ไม่พบผลการค้นหา
จะเรียกว่า ‘บังเอิญ’ หรือ ‘จงใจ’ ภายหลังเพจทางการของ ‘กองทัพบก’ เผยแพร่คลิปเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ โดยกรมดุริยางค์ ทบ. เกิดกระแสวิจารณ์อย่างมาก ถึงความเหมาะสมเพราะเป็นช่วง ‘ใกล้เลือกตั้ง’

เพราะเพลงหนักแผ่นดิน ถูกมองเป็นเพลงของ ‘ฝ่ายขวา-ปีกอนุรักษนิยม’ ที่ถูกใช้เป็นเพลงปลุกใจในทางการเมือง ต่อต้าน ‘ฝ่ายซ้าย-หัวก้าวหน้า’ ในยุคเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ผ่านปรากฏการณ์ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ในขณะนั้น

‘เพลงหนักแผ่นดิน’ เคยถูกโหม-ปลุกกระแส เมื่อราว 4 ปีก่อน ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านคำพูดของ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น หลังสื่อถาม พล.อ.อภิรัชต์ ถึงการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหาเสียง (ปี2562) โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้ย้อนถามกลับว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง” 

ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ ได้สั่งการให้กรมกิจการพลเรือน ทบ. นำเพลงแนวปลุกใจทหาร เช่น เพลงมาร์ชกองทัพบก เพลงหนักแผ่นดิน เพลงความฝันอันสูงสุด เป็นต้น ไปเปิดในสถานีวิทยุกองทัพบกที่มีกว่า 126 สถานีทั่วประเทศทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการ ในเวลา 07.00 น. ในรายการ “ทบ. เพื่อประชาชน” และเวลา 12.00 น. ในรายการ “รู้รักสามัคคีทำความดีเพื่อแผ่นดิน” พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับเสียงตามสายภายในกองทัพบกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังพลอยู่ระหว่างพักกลางวัน จุดประสงค์เพื่อให้ทหารทุกคนตระหนักในการทำหน้าที่ของตัวเอง สำนึกต่อความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

อภิรัชต์

ก่อนจะมาจบที่เวที “แผ่นดินของเราในมุมมองความมั่นคง” ช่วง ต.ค.62 ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเวทีทอล์กโชว์ยาว 90 นาที ด้วยตัวเอง ที่ บก.กองทัพบก ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ‘อนาคตใหม่ฟีเวอร์’ ขึ้นมา ที่มีจุดยืนพุ่งเป้าการเมืองเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะแนวคิดการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งในปัจจุบันแนวคิดนี้ก็ยังคงอยู่

“เอาใจน้องๆ วัยรุ่น ไม่ต้องเกณฑ์ทหารบ้างละ ลดงบประมาณกองทัพบก งบประมาณกระทรวงกลาโหม จัดซื้ออาวุธทำไม หนักแผ่นดิน ประเทศไทย เปรียบเหมือนบ้านหลังใหญ่ เหนือหลังคาขึ้นไปคือสถาบันพระมหากษัตริย์” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

อีกทั้งในขณะนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ได้ชี้ถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ด้วย ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ พุ่งเป้าไปที่ ‘มาสเตอร์มายด์’ ที่เป็น ‘ผู้นำทางความคิด’ ต่อขบวนการเคลื่อนไหว

“กระทบกับมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นความชาญฉลาดของพวกนักวิชาการที่ไม่พูดตรงๆ ออกมาว่าอยากทำอะไร อยากแก้อะไร จึงยกประเด็นมาตรา 1 หากประเทศไทยไม่ใช่ราชอาณาจักร ประเทศไทยถูกแบ่งแยก กระทบมาตราอื่นแน่นอน ผมบอกแล้วว่าไม่ได้มาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มายุ่งกับการเมือง แต่นี่คือเรื่องของฝ่ายความมั่นคง” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

นอกจากนี้ในขณะนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ยังสร้างวาทกรรมต่างๆบนเวที เช่น ซ้ายจัดดัดจริต ฮ่องเต้ซินโดรม เป็นต้น

