ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อการกระจายสวัสดิการแก่ประชาชนด้วยกลไกตลาดไม่สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ความเหลื่อมล้ำค่อยๆถ่างออกกว้างขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน รัฐจึงต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดด้วยนโยบายสวัสดิการเพื่อกระจายบริการพื้นฐานให้ประชาชน การจะผลิตนโยบายสาธารณะใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายดายนัก โดยเฉพาะนโยบายที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม

ในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้ออกนโยบาย30บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยอุปสรรคนานัปการ แต่สุดท้ายนโยบายดังกล่าวก็อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 17 ปี และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดภาวะล้มละลายจากค่ารักษาแก่คนยากจน ซึ่งพิสูจน์ถึงความยั่งยืนของนโยบาย ปัจจัยที่ช่วยให้สำเร็จได้ไม่ใช่แต่การอัดฉีดเงินเพิ่มอย่างไม่มีการวางแผน แต่มีองค์ประกอบต่างๆ

ประการแรก นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายที่ผ่านการวิจัยทางวิชาการมาอย่างยาวนาน และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก สหภาพยุโรป องค์กรอนามัยโลก เป็นต้น ทางด้านความช่วยเหลือการให้ความรู้ ทางเทคนิค และมีการดำเนินนโยบายนำร่อง "อยุธยา" ที่ทดลองใช้ในโรงพยาบาลจังหวัดอยุธยา และโครงการนำร่องโรงพยาบาลอำเภอขุนหาญ ศรีสะเกษ ในปีพ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นการทดลองวิธีการคลังและการเงินใหม่ของโรงพยาบาล จากเดิมที่เป็นงบปลายเปิดเป็นงบปลายปิด และให้บริการรักษาแก่ประชาชนทุกคนในอัตราค่าบริการเดียวคือ 70 บาท

ประการสอง มีการประเมินความเป็นไปได้ทางการคลัง นักวิชาการและเทคโนแครตที่เสนอแผนงานให้พรรคไทยรักไทย ได้เสนอตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ถ้ามีการขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคน โดยต้นทุนรายหัวอยู่ที่ 1206บาท หรืองบทั้งหมดราว 7หมื่นล้านบาท ซึ่งในสภาพการณ์ขณะนั้นที่ประเทศเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งและยังไม่ฟื้นตัว ย่อมส่งผลกระทบให้สังคมเกิดความกังวลใจถึงความยั่งยืนทางการคลัง อย่างไรก็ตามทางพรรคไทยรักไทยได้บริหารจัดการงบประมาณใหม่ โดยยุบกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยและกองทุนประกันสุขภาพสมัครใจ 500 บาท ซึ่งมีงบประมาณรวมกันราว 4หมื่นล้านบาท ต่อมาพรรคไทยรักไทยได้ใช้นโยบายกึ่งการคลังหาเงินมาสมทบได้โดยไม่กระทบการคลังรัฐบาลมานัก

ประการสาม นโยบาย 30บาทรักษาทุกโรคไม่คำนึงเพียงแค่จะลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพเท่านั้น แต่มันคือการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดยในระบบเก่างบประมาณส่วนใหญ่จะกระจุกที่โรงพยาบาลระดับจังหวัดซึ่งมีต้นทุนการรักษามากกว่าโรงพยาบาลระดับชุมชน ระบบใหม่จึงเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน ด้วยการกระจายงบไปตามจำนวนประชากรส่งผลให้งบประมาณกระจายไปสู่โรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น เมื่องบประมาณมีมากขึ้นคุณภาพการรักษาและความมั่นใจของประชาชนต่อโรงพยาบาลชุมชนจึงตามมา คนในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมารักษาในตัวเมือง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน นอกจากนี้เป็นการโยกเงินการรักษาที่ฟุ่มเฟือยจากภาคโรงพยาบาลเอกชนไปให้ภาครัฐลงทุนแทน ทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพแห่งชาติยังรักษาอยู่ในช่วงประมาณ 6%GDP เช่นเดิมแต่ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากเดิมที่เอกชนเป็นคนจ่าย 60% มาเป็นราว 40% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพแห่งชาติ

