เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เปิดตัวหนังสือข้อเสนอในการจัดการผลพวงการรัฐประหาร ร่วมแลกเปลี่ยน โดย ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายรอมฎอน ปัณจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ดำเนินรายการโดย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น.ส.มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้เขียนหนังสือข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร กล่าวถึงข้อเสนอ 8 ประเด็นข้อเสนอหลัก ได้แก่
1. การแก้ไขและยกเลิกกฎหมาย 2. การทำให้สิ้นผลไปซึ่งคำพิพากษา 3.การสนับสนุนให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรม 4. การเปิดผยข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐและทางการทหาร 5.การสร้างกลไกค้นหาความจริงผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการ 6.การเยียวยาผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน 7.การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ 8. การจำกัดอำนาจของกองทัพ
รศ.สมชาย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงสภาวะที่ตนอยากใช้คำว่า “รัฐซ้อนซ่อนรัฐ” ที่เราเห็นระบบการเมืองอีกชุดที่ซ้อนในระบอบประชาธิปไตย
รศ.สมชาย กล่าวว่า นักวิชาการบางคนบอกว่านี่คือสภาวะยกเว้น บางคนเรียกรัฐพันลึก (deep state) ที่นานๆ โผล่มาสักครั้ง แต่ของไทยไม่ใช่ เพราะลอยตัวพ้นผิวน้ำให้เห็นตลอด อย่างโจ่งแจ้ง
ส่วนแรกของหนังสือ สะท้อนให้เราเห็นรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่กำกับระบอบการเมืองไทยอยู่ รัฐชนิดนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชน และระบอบประชาธิปไตย มันสามารถแทรกไปในระบบราชการได้ สั่งโยกย้ายข้าราชการได้หมด รัฐชนิดนี้กระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่หืออือ ออกคำสั่งมา ใช้ได้ ออกกฎหมายยกเลิก ก็ยอมรับให้เป็นผลทางกฎหมายได้ เพราะฉะนั้น แน่นอน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกแทรกแซง และมีคำอธิบายว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนที่สอง ในบทที่ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหลังปี 2557 รศ.สมชายยกตัวอย่าง จำเลยที่เป็นผู้ป่วยอาการทางจิต แม้ว่าตำรวจจะมองเห็นว่าเป็นผู้ผิดปกติทางจิต แต่ตำรวจและอัยการเห็นตรงกันว่าต้องดำเนินคดี ส่วนอีกกรณีถูกควบคุมตัว 4 ปี 11 เดือน ระหว่างการดำเนินคดี
รศ. สมชายชี้ว่า “นี่คือความวิริตพิดเพี้ยนของระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ยุค คสช.”
"กระบวนการยุติธรรมเป็นหลักการพื้นฐานที่สุด ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้...ถ้าเต็ม 10 คะแนน ถ้าถามผม ไม่รู้จะให้คะแนนอย่างไร มันเละเทะมาก หนังสือเล่มนี้ถ้าอยากให้คนอ่านเยอะๆ ต้องตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่าบันทึกว่าด้วยความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม" รศ.สมชาย กล่าว
รศ.สมชายตั้งคำถามหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้เสร็จ คือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาหลังปี 2557 ตัวอย่างที่แสดงความพิดเพี้ยนอยู่มาก ถามว่านี่คือสิ่งที่ คสช. สร้างขึ้นเหรอ?