“หรือจะเชื่อกกลุ่มนักการเมืองผึ้งแตกรัง ลูกพี่หนีคดีไปต่างประเทศ หรือจะเชื่อนักธุรกิจที่ชีวิตเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง มีพฤติกรรมร่วมชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง ชักศึกเข้าบ้าน เจาะพฤติกรรมล้างสมองคนรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมล้มล้างชาติ สถาบัน เรียกว่า ฮ่องเต้ซินโดรม” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

ผ่านมา 4 ปี เปลี่ยน ผบ.ทบ. จาก พล.อ.อภิรัชต์ มาเป็น ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แนวทางของ ทบ. ก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการวางตัวของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่แตกต่างจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่ไม่ออกตัวแรงปกป้องรัฐบาล ไม่ค่อยพูดเรื่องการเมือง แต่จะออกตัวแรงและชัดเจน เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานบัน เช่น กรณีการให้ ทบ. บอยคอตลาซาด้า ที่ทำให้เหล่าทัพอื่นๆ ทำตามด้วย

ท่าทีระหว่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกว่ามี ‘ระยะห่าง’ ต่อกัน มาตั้งแต่ต้น เพราะรุ่นเตรียมทหารห่างกัน 10 รุ่น ระหว่าง ตท.12 กับ ตท.22 อีกทั้งเติบโตมาคนละสายกัน โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ เติบโตมาจาก ร.31 รอ. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ โตมาจาก ร.21 รอ. ทหารเสือฯ การขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ขึ้นมาด้วย ‘กำลังตัวเอง’ และมี ‘แบ็คหนุนหลัง’ ของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีเรื่อง ‘เส้นบุญคุณ’ ต่อกัน ทำให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นตัวของตัวเอง จึงไม่ตกเป็นเป้าเท่าใดนัก

ประยุทธ์ ณรงค์พันธ์ สุรยุทธ์ 9EE4-CC1918917F26.jpeg

ทว่าช่วงกลางปี 2565 ก็มีกระแสข่าวใน ทบ. จะมีการปลด ผบ.ทบ. แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น เมื่อย้อนดูสัมพันธ์ พล.อ.ณรงค์พันธ์ - พล.อ.ประยุทธ์ ระยะห่างก็ลดระยะห่างลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 66 ก่อนเข้าสู่โหมดหาเสียง-เลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม พยายามไม่พลาดงานกองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. จึงเกิดภาพ พล.อ.ประยุทธ์ กอดคอ ผบ.ทบ.-ผบ.เหล่าทัพ ถึง 2 ครั้ง

แต่เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ท่าทีก็กลับมามีระยะห่างอีกครั้ง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผบ.เหล่าทัพ เช่นเมื่อครั้งในงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพอากาศ ที่ ผบ.เหล่าทัพ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเวทีร้องเพลงศรัทธา ที่มีท่อนฮุก คือ “ใจสู้รึเปล่า ไหวไหมบอกมา” ไม่มีภาพการกอดคอ แต่มีเพียงการปรบมือให้ นายกฯ ขณะนั่งรถออกจากงานเท่านั้น

ล่าสุดในงานสโมสรสันนิบาต ที่ ทำเนียบฯ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินเข้าพิธีฯ ได้รับไหว้และทักทายผู้ร่วมพิธีฯ ก่อนไปหยุดบริเวณหน้า ผบ.เหล่าทัพ ตรงหน้า พล.อ.ณรงค์พันธ์ พอดี ซึ่งก็มีการพูดคุยกันสั้นๆ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้มือแตะที่ท้อง พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพื่อทักทาย ส่วนท่าทีของ ผบ.ทบ. ก็ยิ้มรับ และก้มทำความเคารพเท่านั้น

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง กระแสของ ‘ขั้วอนาคตใหม่เดิม’ กลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง หนึ่งในปัจจัยคือการ ‘คัมแบ็ค’ ของ ‘คณะก้าวหน้า’ นำโดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ ‘แนวคิดอนาคตใหม่’ ถูกฟื้นขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่อง มาตรา 112 ที่กลายเป็นที่ถกเถียงใน 3 แนวคิด คือ ‘ยกเลิก-แก้ไข-คงไว้’