ประการสี่ การลงทุนเพื่อสุขภาพเป็นการลงทุนด้านทุนมนุษย์อย่างหนึ่งซึ่งส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมา เมื่อประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง เวลาการทำงานก็มีมากขึ้นผลผลิตประเทศย่อมเพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนี้การลงทุนโดยภาครัฐยังช่วยส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศซึ่งขณะนั้นกำลังซื้อด้านการบริการการแพทย์ลดลงเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจ อายุขัยเฉลี่ยแรกเกิดคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 68.9ปีในปีพ.ศ.2544 เป็น 75.3ปีในปัจจุบัน

ประการสุดท้าย ฉันทามติสังคม ถึงแม้จะมีผู้ต่อต้านนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยสาเหตุความไม่ยั่งยืนทางการคลัง แต่สังคมโดยรวมไม่ว่า ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง ภาครัฐบาล ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสุขภาพต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทย ทุกคนควรเข้าถึงการรักษาตามความจำเป็น และมีการบัญญัติสิทธิสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

นโยบายสวัสดิการที่ช่วยประชานได้คือนโยบายที่ทำได้จริงและสร้างโอกาสให้ประชาชน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี ประชาชนจะมีสิทธิและอำนาจในการกำหนดอนาคตประเทศอีกครั้ง และต่างตั้งความหวังว่าพรรคต่างๆจะเสนอนโยบายใดออกมาบ้าง ขณะเดียวกันการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการหาคะแนนเสียงเป็นการต่อสู้ทางนโยบายและความน่าเชื่อถือ นโยบายสวัสดิการเป็นอีกเรื่องที่ถูกจดจ้องเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตามการเสนอสวัสดิการที่ดีต่อประชาชนอย่างที่สุดไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสิ้นชีวิต ล้วนต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการคลัง ผลกระทบต่อผู้เสียภาษี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วยเช่นกัน นโยบายสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและยั่งยืนจึงต้องให้ความสำคัญว่า สิ่งที่รัฐบาลให้ไปจะช่วยประชาชนที่ยากลำบากได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ คนยากจนในไทยเป็นคนที่ไม่ใช่ขาดทรัพยากรเท่านั้นแต่ขาดโอกาส ดังนั้นนโยบายสวัสดิการที่ให้ต้องคำนึงถึงว่าจะช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจน กลายเป็นชนชั้นกลางที่สามารถจ่ายภาษีให้เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

ขณะเดียวกันการเก็บภาษีประชาชนจำนวนมากเพื่อไปใช้นโยบายสวัสดิการ รัฐบาลเองต้องสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่า ภาษีที่เก็บไปมีความโปร่งใส นำไปใช้จ่ายเพื่อเพิ่มสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคสังคมเข้าไปตรวจสอบเพื่อลดปัญหาคอรัปชัน นอกจากนี้การเก็บภาษีย่อมส่งผลกระทบต่อกระเป๋าเงินของประชาชนทันทีและสร้างความลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนรายได้น้อยและปานกลาง รัฐบาลเองก็ต้องมีมาตรการสำรองมาบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายของประชาชน การบีบคั้นประชาชนมากเกินไปย่อมสุ่มเสี่ยงต่อเกิดความไม่พอใจและความรุนแรงตามมา เช่น ประเทฝรั่งเศสเกิดจลาจลครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี เพราะรัฐบาลเพียงแค่ขึ้นภาษีน้ำมัน

และจะดีเป็นอย่างยิ่งถ้านโยบายสวัสดิการสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้พร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้เงินช่วยเหลือระยะสั้นแก่ผู้ยากลำบากเป็นสิ่งจำเป็น แต่การให้เงินโดยไม่หาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะพาประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้ แน่นอนว่าคนไทยทุกคนอยากให้เพื่อนร่วมชาติมีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น พรรคการเมืองต่างเสนอนโยบายสร้างอนาคตใหม่ให้ประชาชน แต่ถ้าเสนอนโยบายโดยแทบจะนำมาปฏิบัติไม่ได้เพียงเพื่อหวังคะแนนเสียง เสนอนโยบายที่ใช้เงินอัดฉีดมหาศาลแต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ นโยบายที่ขาดฉันทามติของสังคมและความชอบธรรม สุดท้ายมันก็เป็นแค่การขายฝันให้ประชาชน แต่ประชาชนและผู้เสียภาษีนี่แหละที่จะเป็นผู้รับผลกระทบมากสุดเพียงเพื่อสังเวยให้พวกท่านเดินเข้าสภาอย่างสง่างาม

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog