ไม่พบผลการค้นหา
ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงในกรณีการพักโทษของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นดังกล่าวเมื่อวานนี้-ยันทำตามกฎหมายทุกขั้น หลายหน่วยร่วมเคาะ ‘พักโทษ’ รมต.กำหนดไม่ได้

4 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงในกรณีการพักโทษของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นดังกล่าวเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เขียนคำว่า เรือนจำ หมายความว่า ที่ซึ่งใช้ควบคุม ขัง จำคุก ผู้ต้องขัง และเขียนไว้ในมาตรา 55 วรรค 3 ว่า ในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจําตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องขังไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีจากที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 190 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ถ้าท่านมองว่าสถานที่ที่อดีตนายกทักษิณไปรักษาตัวมันเป็นที่เลวร้าย เลือกปฏิบัติ ตนเองก็ไม่รู้จะใช้คำพูดอะไร เพราะหลังจากกฎหมายดังกล่าวออกมาก็ไปออกกฎกระทรวงเรื่องสถานที่รักษาตัวนอกเรือนจำ ผู้ไปรักษาตัวมีหลายเกณฑ์ หนึ่งในนั้นคือ ถ้าจะไปรักษาตัวก็ขอให้พักทั่วไป เว้นแต่จะมีการจัดสถานที่ควบคุมพิเศษ​ในการรักษา ซึ่งก็ตรงกับนิยาม 

“วันนี้อดีตนายกทักษิณอยู่ในเกณฑ์กฎกระทรวง พ.ศ.2563 ซึ่งผมยืนยันว่ากฎกระทรวงนี้ ผมไม่ได้เป็นคนออก แต่ท่านชวน หลีกภัย ก็บอกแล้วว่าคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกัน คนที่รับผิดชอบกฎกระทรวงนี้ อย่างน้อยที่สุดคือผู้ที่อภิปรายผม คือท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” 

ทวี กล่าวต่อว่า ทักษิณเข้ามาประเทศเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ตนเองเคารพท่าน แต่ในมุมของความเคารพก็ยังวิตกเลยว่าทำไมจึงเข้ามาในรัฐบาลที่ยึดอำนาจจากท่านไป ท่านมีความกล้าหาญมาก ทำไมท่านไม่รอเวลา เพราะตอนนั้นก็รู้แล้วว่า ตอนนั้นพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทำไมท่านไม่เข้ามาตอนที่รัฐบาลใหม่ตั้งแล้ว 

“ผมไม่ได้ถามเหตุผลท่าน แต่ในมุมมองของผม ท่านมีสปิริตสูงมาก ไม่อยากเอามรดกและความรู้สึกที่ต้องให้คนรัฐบาลนี้ต้องถูกโจมตี รัฐบาลปัจจุบันได้แถลงนโยบายวันที่ 11 กันยายน 2566 ห่างมาเกือบเดือน ท่านก็ไปอยู่ที่ รพ. แล้ว”  

ทวี กล่าวว่า การที่ทุกคนอภิปรายเรื่องที่ทักษิณไปอยู่ รพ. เป็นการทำลายล้างความยุติธรรมนั้น มันจะทำลายล้างได้อย่างไร ในเมื่อกฎหมายก็ดี กฎกระทรวงก็ดี เขียนว่านี่คือเรือนจำ ได้เรียนแล้วว่าในกฎหมายราชทัณฑ์ การกำหนดโทษเป็นเรื่องของศาล ทุกคนไม่สามารถลดโทษได้ แต่ต้องลดโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ซึ่งมีทั้งเรื่องการพักโทษและเรื่องที่คุมขังอื่น ดังนั้นจึงอยากกราบเรียนว่า การที่ท่านบอกว่า ‘ที่คุมขังทิพย์’ นั้นถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรม

“ท่านทราบไหมว่า ตามกฎหมาย เมื่อเวลาเจ็บป่วย เขาให้ส่งแพทย์โดยเร็ว ไม่ให้ช้าเลย แล้วในกฎหมายมาตรา 55 ไม่ได้ให้เอากลับมาเรือนจำด้วย การจะเอากลับมาคือเรื่องของแพทย์”

ทวี กล่าวต่อไปว่า ได้ถามราชทัณฑ์ว่า ตั้งแต่รับราชการมา ถ้าแพทย์สั่งให้นำบุคคลใดไป รพ. มีใครขัดแพทย์ไหม ไม่มีใครขัดแพทย์เลย ถ้าแพทย์ไม่ส่งตัวกลับก็ไม่มีใครไปรับกลับมา แต่ที่สำคัญ คือการถูกคุมขัง สูญเสียเสรีภาพ ทุกคนที่ถูกคุมขัง มีผู้คุมและมีตำรวจควบคุม ส่วนการจะจัดที่คุมขังพิเศษก็เป็นเรื่องของ รพ. จะมีเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ เพราะตามกฎหมายราชทัณฑ์มีแค่ 2 เรื่อง คือไม่ให้หนีและไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย 

