ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.พ.นี้ โดยประชาชนนิยมออกไปเลือกซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบพิธีในการไหว้บรรพบุรุษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตรวจตราป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชน พร้อมกำชับให้ร้านค้า ต้องปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน เพื่อง่ายในการตรวจสอบราคาและความสะดวกของประชาชน นอกจากนี้ การไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย
ไตรศุลี กล่าวว่า ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดการณ์ว่า ประชาชน จะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยตรวจสอบทั้งราคาและการโฆษณาเกินจริง ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงป้องกันมิจฉาชีพ โฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน จึงให้ประชาชน ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนเลือกซื้อสินค้า หากพบพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1166
ไตรศุลี กล่าวว่า ตรุษจีน วันที่ 12 ก.พ. นี้ รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ โดย พล.อ.ประยุทธ์ เชิญชวนประชาชนจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยสามารถซื้อสินค้าและบริการผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย
อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศขณะนี้ ยังคงไม่มีความคึกคักมากนัก เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่นี้ ยังไม่คลายตัวลง และประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลการเดินทางอยู่ โดยหากประเมินแนวโน้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ มองว่าเริ่มมีสัญญาณการเดินทางของคนบางส่วน แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะคึกคักมากหรือน้อยเท่าใด เพราะยังมีหลายจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่สีแดง รวมถึงความมั่นใจในการใช้จ่ายของประชาชนยังไม่ชัดเจนมากนัก จึงยังไม่สามารถประเมินภาพได้ชัดเจน ว่าจะเกิดการเดินทางมากหรือน้อยอย่างไร
“ตรุษจีนปีนี้ ยังเชื่อว่าจะมีการขยับบ้าง จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการด้วยกัน แต่ในส่วนของจำนวนคงไม่ได้มากมายนัก เพราะเพิ่งมีการคลายล็อกดาวน์ในบางจังหวัด และก็ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ต้องควบคุมเข้มข้นอยู่ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ในส่วนของการเพิ่มวันหยุดช่วงตรุษจีนขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องดีในการกระตุ้นให้คนทั่วไปวางแผนการเดินทาง แต่ประเด็นคือ ติดปัญหาการระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางน่าจะมีไม่มากเหมือนที่คาดกันในช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยหากเทียบความคึกคักกับปี 2563 คาดว่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากเทียบกับปี 2562 ก็น่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างสูง” อดิษฐ์ กล่าว
อดิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หากภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 อยู่ แต่ประกาศคลายล็อกดาวน์ทั้งประเทศได้ มองว่าในเดือนมีนาคมนี้ รัฐบาลจะต้องเตรียมโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีอยู่ ดันออกมาใช้ให้หมด อาทิ เที่ยวเส้นทางคนโสด เที่ยวไทยวัยเก๋า และเราเที่ยวด้วยกัน หรืออาจมีทำโครงการใหม่ๆ ออกมา โดยรัฐบาลจะต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการกระตุ้นตลาดได้ทันที เมื่อมีการปลดล็อกดาวน์ออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะจะก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย
ละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลจะเพิ่มวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนให้ แต่ยังไม่ช่วยให้ยอดการจองโรงแรมในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสายการบินเริ่มเปิดเที่ยวบินให้บริการเพิ่มขึ้นจากช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จากเดิมมีคนเดินทางเพียง 500-600 คน/วัน เพิ่มเป็น 1,300-1,400 คน/วัน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยอยู่ ทั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยว ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากประชาชนยังกังวลในเรื่องการแพร่ของโควิด-19 และมีกำลังซื้อน้อยลงจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
“แม้จะมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อในช่วงเสาร์-อาทิตย์ แต่ก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ในตอนนั้นยังมีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาอยู่ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจำนวนยอดจองโรงแรมหายไปกว่า 90% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของคนในจังหวัดภาคเหนือเองก็มีน้อยลงอีกด้วย” ละเอียด กล่าว
สำหรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หากมีการนำวัคซีนมาใช้อย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ก็เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3-4/2564 นี้ได้ ส่วนเรื่องที่จะดึงประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือกลุ่มที่มีวัคซีนพาสปอร์ตยืนยันว่าบุคคลนั้น มีการตรวจโควิด-19 แล้ว นั้น มองว่าในสถานการณ์นี้หลายประเทศรวมถึงไทยคงอยากให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวในประเทศของตนก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ อีกแง่หนึ่ง กลุ่มธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยตรงอาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้บริการระหว่างประเทศ จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศตลอดปี 2564 นี้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยอย่างภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยให้ออกมาทำกิจกรรม สัมมนาต่างๆ นอกสถานที่ เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้ออีกทางหนึ่งด้วย
ละเอียด กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว นั้น ก่อนหน้านี้ได้เสนอไปหมดแล้วแต่เรื่องที่อยากให้เร่งช่วยเหลือ คือ การช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยในการพยุงการจ้างงาน ซึ่งเรื่องนี้มองว่ารัฐบาลควรเร่งมือให้เร็วกว่านี้ แต่เข้าใจได้ว่าการดำเนินการของรัฐต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่กังวลว่า หลายธุรกิจจะเริ่มปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากไม่สามารถประคองธุรกิจได้ในช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อยลงได้ เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณว่าหลายธุรกิจในกลุ่มสมาชิกของสมาคมฯ ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ รวม 90 โรงแรม ขณะนี้ ดำเนินธุรกิจได้เพียง 50% เท่านั้น เท่ากับว่าตอนนี้มีธุรกิจที่ปิดตัวชั่วคราวแล้วกว่า 50%
อ่านเพิ่มเติม