ซึ่งจุดนี้ก็เป็น ‘เงื่อนไข’ ของหลายพรรคการเมืองที่ใช้ในการ ‘จับมือตั้งรัฐบาล’ ในอนาคต ที่หลายพรรคไม่เอาด้วย โดยเฉพาะพรรคเข้ารัฐบาลเดิม ในฝั่งพรรคเพื่อไทยก็โยนให้เป็นเรื่องของสภาฯ ในการเปิดพื้นที่ในการถกเถียง ไม่ให้ถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือทางการเมือง’

ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ เพจกองทัพบก โพสต์ ‘เพลงหนักแผ่นดิน’ ขึ้นมาพอดี ในฝั่งไอโอที่สนับสนุนกองทัพ-ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็พยายามปลุกเร้าประเด็น ม.112 ขึ้นมาโจมตีฝั่งพรรคก้าวไกล ว่ามีจุดยืนอย่างไร ระหว่าง ‘ยกเลิก-แก้ไข’ จึงต้องจับตาว่าช่วงโค้งสุดท้ายจะมีการปลุกกระแส ม.112 ขึ้นมาในรูปแบบใดหรือไม่

ในฝ่ายความมั่นคงมองว่า การแก้ไข-ยกเลิก ม.112 เป็น ‘ด่านแรก’ ของฝ่ายที่มีแนวคิดปฏิรูปสถาบัน จึงต้อง ‘ปลดล็อค’ เรื่องโทษทางกฎหมาย และมองภาพของพรรคก้าวไกล ที่มีภาพการต่อสู้ผ่าน ‘เงื่อนไขทางระยะเวลา’ เป็นห้วงๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การต่อสู้ผ่านกระบวนการรัฐสภา-เลือกตั้ง กับการเมืองภาคประชาชน ที่ทำคู่ขนานกันไป 

หากเทียบกับที่ ‘ธนาธร’ เคยให้สัมภาษณ์สื่อถึงแนวทางการสร้างพรรค ต้องใช้เวลา 15-20 ปี เป็นการเล่นเกมยาว ซึ่งสอดรับกับที่ฝ่ายความมั่นคงมอง ดังนั้นการเลือกตั้งในครั้งนี้ ยังไม่ใช่ ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ ของขั้วอดีตอนาคตใหม่ แต่จุดพีคจะอยู่ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

ธนาธร

ในฝั่ง ‘ผู้มีอำนาจ’ ก็มีการประเมิน ‘Worst Case’ ขึ้นด้วย ในกรณีที่ฝ่าย ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งการมี ‘ก้าวไกล’ เข้ามา ถือเป็น ‘โจทย์ใหม่’ ที่ฝั่งผู้มีอำนาจต้องเผชิญ เพราะในอดีตฝั่งผู้มีอำนาจก็เคยอยู่กับ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ มาแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า ‘ฝ่ายผู้มีอำนาจ’ รับมือได้

สถานการณ์โค้งสุดท้ายเช่นนี้ หลังแต่ละฝ่ายมีการ ‘ทำโพลรายเขต’ ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ชนะ กับ พรรคช่วงชิง ในช่วงสัปดาห์นี้แต่ละพรรคจะไป ‘ย้ำพื้นที่’ ใน ‘พื้นที่ช่วงชิง’ ที่มีโอกาสพลิกมาชนะมากขึ้น แต่สิ่งที่แต่ละโพลระบุตรงกันคือ ‘เพื่อไทย’ ยังคงมาลำดับ 1

แต่ฝั่ง ‘ผู้มีอำนาจ’ ก็หวังให้ฝั่ง ‘ฝ่ายค้านเดิม’ รวมเสียงแล้วไม่เกิน 250 เสียง เพื่อให้ฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ครั้งนี้เงื่อนไขเปลี่ยนไป หลังขั้ว ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ แบ่งออกเป็น 2 พรรค ระหว่าง ‘ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ จะจัดการอำนาจอย่างไร เพราะแต่ละฝ่ายก็ไม่มีกั๊กให้กัน หรือจะพังด้วยกันไปทั้งคู่

แล้วจะมี ‘อภินิหาร’ อะไรขึ้น อีกไหม ?