ไม่พบผลการค้นหา
คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอนโยบายยกเลิกกฎหมายทับซ้อน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทำมาหากินและเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยต้องเริ่มจากเปลี่ยนรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน สนับสนุนให้รวมเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดเล็ก และรัฐต้องลดขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อการทำธุรกิจ

นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย เสวนาในหัวข้อ 'การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมาย ที่ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของประชาชน' โดยชี้แจงปัญหาในปัจจุบันว่า การทับซ้อนกันของกฎหมายกว่าแสนฉบับ และระบบแบบรัฐราชการที่เอาส่วนราชการเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีข้อสันนิษฐานว่าประชาชนไม่สุจริตจึงต้องออกกฎหมายจำนวนมากมากำกับดูแล ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือการทำมาหากินของประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ถูกเลือกปฏิบัติ ยุ่งยาก ล่าช้า ต้องขออนุมัติผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่จำเป็นมากมาย เป็นต้นทุนที่มหาศาล และเป็นบ่อเกิดหลักของการทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 กระบวนการที่ล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ๆ เดินตามหลังคนอื่นและไม่ทันแข่งขัน

นายโภคิน เสนอแนวทางการแก้ไขไว้ 5 ประการ ได้เแก่ 1. ผู้มีอำนาจต้องเร่ิมสันนิษฐานว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากินโดยสุจริตและยกเลิกระบบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นให้หมด เพราะมีกฎหมายกำหนดความผิดและโทษอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลดจำนวนกฎหมายที่ทับซ้อนจาก 1,500 ชนิดให้เหลือไม่เกิน 300 ชนิดภายใน 4 ปี

2. ปรับระบบรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน ด้วยการออกกฎหมายรับรองให้มีองค์กรที่เป็น ศูนย์กลางการรวมตัวของผู้ประกอบการประเภทต่างๆ ที่มีขนาดกลาง ขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และดูแลควบคุมคุณภาพกันเอง

3. ให้หน่วยงานของรัฐทำคู่มือละเอียดและชัดเจนสำหรับประชาชนที่มาติดต่อเพื่อทำมาหากิน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการขออนุญาตหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายและมาตรฐานของกิจการ

4. ยกเลิกขั้นตอน กระบวนการ อนุมัติ อนุญาต ให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมประชาชนในแง่การเข้าถึงข้อมูลในการทำมาหากิน การรวมตัวและสร้างเครือข่ายเพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง รวมทั้งให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการแต่ละประเภท ต้องหาทางออกร่วมกันให้เกิด One Stop Service จริงๆ โดยเริ่มจากการแก้ไขกฎหมายการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ให้หน่วยงานของรัฐเสนอยกเลิกการอนุญาตตลอดเวลา ไม่ใช่ทำทุก 5 ปี 

5. สร้างระบบตรวจสอบและการให้คะแนนหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติงานโดยประชาชน 


โกศิน เสวนา

ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการที่มาร่วมเสวนาต่างแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน คือ การขออนุญาตทำสถานประกอบการธุรกิจหนึ่งอย่างใช้เวลานานนับปี และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ขณะที่ธุรกิจออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยม มีขั้นตอนการอนุมัติใบอนุญาตล่าช้า และตำรวจอาศัยช่องทางนี้เข้าไปรีดไถผู้ประกอบการ, และกลุ่ม Start up ไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนเข้ามาช่วยเหลือ และการให้เงินสนับสนุนใช้เวลาอนุมัตินานเกือบ 1 ปี และมีงบประมาณจำนวนน้อย ไม่พอต่อการลงทนทำธุรกิจ ต้องติดต่อขอจากหลานหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ทำประชาสัมพันธ์ จัดอบรม และจัดอีเวนต์มากกว่า