“หรือว่าเอาเข้าจริง ระบบกฎหมายในสังคมไทย กระบวนการยุติธรรมมันเละเทะมานานแล้ว เพียงแต่มันรอโอกาส จังหวะ ให้ความเละเทะ หรือความไม่ได้เรื่องมันแสดงตัวออกมา คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า คสช. เป็นแพะรับบาป เป็นคนที่ทำให้กระบวนการเละเทะ แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่า คสช. ไม่ได้มีความสามารถขนาดนั้น มันมีปัญหามานานแล้ว เพียงแต่มันไม่ค่อยถูกพูดถึง” รศ.สมชาย กล่าว
รศ.สมชาย อธิบายว่า ทำไมระบบยุติธรรมไทยถึงเละเทะ เพราะมันออกแบบมาเพื่อให้ใช้ระหว่างสามัญชนด้วยกัน ถ้าเมื่อไหร่สามัญชนทะเลาะกัน ระบบกฎหมายจะใช้ได้ แต่ถ้าเป็นรัฐกับสามัญชนอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นในหนังสือเล่มนี้คือความขัดแย้งระหว่างพลเมืองกับรัฐ จึงไม่แปลกที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
เขากล่าวต่อว่า ภายใต้ช่วงเวลา 5-6 ปี ชนชั้นนำ พยายามทำอะไรในกระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย 2 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรก มีความพยายามทำให้ภาวะวิปริตผิดเพี้ยน เป็นเรื่องปกติ เรื่องวิปริต แต่จะทำให้เป็นเรื่องปกติ ความวิปริตถูกอธิบาย โดยคนที่มาทำหน้าที่ตั้งแต่ เนติบริกร องค์กรอิสระบางส่วน สื่อมวลชนบางกลุ่ม อธิบายว่ามันเป็นแบบนี้
จวกหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ แต่ได้เงินเดือน
รศ.สมชาย ยกตัวอย่างความพยายามอธิบายความวิปริตผิดเพี้ยนของชนชั้นนำว่า หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เงินเดือนมาจากไหน รถประจำตำแหน่งรถใคร มันก็เงินพวกเรา แต่พอตัดสิน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือภาวะที่ทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยนเป็นเรื่องปกติ
สอง ถึงแม้ว่าจะมีบางคน พยายามจะสู้ว่ามันไม่ปกติ แต่ชนชั้นนำ ทำให้เกิดภาวะยอมจำนน ถึงมันจะไม่ปกติ พวกคุณก็ไม่มีวันชนะ สุดท้ายอำนาจที่มีจะทำให้พวกคุณแพ้ กลไกที่มีอยู่ ทำให้คนที่ตาสว่างแล้ว ก็ไม่มีวันชนะ ยังไงก็แพ้ ผ่านอำนาจต่างๆ ที่มี
“นี่คือความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความวิปริดผิดเพี้ยน และความไม่ยอมจำนน นี่คือบันทึกความวิปริดผิดเพี้ยน แห่งยุคสมัยที่ต้องช่วยกันกระจาย และเราต้องไม่ยอมจำนนให้ความวิปริตผิดเพี้ยนครอบงำสังคมไทยไปมากกว่านี้” รศ.สมชาย กล่าว
ดร.เบญจรัตน์ พูดถึงหลักการเยียวยาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เราอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ ประชาธิปไตย ในเฉพาะสังคมไทยที่เราไม่เคยมีการเยียวยาหลังการรัฐประหารมาก่อน เขาอธิบายว่า สิทธิในการได้รับการเยียวยา ได้รับการรับรองในหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิของเหยื่อที่จะร้องเรียนเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็พูดถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ
เขากล่าวว่า ความวิปริตที่ไม่ใช่ทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นความวิปริตใน “วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน” ในประเทศไทย แล้วเรายอมให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เราควรจะต้องมองมันในฐานะที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายต่อหลายครั้งรัฐไม่เคยต้องรับผิด มีการนิรโทษกรรมตลอด ไม่เคยเกิดบทเรียนเกิดขึ้นในสังคมไทยว่า นี่คือความผิดที่ทำไม่ได้กับประชาชน
ดร.เบญจรัตน์ มองว่า ข้อเสนอเรื่องการเยียวยาจะช่วยผลิกเรื่องนี้ สิ่งที่เราพูดถึงไม่ใช่การละเมิดระดับบุคคลเท่านั้น แต่เราจะต้องมองมันในฐานะระดับสังคม ไม่ใช่แค่พันกว่าคน แต่คือสังคมไทยทั้งหมด
“สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 5 ปีที่ผ่านมา ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และกว้างขวาง และเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ควรถูกละเมิด การเยียวยาเป็นหนทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหา”
