ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเกาหลีใต้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในประเทศ ให้จำกัดจำนวนศิลปินที่จะปรากฏตัวทางโทรทัศน์ เนื่องจากเกือบทั้งหมดมีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายคล้ายคลึงกัน เกรงจะส่งเสริมค่านิยมเรื่องภาพลักษณ์ที่สวยหล่อเกินจริง

กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ ออกคู่มือปฏิบัติสำหรับสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ภายในประเทศ เพื่อป้องกันความสับสนด้านบุคลิกภาพในการปรากฎตัวของศิลปินเกาหลีใต้ หลังจากที่ผ่านมา ดารานักร้องเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพ รูปร่างหน้าตา และการแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน

เนื้อหาในคู่มือดังกล่าวระบุให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์ 'จำกัดหรือควบคุม' จำนวนบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ที่จะปรากฎตัวผ่านสื่อที่ตัวเองดูแล เนื่องจากบุคลิกรูปร่างหน้าตาของศิลปินเคป็อปเหล่านี้อาจนำไปสู่การส่งเสริมมาตรฐานความสวยงามทางกายภาพที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในสังคมให้แก่ผู้ชมที่เป็นเยาวชนที่ชื่นชอบกลุ่มศิลปินเคป็อบ


"กลุ่มศิลปินส่วนใหญ่ดูเหมือนกันไปหมด ทั้งทรงผม รูปร่างที่ผอมบาง การแต่งหน้าแต่งตัว และผิวขาวซีด" - คู่มือระบุ


อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้จำนวนมากมองว่ารัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงในเรื่องรสนิยมและความชื่นชอบซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคบ

'ฮาแท-คยอง' สมาชิกพรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้กล่าวว่า 'การที่กระทรวงฯ ระบุว่าศิลปินเหล่านี้ไม่ควรปรากฎตัวพร้อมกัน เพียงเพราะพวกเขาผอมบางและมีผิวพรรณงดงามเหมือนกันนั้น มันจะแตกต่างอะไรกับการออกกฎควบคุมการแต่งกายและความยาวของทรงผมประชาชนในช่วงเผด็จการชุนดูฮวาน?'

นอกจากนี้ฮาแท-คยองยังกล่าวด้วยว่า 'รสนิยมเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่รัฐบาลไม่ควรมายุ่งเกี่ยว'

000_IO4L5.jpg

ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายของเกาหลีใต้เห็นด้วยกับความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ออกคู่มือดังกล่าวออกมา เนื่องจากคนเหล่านี้มองว่า การแต่งกายของศิลปินเกาหลีใต้บางกลุ่ม โดยเฉพาะศิลปินหญิง มีเป้าหมายส่งเสริมเรื่องเพศและทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ

ขณะที่เว็บไซต์เดอะเทเลกราฟ สื่อของอังกฤษ รายงานเพิ่มเติมว่า แวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ขึ้นชื่อในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์และความงามสมบูรณ์แบบจนเกินความเป็นจริง ประกอบกับการส่งเสริมธุรกิจศัลยกรรมพลาสติก ส่งผลให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงบันเทิงรู้สึกกดดัน จนต้องพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นไปตามความนิยมของคนในสังคมซึ่งสะท้อนผ่านสื่อและศิลปินต่างๆ แต่หลายครั้งก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ สภาพเศรษฐกิจ และสุขภาพของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ต้องดิ้นรนให้ตัวเองมีรูปลักษณ์สวยงามตามความคาดหวังของคนรอบข้าง

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวว่า คู่มือที่กระทรวงจัดทำขึ้นนั้นเป็นเพียงข้อแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องบุคลิกภาพเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลบังคับให้รายการทีวีต่างๆ ต้องนำไปปฏิบัติตาม เพราะไม่ได้มีบทลงโทษใดๆ แต่การปฏิบัติขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์

ที่มา Korea Times/ The Telegraph