“การที่ท่านมองเป็นเรื่องเลวร้าย ขัดหลักนิติธรรม …การฉีกรัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจ อันนั้นสิคือการทำลายระบบบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ” ทวีกล่าว

ประเด็นต่อมา ในกฎกระทรวงปี 2563 ก็เป็นอีกฉบับหนึ่งที่เขียนว่า การกำหนดสถานที่คุมขังมี 4 ประการ คือ หนึ่ง-เพื่อปฏิบัติตามระบบจำแนกและแยกผู้คุมขัง สอง-ให้ดำเนินการตามระบบพฤตินิสัย สาม-เรื่องการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง สี่-ให้เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย การออกกฎกระทรวงให้มีที่คุมขังอื่นนั้น เดี๋ยวเขาจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ โดยหลักสำคัญคือ ต้องไม่ให้เขาหนี และไม่ให้เขาไปก่อเหตุร้าย

“วันนี้ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ประมาณ 75% เป็นผู้มีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ มีประมาณ 2 แสนคน ระดับปริญญาตรีประมาณ 6 พันคน และสูงกว่าปริญญาตรีไม่ถึงพันคน นี่คือเรือนจำเป็นสถานที่อยู่ของคนที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ เพราะปี 2545 นั้น เรากำหนดภาคบังคับแค่ มส3 แต่วันนี้ ม.4 คำถามคือเป็นไปได้อย่างไรที่เกือบ 80% ระดับการศึกษาต่ำต้อย ทั้งที่กระทรวงศึกษาทุกยุคสมัย เอาเงินไปต่อหัวต่อคนเกือบ 6 หมื่นต่อคนต่อปี นี่คือปัญหาใหญ่ มนุษย์ทุกคนมีคนคุณค่า มีความสำคัญ มีศักดิ์ศรี วันนี้เขาคือลูกหลาน ผมอยากเปลี่ยนคนหลังกำแพง ให้มีศักยภาพ”

ทวีตอบประเด็นของ นพ.วาโยที่อภิปรายถึงการเลือกปฏิบัติในการรักษานอกเรือนจำ โดยทวีระบุว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ท่านรับใบแพทย์ที่มีความเห็นมาถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์มีความรอบคอบมาก ท่านยังไม่เชื่อ ก็ส่งใบแพทย์ไปให้ รพ. ราชทัณฑ์ดูว่า อาการลักษณะนี้จะเอากลับมา รพ.ราชทัณฑ์ไหม หมอของ รพ.ราชทัณฑ์ก็เขียนตอบกลับมาว่า อยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ไม่ลดละ โทรไปหาแพทย์ที่ปรากฏในรายชื่อ และทำหนังสือย้อนกลับไปหาแพทย์ รพ. ตำรวจ จนกระทั่งได้รับการยืนยันมาอีกครั้ง ท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ส่งเรื่องไปที่คณะแพทย์ รพ. ราชทัณฑ์ หลายคนเพื่อขอความเห็น สุดท้ายก็มีความเห็นอนุมัติเห็นชอบ จึงเสนอเรื่องมาที่รัฐมนตรี 

“ผมคิดว่า ไม่มีใครรู้การเจ็บป่วยเท่ากับหมอ” ทวีกล่าว 

ทวี กล่าวถึงขั้นตอนการพักโทษว่า แม้นพ.วาโยจบแพทย์และเรียนกฎหมาย แต่ท่านพูดไม่ครบ บอกว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ส่งความเห็นมาให้รัฐมนตรียุติธรรมเลย พูดเหมือนตนกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์สมคบคิดกัน ทราบไหมว่า ในกฎหมายราชทัณฑ์มาตรา 52 (7) เรื่องการพักโทษ เขาให้มีอนุกรรมการพิจารณาการพักโทษ ซึ่งมี 15 คนจากหลายหน่วยงาน ซึ่งตนจะไปยังคับเขาได้ไหม? อีกทั้ง รมว.ยุติธรรม ก็ไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพักโทษแต่อย่างใด  

ทวีอ่านตัวอย่างความเห็นของผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ใจความว่า “ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า ท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ เข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และเหลือโทษไม่มากนัก คะแนนการช่วยเหลือตัวเองเข้าเลข 9 เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด ประกอบกับมีโรคหลายโรค และไม่เห็นต่างในกรณีที่จะให้ไปอยู่นอกโรงพยาบาล”

ทวีอ่านตัวอย่างความเห็นของผู้แทนจากอัยการสูงสุด ใจความว่า “ถ้ามีกฎกระทรวงและกฎหมายยืนยันตามที่กล่าว จึงเห็นด้วยและไม่มีข้อขัดข้อง” 

ทวีทิ้งท้ายว่า อดีตนายกทักษิณถูกขังเดี่ยวในเรือนจำ 6 เดือนตามเกณฑ์การพักโทษ และการพิจารณาพักโทษ เมื่อธิบดีเห็นชอบก็ไปเข้าชั้นอนุกรรมการฯ ต่อ แล้วก็เสนอตามลำดับชั้นเข้ามา และตนก็อ่านทุกความเห็น