ทั้งนี้ ดร.เบญจรัตน์กล่าวถึงหลักการสำคัญของการเยียวยา คือ
1.การฟื้นคืนสู่สภาพเดิมก่อนที่จะมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องยาก ด้วยการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ
2.การจ่ายค่าชดเชย
3.การทำให้เป็นที่พอใจว่า เหยื่อพอใจที่ได้รับการชดเชยอะไรบางอย่าง เช่น รัฐยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นความผิดของรัฐ ต่อสาธารณะ แสดงความขอโทษต่อสาธารณะ
จี้เผยข้อมูลละเมิดสิทธิ - เยียวยาผู้ถูกละเมิด
อย่างไรก็ดี ดร.เบญจรัตน์ กล่าวว่า สังคมไทยไม่เคยมีการเยียวยามาก่อน การเยียวยาเชิงสัญลักษณ์ เช่น การยอมรับความผิดอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่ที่สั่งการต้องรับผิด เรื่องหนึ่งที่เริ่มทำได้ คือเรียกชื่อตามความเป็นจริง เช่น คสช. เป็นเผด็จการ ที่เขาไม่ยอมให้เราเรียก การปรับทัศนคติ เป็นการจับกุมและกักขังโดยพลการ การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เราต้องเรียกมันด้วยชื่อของมันจริงๆ จากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน
ดร.เบญจรัตน์ เสนอว่า จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการละเมิด คำให้การของเหยื่อต่อสาธารณะ รวมถึงเหยื่อจะต้องมีการเล่าเรื่องราวของเขาเอง เพื่อเหยื่อจะได้รู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรม และสร้างความทรงจำในรัฐไทย เช่น การรำลึก การจัดกิจกรรม สร้างความทรงจำขึ้นมาในรัฐไทยให้ได้
"การเยียวยาสำคัญมากๆ ให้เห็นว่าการทำกับประชาชนแบบนี้เป็นเรื่องผิด เพื่อที่ในอนาคตจะได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ต่อไป" ดร.เบญจรัตน์ กล่าว
ด้าน นายรอมฎอน กล่าวว่า สิ่งที่วิปริตในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารปี 2557 ชายแดนใต้คือพื้นที่นำร่อง ทดลองเครื่องมือบางอย่าง ทดลองการใช้อำนาจ รวมถึงการสะสมกำลัง ก่อนที่จะนำมาใช้จริงในประเทศ
เขาเปรียบเทียบว่า มีบางอย่างคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น คสช. ไม่ยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีไฟใต้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เสนอหลายครั้งว่าตัวเองไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต แต่มีคนเสียชีวิต 7,000 กว่าคน เพราะฉะนั้นเรื่องภาษาสำคัญมากๆ เพราะมันตีกรอบว่าเราจะมองปัญหาอย่างไร รวมถึงทางออกด้วย สิ่งที่รัฐทำ ไม่ใช่แต่เรื่องใช้กำลัง แต่คือการตีกรอบไม่ให้เห็นปัญหาที่แท้จริง
นายรอมฎอน ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดในอีกด้านคือ การเยียวยาถูกใช้ในทางการเมือง เพื่อหวังสถาปนาความภักดีต่อฝ่ายรัฐ และต่อต้านฝ่ายตรงข้าม ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการยุติธรรม การเยียวยา กระบวนการเจรจา ที่อยู่ภายใต้รัฐทหาร มันถูกมองผ่านสายตาของทหาร อย่างหนึ่ง คือ กำหนดว่าภัยคุกคามคืออะไร ข้าศึกคืออะไร วิธีการที่จะกำหนดฝ่ายตรงข้าม คืออะไร เป็นวิธีการของทหารว่าเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามแบบไหน และต้องทำให้ประชาชนอยู่ฝ่ายเขา วิธีคิดแบบนี้ครอบงำวิธีการแก้ไขปัญหา
นายรอมฎอน เสนอว่า สื่อมวลชน แม้กระทั่งคนที่ทำงานเดี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาด้านความมั่นคง เพื่อที่จะประเมิณฝ่ายความมั่นคง คือ ต้องเขาไปสนทนากับเขา เพราะถ้าข้อเสนอเหล่านี้จะมีผล เปลี่ยนแปลงจริงๆ คือต้องเฟ้นหาฝ่ายก้าวหน้า และฝ่ายที่เห็นปัญหานี้ในหน่วยงานความมั่นคง และวิธีการเหล่านั้น คือเราต้องพูดในภาษาเดียวกับเขา ที่จะสามารถสื่อสาร และเสริมกำลังฝ่ายก้าวหน้าในกองทัพ ในฝ่ายความมั่นคงเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง