไตน์มักหมายถึงดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออก คือเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์

ชะตากรรมของเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นหนึ่งในประเด็นที่หนักหน่วงที่สุดของกระบวนการสันติภาพตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ปี 2510 ช่วงช่วงสงคราม 6 วัน อิสราเอลมีชัยชนะเหนือพันธมิตรชาติอาหรับ อิสราเอลยึดครองฉนวนกาซา, คาบสมุทรไซนายจากอียิปต์ และเขตเวสต์แบงก์ (รวมเยรูซาเลมตะวันออก) จากจอร์แดน กระทั่งกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องปาเลสไตน์นำโดย PLO สามารถปักปันเขตแดนเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซาได้ในที่สุด ชาวปาเลสไตน์ต้องการเยรูซาเล็มตะวันออก เป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคต แต่อิสราเอลใช้ความพยายามในหลากทางอ้างสิทธิในเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นสถานะที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

หนึ่งในความคืบหน้าครั้งสำคัญคือ มรดกจากยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2560 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งออกคำสั่งให้วางแผนการย้ายที่ตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอลจากเทลอาวีฟไปเยรูซาเล็ม เรื่องนี้สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในระดับนานาชาติ แม้ต่อมาเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นชี้ว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ "ไม่ได้ระบุสถานะสุดท้ายของเยรูซาเล็ม โดยสถานะสุดท้ายรวมถึงพรมแดนที่เหลือจะให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้เจรจาและตัดสินใจ"

อีกความคืบหน้าสำคัญต่อมาที่เกี่ยวกับเยรูซาเล็มคือ ปี 2563 อิสราเอลลงนามข้อตกลงสันติภาพกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน เรื่องนี้นอกจากเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งใหญ่ด้านนโยบายต่างประเทศซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถนำไปอ้างตอนหาเสียงได้แล้ว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ยังได้ผลประโยชน์ทางการเมืองจากข้อตกลงนี้เช่นกัน

ทว่าไม่ใช่กับชาวปาเลสไตน์ที่รู้สึกถูกหักหลังโดยพันธมิตรชาติอาหรับด้วยกัน ที่เห็นผลประโยชน์ด้านการค้า ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ยังคงต่อสู้ดิ้นรนภายใต้การยึดครองในเยรูซาเล็มตะวันออกและในเขตเวสต์แบงก์ รวมถึงฉนวนกาซาที่เปรียบเสมือนเรือนจำ 


อิสราเอล ปาเลสไตน์

ลิดรอนสิทธิปาเลสไตน์?

ชาวยิวที่เกิดในเขตเยรูซาเล็มตะวันออก (ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองของปาเลสไตน์) จะได้สถานะพลเมืองอิสราเอล ตรงข้ามกลับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เดียวกันนี้ จะได้รับเพียงสถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวร ซึ่งอาจถูกเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ หากเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นเวลานาน แม้พวกเขาสามารถขอสัญชาติอิสราเอลได้ แต่กลับเป็นกระบวนการที่ยาวนานซับซ้อนและไม่แน่นอน เพราะพวกเขาไม่อาจยอมรับการอยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอล

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้สร้างถิ่นฐานของชาวยิวในพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 220,000 คน ทั้งมีการจำกัดพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ใกล้เคียง นำไปสู่ความแออัดยัดเยียดของชุมชน บ้านเรือนคนปาเลสไตน์บางส่วนถูกบังคับรื้อถอน คนอิสราเอลที่เข้ามาตั้งหลักปักฐานในเยรูซาเล็มตะวันออก ส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เข้ามายึดพื้นที่ ปลูกบ้าน ทำการเกษตรในที่ดินที่เคยเป็นของชาวปาเลสไตน์ มีรายงานการสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออก 

กรณีการเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเล็มตะวันออกของอิสราเอล สอดคล้องกับรายงานของฮิวแมนไรท์วอช (Human Rights Watch) ที่ชี้ถึงนโยบายการเลือกปฏิบัติว่าอิสราเอลอาจมีความผิดฐานใช้นโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติ ทั้งประณามว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกล่าวว่าชาวเยรูซาเล็มทั้งหมดได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

จากข้อมูลปี 2562 ของ Peace Now องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเคลื่อนไหวสนับสนุนสันติภาพสองฝ่าย ชี้ว่า นับตั้งแต่ยุคทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2560 มีพลเมืองเชื้อสายยิวในพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกได้รับใบอนุญาตครอบครองอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 60% เทียบกับสองปีก่อนหน้า ส่วนชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้รับการออกใบอนุญาตครอบครองเพียง 30%

กรกฎาคม 2563 สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าการตั้งถิ่นฐานของชาวยิว ในดินแดนปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ที่มีแผนประกาศผนวกดินแดนบางส่วนในเขตเวสตแบงก์มาเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์รู้สึกถึงความหวังในการเป็นรัฐอิสระในอนาคตริบหรี่ลง

อิสราเอล ปาเลสไตน์

การปะทะกันของชาวมุสลิมกับตำรวจอิสราเอลช่วงเดือนรอมฎอน ประกอบกับความไม่แน่นอนในการต่อสู้ทางคดีของครอบครัวมุสลิมปาเลสไตน์ในพื้นที่ชีค จาร์ราห์ ไม่ใช่น้ำผึ้งเพียงหยดเดียวเท่านั้น ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ระหว่าง 9-10 พ.ค.ยังถือเป็นวันสำคัญของชาวยิว ที่เรียกว่า วันเยรูซาเล็ม (Jerusalem Day) ซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติ รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อรำลึกชัยชนะการควบรวมนครเยรูซาเล็มและเขตเมืองเก่าได้อีกครั้ง ผ่านการยึดครองจากสงคราม 6 วัน

สถานการณ์อันละเอียดอ่อนยิ่งตึงเครียดมากขึ้นไปอีก เมื่อชาวยิวหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกชาตินิยมทางศาสนาจำนวนมากพร้อมใจกันเดินขบวนผ่านย่านใจกลางเขตเมืองเก่าซึ่งเต็มไปด้วยชุมชนมุสลิม กลายเป็นการยั่วยุชาวปาเลสไตน์จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่อิสราเอลมีการใช้แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในรอบ 7 ปี ตามรายงานข้างต้น


หวั่นเกิดสงครามยืดเยื้อ

หลังกลุ่มฮามาสโจมตีด้วยจรวดนับร้อยลูกเพียงไม่นาน นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แถลงว่ารัฐบาลจะใช้ความแข็งแกร่งทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อปกป้องอิสราเอลจากศัตรูภายนอกและกลุ่มผู้ก่อจลาจลภายใน อิสราเอลยังแถลงว่าได้สังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาสในกาซา และโจมตีเป้าหมายสถานที่ยิงขีปนาวุธหลายแห่ง ขณะที่ฮามาสก็ยืนยันว่า ผู้บัญชาการระดับสูงคนหนึ่ง และผู้นำอีกหลายคนของพวกเขาเสียชีวิต

อิสราเอล
  • เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

ด้านคณะบริหารปาเลสไตน์ ประณามการโจมตีของอิสราเอลว่า สร้างความบอบช้ำให้ประชาชน 2 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งฝ่ายปาเลสไตน์ได้แจ้งแก่ชาติอาหรับที่เป็นสื่อกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ว่า "ปาเลสไตน์พร้อมทำสงครามยืดเยื้อ พวกเราไม่เชื่อคำมั่นของฝ่ายยิว อาวุธที่เห็นเราใช้ในเวลานี้เป็นเพียง 10% ของอาวุธที่เรามี และอาวุธที่เรายังอุบไว้มีอานุภาพรุนแรงกว่าที่เห็นในตอนนี้หลายเท่า" คำกล่าวของปาเลสไตน์มีขึ้นหลังการโจมตีของอิสราเอลได้ทำลายอาคารสูง อัล-ชารุค ในกาซาซิตี้ ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคารหลังที่ 3 ที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศในสัปดาห์นี้ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ อัล-อัคซา ทีวีกระบอกเสียงกลุ่มฮามาส

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขกาซารายงานว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 69 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 17 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมี 390 ราย อย่างไรก็ตามจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากเชื่อว่างยังมีร่างของผู้เสียชีวิตติดตามซากปรักหักพัง

อิสราเอลมีรายงานความสูญเสียเช่นกัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจน้อยกว่าในเขตกาซา เนื่องจากระบบ Iron Dome สกัดการโจมตีทางอากาศ เบื้องต้นมีชาวอิสราเอลเสียชีวิต 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 ราย และเป็นผู้สูงอายุวัย 63 ปี เสียชีวิตจากจรวดที่ยิงมาตกในเทล อาวีฟ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา หรือวันที่ 2 ของการโจมตี

นอกจากการปะทะทางทหาร มีรายงานผู้ชุมนุมทั้งฝั่งยิวและฝั่งอาหรับต่างฝ่ายต่างเข้าปะทะกัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก มีการเผารถยนต์และข้าวของสาธารณะ ประชาชนสองฝั่งกำลังเกิดการเคียดแค้นจากการกระทำของแต่ละฝ่าย มีรายงานการบุกทำร้ายผู้คนทั่วไปแล้ว กลุ่มชาวยิวขนาดย่อมพยายามบุกไปยังชุมชนของชาวปาเลสไตน์เพื่อหวังแก้แค้น ขณะเดียวกันผู้ชุนุมปาเลสไตน์เขตเวสต์แบงก์รวมตัวเผาข้าวของ และขว้างปาก้อนหินใส่ทหารอิสราเอล

เฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล โพสต์ภาพ ข้อความ และคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นความเสียหายจากความรุนแรงของฝั่งปาเลสไตน์อยู่ในหลายโพสต์


ไบเดนยังนิ่ง - นานาชาติกังวล

"ผมเป็นไซออนิสต์ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นชาวยิว ก็สนับสนุนไซออนิสต์ได้" โจ ไบเดน เคยกล่าวเมื่อเมษายน 2550 ไม่นานก่อนเขารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสมัยบารัก โอบามา กาลเวลาผ่านมา 'ไบเดน' ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนหลังเหตุโจมตีล่าสุด ด้วยการกล่าวในตอนหนึ่งหลังพูดคุยกับเนทันยาฮูว่า "หวังให้ความรุนแรงระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ยุติในเร็ววัน แต่อิสราเอลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเช่นกัน" ไบเดนแม้ออกตัวกลายๆ ว่าหนุนอิสราเอล แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากอิสราเอลมีผลประโยชน์และความสัมพันธ์ร่วมกันกับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้งและซับซ้อน ในหลายระดับทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง ขณะเดียวกันเขากำลังถูกกดดันอย่างหนักจากจุดยืนคัดค้านของนักการเมืองในคองเกรสที่เริ่มเสียงแตก

ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกกังวลอย่างมากต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น จัดการประชุมหารือปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ได้ออกแถลงการณ์ จากรายงานของสื่อหลายแห่งอ้างแหล่งข่าวด้านการทูตที่ตรงกันว่า ชาติสมาชิก 14 จากทั้งหมด 15 ประเทศ เห็นชอบการออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดระดับความรุนแรงจากสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี คัดค้านการออกแถลงการณ์ โดยอ้างเหตุผลว่า การออกแถลงการณ์ช่วงเวลานี้นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยัง "ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น"